'รทสช.' หนุนทางสายกลาง แก้กม.ประชามติ
"วิทยา" หนุน ปรับเกณฑ์ประชามติแก้รธน. ลดเพดาน "สว." ใช้ทางสายกลาง ไม่ห่วงปมขัดแก้ ยืดกรอบแก้รธน. ประเมินนักการเมืองอยากแก้รธน. ให้ยื่นแก้รายมาตรา
ที่รัฐสภา นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ต่อการนัดประชุมกมธ. เพื่อลงมติในความเห็นต่างระหว่าง สส. และสว. ต่อหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ว่า ตนสนับสนุนในแนวทางที่ต้องกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ส่วนเสียงเห็นชอบเรื่องที่ทำประชามตินั้นให้ถือเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นแนวทางที่ลดเพดานหลักเกณฑ์ที่ สว.เสนอ ที่กำหนดให้ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงผ่านประชามติต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ขณะเดียวกันคือ เพิ่มเพดานจากหลักเกณฑ์ที่สส. เสนอที่ระบุให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง
“ผมมองว่าการทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นนต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิระดับพอสมควร โดยตามหลักการสากลคือต้องได้ครึ่งหนึ่ง เช่น มีผู้มีสิทธิ 42 ล้านคน ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 21 ล้านคน ส่วนเสียงที่จะผ่านประชามติ ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ หากเห็นชอบชนะให้แก้ ก็แก้ หากไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องแก้ ดังนั้นหากใช้แบบพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชนที่เสนอบอกว่าจะออกมาใช้สิทธิเท่าไรไม่เกี่ยว ยึดเสียงข้างมากก็เกินไป เช่นมีคนมีสิทธิประชามติ 60 ล้านคน แต่มีคนออกมา 5 ล้านคน แบบนี้ไม่ใช่ประชามติ” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า ในการพิจารณาของกมธ.ร่วมนั้น โดยปกติสามารถแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เขียนไว้ในร่างกฎหมายได้ อย่างไรก็ดีหากยังเห็นไม่ตรงกัน ต้องใช้มติเพื่อตัดสิน เพื่อหาผู้ชนะ ทั้งนี้ตนมองว่าในประเด็นดังกล่าวสามารถขยับ หรือประนีประนอมกันได้
เมื่อถามว่าการแก้ไขกฎหมายประชามติที่เห็นต่างอาจทำให้ยืดกรอบการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิทยา กล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องด่วน ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่มีประชาชนเรียกร้อง มีแต่พรรคการเมืองที่เสนอกันเอง ขณะเดียวกันนักการเมืองไม่เคยบอกว่าจะแก้ไขเรื่องอะไร มีแค่บอกว่าต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ
“กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินไปตามกระบวนการ และทำตามระบบประชามติ ส่วนจะประชามติกี่รอบ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แม้จะได้ สสร. มาแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะแก้ได้บางส่วน อีก 90% อาจเป็นของเดิม ดังนั้นหากเขาอยากแก้ไขจริง ควรเสนอมาทีละเรื่อง ผมเชื่อว่าหากเสนอแก้ทีละเรื่องได้ คงเสร็จไปแล้ว ดังนั้นหากจะเอาทั้งชามทีเดียว ยกซดอาจลวกคอได้ หากจิบทีละคำ ก็สามารถกินได้ ดังนั้นอยู่ที่หลักคิดว่า ต้องการแค่คำว่ารัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับประยุทธ์เท่านั้น” นายวิทยา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ร่วม นัดประชุมวันนี้ (20 พ.ย.) เวลา 13.00 น. โดยกำหนดวาระพิจารณาไว้ในหนังสือนัดประชุม คือ ให้ผู้แทนของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเลขาธิการ กกต.เข้าชี้แจงต่อประเด็นการทำประชามติด้วยระบบไปรษณีย์ นอกจากนั้นยังมีวาระอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนไว้ในหนังสือนัดประชุม แต่คาดว่าจะมีการนัดลงมติตัดสินใจความเห็นต่างระหว่างเกณฑ์ผ่านประชามติ
ซึ่งขณะนี้มี 3 แนวทาง ที่จะพิจารณา คือ
1.แนวทางที่วุฒิสภาแก้ไข ที่ระบุเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ชั้นแรก ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และชั้นสอง คือ เสียงเห็นชอบต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
2.แนวทางของสส. ที่ระบุเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ
และ 3.แนวทางประนีประนอม ที่กำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติ คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบกำหนดให้เป็นเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยเสียงเห็นชอบดังกล่าวต้องสูงกว่าคะแนนโนโหวต.