ผช.รมต.ต่างประเทศ ย้ำเข้าชื่อเลิกเอ็มโอยู44 ไม่ได้ หวั่นส่งผลเสียอธิปไตย

ผช.รมต.ต่างประเทศ ย้ำเข้าชื่อเลิกเอ็มโอยู44 ไม่ได้ หวั่นส่งผลเสียอธิปไตย

"รัศม์ ชาลีจันทร์" ผช.รมต.กต.ชี้ประชาชนเข้าชื่อไม่สามารถยกเลิก MOU44ได้ แนะหากยกเลิกต้องหนุนพรรคการเมืองที่มีแนวคิดยกเลิกเท่านั้น แจงการฉีก MOU44 ยิ่งส่งผลเสียต่อประเทศในเรื่องอธิปไตยบั่นทอนความน่าเชื่อถือประเทศ

วันที่ 20 พ.ย. 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงทำความเข้าใจถึงกรณีที่มีผู้เข้าชื่อกัน เพื่อขอให้ยกเลิก "บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ปี 2544" หรือ MOU 44 ซึ่งเป็นกรอบ และกลไกการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชาว่า MOU44 ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีระเบียบ หรือกฎหมายภายในใด ที่ระบุให้สามารถเข้าชื่อกัน เพื่อขอให้ยกเลิกได้ ดังนั้น หากผู้ใดต้องการให้ยกเลิก MOU44 จะต้องสนับสนุนเลือกพรรคการเมือง ที่มีนโยบายยกเลิก MOU 44 ให้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล ตามผลการเลือกตั้งทั่วไป และตามวิถีทางประชาธิปไตย 

นายรัศม์ ยังอธิบายอีกว่า การยกเลิก MOU44 อาจทำได้ด้วยการบอกเลิกโดยรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากฝ่ายอีกหนึ่งไม่ยอมรับ ก็ยังถือว่ามีผลอยู่ และคู่ภาคียังคงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่เกี่ยวข้อง หากไม่ปฏิบัติตามจะเป็นการละเมิด ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งต่อประชาคมโลกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศที่บอกเลิกตามลำพัง เสื่อมเสียความน่าเชื่อถือไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาใด ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตกับประเทศต่างๆ ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วย

นายรัศม์ ยังย้ำว่า การยกเลิก MOU44 ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่หายไปแต่อย่างใด และเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชาก็ยังคงอยู่ดังเดิม ที่นับวันจะยิ่งสุ่มเสี่ยงสร้างปัญหาในเรื่องอธิปไตยยิ่งขึ้นด้วยหากไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น รวมทั้งไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลใต้ผืนน้ำมาใช้ได้ หากไม่มีการเจรจาตกลงกันก่อน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น การยกเลิก MOU44 จึงย่อมนำซึ่งผลเสียมากกว่า

"รัฐบาลชุดนี้ เห็นพ้องตามหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้ ในการดำเนินการตาม MOU44 ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ทั้งในเรื่องอธิปไตย และการยกระดับสร้างความกินดีอยู่ดีเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง ซึ่งแม้จะมีบางรัฐบาลมีแนวคิดให้ศึกษาการยกเลิก MOU ในหลักการ แต่เมื่อการศึกษาพบว่า MOU44 มีข้อดีมากกว่า ต่อมาในคณะรัฐมนตรีชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมติให้คง MOU44 ไว้"

นายรัศม์ ยังย้ำอีกว่า ท้ายที่สุดผลการเจรจาตาม MOU44 จะต้องได้การยอมรับจากประชาชนผ่านกระบวนการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของใครเพียงบางคน แต่เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ ผ่านทางตัวแทนตามระบอบประชาธิปไตย