‘กมธ.มั่นคง’ เล็งตั้งใช้กลไกสภาตั้งกระทู้ถาม MOU44 ยกเลิกหรือไม่ขอฟังรอบด้าน

‘กมธ.มั่นคง’ เล็งตั้งใช้กลไกสภาตั้งกระทู้ถาม MOU44  ยกเลิกหรือไม่ขอฟังรอบด้าน

‘กมธ.มั่นคงแห่งรัฐฯ’ ขอรอฟังข้อมูลรอบด้าน ปมยกเลิก ‘MOU44’ ยันยึดผลประโยชน์ประเทศ เล็งใช้กลไกสภาฯ ตั้งกระทู้ถาม

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนเข้าประชุม กมธ.ฯ ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ไทย-กัมพูชา และบันทึกความเข้าใจ MOU 44 โดยเน้นการฟังเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนาน อีกทั้งเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีหลายฝ่ายมองเรื่องนี้แตกต่างกันไป แต่การประชุมวันนี้ยังไม่นำไปสู่การตัดสินใจอะไร เน้นไปที่ข้อมูลเป็นหลัก

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่า เรื่องนี้กรรมาธิการฯ ได้ศึกษารายละเอียด ทั้งบันทึกข้อตกลง และรับฟังความเห็นของนักวิชาการ ซึ่งตนเข้าใจในข้อกังวลของฝ่ายต่างๆ ที่มองว่าข้อตกลงนี้อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีข้อโต้แย้งว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้น จึงใช้การประชุมวันนี้รับฟังข้อมูล และเห็นสอดคล้องกับทุกคนว่าถึงอย่างไรเกาะกูดก็เป็นของไทย แต่เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ด้านพลังงานว่าสุดท้ายแล้ว จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อย่างไร

เมื่อถามว่า ประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการยกเลิก MOU 44 นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบแง่บวก แง่ลบ อย่างไร เพราะวันนี้จุดยืนของกรรมาธิการฯ คือ การรับฟังข้อมูล แต่ข้อเสนอถึงขั้นยกเลิก MOU หรือไม่ต้องคุยกันในกรรมาธิการ ซึ่งจะต้องรับฟัง และหาข้อมูลให้มากที่สุด โดยต้องไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก

“ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มองเฉพาะเขตแดน แต่มองไปถึงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวที่จะนำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์ ของฝ่ายต่างๆ ด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อได้ข้อมูลออกมาแล้ว เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป และอยู่ในวิสัยที่เพื่อน สส. สามารถตั้งกระทู้ถามในสภาได้ หรือนำไปหารือกับรัฐบาลได้ รวมถึงการเสนอยุติในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และขอยืนยันว่าส่วนตัวมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ต้องยึดข้อมูลเป็นสำคัญ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานาน โดยที่ฝ่ายต่างๆ มีจุดยืนแตกต่างกัน ซึ่งพวกตนในฐานะ สส. และกรรมาธิการก็มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบ และรับฟัง ขอให้รออีกนิด เพื่อจะใช้กลไกของกรรมาธิการ และสภาในการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริง

 

 

 พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์