เคลียร์ทาง ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทย ฟื้น ‘คดีจำนำข้าว’ ทางรอด ?
สัญญาณเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” ในวันที่เพื่อไทยเรืองอำนาจ ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของ “ทักษิณ” ผู้เป็นพี่ชายที่ระบุว่า อดีตนายกฯ ผู้น้อง จะกลับมาเล่นสงกรานต์ที่ประเทศไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน
KEY
POINTS
- สัญญาณเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” ในวันที่เพื่อไทยเรืองอำนาจ ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตอกย้ำจากท่าทีของ “ทักษิณ” ผู้เป็นพี่ชายที่ระบุว่า อดีตนายกฯ ผู้น้อง จะกลับมาเล่นสงกรานต์ที่ประเทศไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน
- กรณีของนายกฯ หญิงผู้น้อง ถูกมองว่าอาจตามรอยพี่ชาย ด้วยการใช้ช่องทางในการ “ขอพระราชทานอภัยโทษ”
- กรณีของนายกฯ หญิงผู้น้อง มี “ความต่าง” กับพี่ชายตรงที่ แม้จะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่ยัง ไม่เข้าเงื่อนไขในการขอ “พักโทษ” ดังเช่นพี่ชาย
-
มีการจับตาไปที่ “ทางลอด(ช่อง)” นั่นคือ “กฎหมายขังนอกคุก ทว่าด้วย “ยี่ห้อชินวัตร” ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิด“เอฟเฟกต์” ลามในประเด็น “อภิสิทธิ์ชน” เวอร์ชั่น 2 อีกครั้ง
-
อีกช่องทางคือ “รื้อฟื้นคดีจำนำข้าว” ด้วยข้อต่อสู้ “เคยสั่ง” ให้มีการตรวจสอบกรณีทุจริต ไม่ได้ละเลยตามที่ถูกกล่าวหา
-
หลากหลายเหตุปัจจัย ที่ต้องนำมาประกอบกัน โดยเฉพาะ “อดีตรัฐมนตรีบุญทรง” ที่ว่ากันว่า ไม่ยอมตายเดี่ยว ถึงขั้นเคยส่งสัญญาณขู่ มีหลักฐานเด็ดมัดไปถึง “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องในมหากาพย์จำนำข้าว เว้นเสียแต่ว่าจะมีการเคลียร์ใจในวันที่นายใหญ่คุมอำนาจด้วยตนเอง
นิตยสาร Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2567 อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อช่วย “ศราวุธ เพชรพนมพร” ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยหาเสียง เมื่อ 14 พ.ย.67 ที่ผ่านมา
เวิร์ดดิ้งสำคัญช่วงหนึ่งระบุถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นน้องสาว ที่ขณะนี้พักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ระบุว่า พยายามทำให้แน่ใจว่า “ยิ่งลักษณ์” จะได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า และไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรที่จะขัดขวางเธอไม่ให้ได้กลับบ้าน
“คิดว่าเธออาจจะได้กลับบ้านก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจังหวะ และโอกาส (ที่เหมาะสม)”
อย่างที่รู้กันว่า สัญญาณเดินทางกลับไทยของ“ยิ่งลักษณ์” ในวันที่เพื่อไทยเรืองอำนาจ ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของ “ทักษิณ” ผู้เป็นพี่ชายที่ระบุว่า อดีตนายกฯผู้น้อง จะกลับมาเล่นสงกรานต์ที่ประเทศไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน
ผูกโยงไปกับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ยิ่งลักษณ์ พร้อมพวก ในข้อกล่าวหาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรมกรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท
พร้อมมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” อีกด้วย
ย้อนไปไกลกว่านั้น ยังมีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องอดีตนายกฯ ปมโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(เลขาฯสมช.)โดยมิชอบ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566
ถึงนาทีนี้ “อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง”ผู้นี้ จึงเหลือเพียงคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี ไปเมื่อ 27 ก.ย.2560
ในส่วนของ “คดีอาญา” นั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะ “ไม่นับอายุความ” กรณีจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ เท่ากับว่า กระบวนการจะเริ่มนับหนึ่งก็ต่อเมื่อเจ้าตัวกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แน่นอนว่า สัญญาณการเดินทางกลับไทยของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผู้น้อง ถูกนำไปเปรียบถึงความเหมือน-ต่าง กับคดี “ทักษิณ” ผู้เป็นพี่ชาย ที่ต้องโทษ 3 คดีจำคุกราว 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 เหลือโทษจำคุก 1 ปีเศษ กระทั่งถูกเสนอพักโทษโดยกรมราชทัณฑ์
ก่อนคืนสู่อิสรภาพไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา และปรากฏตัวทั้งหน้าฉาก และหลังฉากการเมืองในหลายวรรค หลายตอน
จะว่าไปแล้ว กรณีของนายกฯ หญิงผู้น้อง ถูกมองว่าอาจตามรอยพี่ชาย ด้วยการใช้ช่องทางในการ “ขอพระราชทานอภัยโทษ” โดยหยิบยกเหตุผลที่ว่า คดีดังกล่าวเป็นเพียงความผิดฐาน “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ไม่ได้ทุจริต
ในขณะเดียวกันกรณีของนายกฯ หญิงผู้น้อง ก็มี “ความต่าง” กับกรณีของพี่ชายตรงที่ แม้ที่สุด “ยิ่งลักษณ์” จะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่ยังมีคดีความติดตัวในวันที่เดินทางกลับไทย ไม่ว่าจะเป็นกี่ปีหรือกี่เดือน อดีตนายกฯ จะไม่เข้าเงื่อนไขในการขอ “พักโทษ” ดังเช่นพี่ชายที่เข้าเกณฑ์ “อายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ”
เป็นเช่นนี้ จึงมีการจับตาไปที่ช่องทาง ในขยักต่อไป ช่องทางแรก คือ การใช้ “ทางลอด(ช่อง)” ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 กฎกระทรวงยุติธรรม และระเบียบที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค.2566 คือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายขังนอกคุก”
ทว่า ในช่องทางนี้เองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วย “ยี่ห้อชินวัตร” ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิด “เอฟเฟกต์” ลามไปยังพรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาล ที่จะถูกเขย่าในประเด็น “อภิสิทธิ์ชน” เวอร์ชั่น 2 กลับมาอีกครั้ง
ดังนั้น “นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า” รวมถึงพลพรรค อาจต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มได้ - คุ้มเสียถึงผลที่จะตามมา
ว่ากันว่า นอกเหนือจากการใช้ช่องลอดจากกฎหมายราชทัณฑ์แล้ว ยังมี ช่องทางที่สอง นั่นคือการ “รื้อฟื้นคดีจำนำข้าว” โดยใช้ข้อต่อสู้ที่ว่า “ยิ่งลักษณ์” ทราบถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงตั้ง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” รมว.พาณิชย์ ในขณะนั้นไปตรวจสอบ
สิ่งที่ฝั่ง “ยิ่งลักษณ์” พยายามจะหยิบมาเป็นข้อโต้แย้งคือ ในฐานะฝ่ายบริหารไม่ได้ “ละเลย” ตามที่ถูกกล่าวหา ต่างจาก “บุญทรง” ที่ถือว่าปฏิบัติแล้ว และไม่ได้มีการดำเนินการต่อ จนทำให้เกิดการทุจริต
ฉะนั้น สิ่งที่อดีตนายกฯ พยายามพิสูจน์คือ “เคยสั่ง”ให้มีการตรวจสอบกรณีทุจริต โดยเฉพาะ “หนังสือคำสั่ง” แบบเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้นเรื่องอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ และเป็นกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทยเวลานี้
ประเด็นนี้ หากยังจำกันได้ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งปรากฏซีนที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ในเวลานั้น ที่เดินสายโชว์กินข้าว โครงการรับจำนำข้าว 10 ปีเป็นระยะ นัยที่ต้องการสื่อคือ ผลงานกระทรวงพาณิชย์ในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกได้
อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ว่า ความเสียหายไม่ได้เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว แต่เกิดจากการขายข้าว ของรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดราคาข้าวแต่ละประเภท
แถมเวลานั้นว่ากันว่า มีการส่งบทให้ “ภูมิธรรม” ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล และขุนพลคนสำคัญของนายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้าโชว์ซีนพิสูจน์ข้าว 10 ปี สื่อนัยถึงการเคลียร์ทาง “คดีรับจำนำข้าว” เปิดทางสู่การเดินทางกลับไทยของอดีตนายกฯ หญิง ในท้ายที่สุด
แต่กระนั้นการใช้ช่องทางนี้ทั้งหมดทั้งมวล ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลากหลายเหตุปัจจัย ที่ต้องนำมาประกอบกัน
โดยเฉพาะความพยายามในการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งพ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ หรือพ.ร.ป.ป.ป.ช. ซึ่งมีความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองดำเนินการทั้งในทางแจ้งและทางลับ ซึ่งต้องจับตาจะมีดีลระหว่างพรรคการเมืองรอบใหม่หรือไม่!
ไม่ต่างจาก “อดีตรัฐมนตรีบุญทรง” ที่ยังถูกจองจำเวลานี้ ว่ากันว่า ไม่ยอมตายเดี่ยว ถึงขั้นเคยส่งสัญญาณขู่ มีหลักฐานเด็ดมัดไปถึง “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องในมหากาพย์จำนำข้าว เว้นเสียแต่ว่าจะมีการเคลียร์ใจหรือมีข้อแลกเปลี่ยนอันเป็นที่น่าพึงพอใจในวันที่ "นายใหญ่" คุมอำนาจด้วยตนเอง
ถึงนาทีนี้ แม้สัญญาณจากฟากฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แม้ล่าสุดจะยังปฏิเสธว่า ยังไม่ได้รับการประสานกลับไทยจาก “อดีตนายกฯปู” ผู้เป็นอา
แต่การออกมาพูดถึงประเด็นนี้ของ “นายใหญ่บ้านจันทร์ฯ” ผู้เป็นพ่อ ย่อมสื่อนัยสำคัญที่ต้องจับตาหลังจากนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์