จุดไม้ขีด ‘ม็อบพันธมิตร’ อ่อนกำลังล้ม ‘นายกฯอิ๊งค์’ ?
ประเมินกำลังการปลุกม็อบของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" จะสามารถจุดติดเพื่อประท้วง "รัฐบาลแพทองธาร" จากการจุดประเด็น "เอ็มโอยู 44" ปมปัญหาอธิปไตยทางทะเลระหว่าง "ไทย-กัมพูชา" ได้หรือไม่่
KEY
POINTS
- “สนธิ” ดีเดย์ 2 ธ.ค. 2567 เข้าทำเนียบรัฐบาลยื่นหนังสือกดดัน “แพทองธาร ชินวัตร” ชี้แจงปมปัญหา “เอ็มโอยู44”
- พลังของ “ม็อบสนธิ” และ “ม็อบคนคลั่งชาติ” เคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกัน เป็นไปเพื่อรักษากระแสของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย”
- "ม็อบสนธิ” ไร้ปัจจัยทั้ง “ทุน-ทหาร-ม็อบ-พรรคการเมือง-องค์กรอิสระ-ศาล” เข้ามาร่วมผสมโรงด้วย อาจเป็นเงื่อนไขทำให้“ม็อบสนธิ” อ่อนกำลัง จนไม่สามารถเป็นหัวเชื้อปลุกกระแสล้ม "รัฐบาลเพื่อไทย" ได้
ผ่านมา 5 ปี วลี “ไม่ลงถนน” ต้องเก็บเข้าลิ้นชักสำหรับ “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จนมา พ.ศ.นี้ อดีตผู้นำม็อบเสื้อเหลือง เริ่มออกสเต็ปหวังจะปลุกชีพ “ม็อบพันธมิตร” หรือม็อบเสื้อเหลือง ปลุกกระแสนำม็อบลงถนน จากประเด็นร้อน “คลั่งชาติ” ว่าด้วย “เอ็มโอยู 44” เกี่ยวกับพื้นที่ของไทย-กัมพูชา ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล 12 ไมล์ทะเลโดยรอบเกาะกูด จ.ตราด
หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน “สนธิ” เคยประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2562 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำว่า “จะให้ความรู้คนมากกว่า การออกถนนคงไม่ออก คิดว่าหมดยุคของการออกถนนแล้ว”
“สนธิ” เคยต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ 2 ปี 11 เดือน 27 วัน จากกรณีศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุก เมื่อปี 2559 ในข้อหาร่วมกันทำรายงานการประชุมเท็จของบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด เมื่อปี 2540 เพื่อค้ำประกันการกู้เงินธนาคารกรุงไทย จำนวน 1,078 ล้านบาท ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ต่อมาได้รับการปล่อยตัว เพราะเป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมและมีอายุเกินกว่า 70 ปี รวมทั้งมีโรครุมเร้า
ปัจจุบันม็อบพันธมิตรฯ ไม่ได้มีบทบาทขับเคลื่อนทางการเมืองบนท้องถนนอีกต่อไป จะเหลือเพียงม็อบกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรมบางส่วน ที่ยังคงเกาะกระแสประเด็นต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” กรณี ชั้น 14 รพ.ตำรวจ รวมทั้งเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ยกเลิก “เอ็มโอยู44” เท่านั้น
บรรดานักวิเคราะห์ และนักวิชาการออกมาประเมิน “พลังม็อบสนธิ” ในยุค “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” นั้นไม่ได้มีพลังเท่ากับ “ม็อบเสื้อเหลือง” ที่เคยชุมนุมจนจุดติดกระแส เป็นชนวนตั้งแต่รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ที่ถูกปลดออกจาก ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อปี 2548 และปั่นกระแสต่อเนื่อง ผ่านเวทีสัญจรมาสู่สวนลุมพินี ก่อนประกาศชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเวลาต่อมา จนจำนวนมวลชนขยายตัวมากขึ้น ในที่สุดส่งผลให้ “ทหาร” ออกมายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 ก.ย. 2549
และไม่ได้มีพลังเท่ากับ “ม็อบเสื้อเหลือง”ภาค 2 ที่ชุมนุมมาราธอนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี 2551 ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดสอย “2 นายกฯ” พรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่ง
“สนธิ ลิ้มทองกุล” ในวัย 78 ปี ใช้เวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 24 พ.ย. 2567 จุดพลุผ่านเวที “ความจริง มีหนึ่งเดียว เพื่อชาติ ครั้งที่ 4” ถึงการสูญเสียอธิปไตยผ่านเอ็มโอยู 44 ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังไม่จบ และปัญหาที่ดิน “เขากระโดง” ซึ่งเป็นเรื่องพิพาทกันของกระทรวงคมนาคมและกรมที่ดิน
“การเมืองประชาธิปไตยในบ้านเรา สามารถตั้งพรรคการเมืองกันได้ง่าย ไม่พอใจไปตั้งพรรคซึ่งไม่ใช่การเมืองที่สร้างสรรค์และคนที่เข้ามาในการเมืองแต่ละคนไม่เหมือนต่างชาติ ระบอบการเมืองไทยเปิดโอกาสให้โจรคนสีเทา คนมีเงินเข้ามาเล่นการเมือง”
“สนธิ” ดีเดย์ วันที่ 2 ธ.ค. 2567 จะนำคณะเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ให้ชี้แจงปมปัญหา “เอ็มโอยู44”
“ผมไม่อยากลง แต่ถ้าจำเป็น เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตก็จะทำ ซึ่งตอนนี้เริ่มร้อนแรงแล้ว อาจต้องรอให้เดือดกว่านี้อีกนิดหน่อย และคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้สำหรับประชาชนอย่างตนใกล้สุกงอมแล้ว” สนธิ ขู่ถึงการนำม็อบลงถนนครั้งสุดท้ายในชีวิต
หากวิเคราะห์ถึงพลังของ “ม็อบสนธิ” และ “ม็อบคนคลั่งชาติ” ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องเดียวกัน เป็นไปเพื่อรักษากระแสของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นผู้นำจิตวิญญาณสูงสุด
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ผ่านการทำงานมา 1 ปี ผ่านมา 2 นายกฯ ยังไม่มีจุดเปราะบางที่จะเป็นเงื่อนไขให้ “ม็อบการเมืองขั้วตรงข้าม” ต้องปลุกมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลยังคงเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่เพื่อดันจีดีพี ปี 2568 ให้โตขึ้น 3% รวมทั้งเข็น “เงินหมื่น” เฟส 2 ให้ประชาชนในปีหน้า
ประเด็นการล้มรัฐบาลก็มีเพียง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มีมติให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่ง จากกรณีการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ เท่านั้น
สำหรับ “ม็อบสนธิ” นั้น มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้จุด “ไม้ขีดไฟ” ก่อควันไม่สำเร็จ
ปัจจัยแรก การจะนำม็อบได้นั้น ผู้นำม็อบจะต้องเกณฑ์มวลชนมาร่วมปักหลักชุมนุมให้ได้ตลอดรอดฝั่ง เพื่อเป็นพลังในการล้มรัฐบาล และผสมโรงด้วยเงื่อนไขอื่นๆ มาเป็นปัจจัยกัดเซาะเพื่อโค่นรัฐบาล
ปัจจัยสอง ในหมู่นักเลือกตั้งประเมินว่า หาก “ม็อบสนธิ” จะตรึงมวลชนได้จะต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่าหัวละ 500 บาท ทั้งกินอยู่เป็นเสบียงในการหล่อเลี้ยงมวลชน เพื่อรอวันเผด็จศึกรัฐบาล
แน่นอนว่า ช่วงม็อบจุดติด เวลากลางวันต้องมีมวลชนปักหลักยืนพื้น 5,000 คน ส่วนกลางคืนต้องอาศัยมวลชนยืนพื้นไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และอาศัยคนกลางๆ ที่เห็นคล้อยเข้าร่วมสมทบ
เบ็ดเสร็จต้องใช้เงินมหาศาลเป็นหลักล้านหล่อเลี้ยงม็อบ และว่ากันว่า มีการอ่านเกมการเคลื่อนไหวของ “ม็อบสนธิ” เพื่อปั่นราคาให้ตัวเองอีกทางหนึ่ง
ปัจจัยสาม พรรคการเมืองต้องเกื้อหนุน ยิ่ง “ม็อบสนธิ” ไม่มีพรรคการเมืองใดมาช่วยหนุนหลังเหมือนในอดีตอย่างที่ “พรรคประชาธิปัตย์” เคยร่วมผสมโรงอยู่เบื้องหลังด้วย ก็เป็นเรื่องยากที่ “สนธิ”จะสามารถเป่านกหวีดระดมสรรพกำลังมวลชนมาเป็นกองทัพของม็อบได้
“ม็อบพันธมิตรฯ” เคยประสบความสำเร็จในอดีต ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคประชาธิปัตย์” คือกองหนุนที่เติมมวลชนมาร่วมม็อบ
แต่ปัจจุบัน “พรรคประชาธิปัตย์” ศัตรูคู่อาฆาตระบอบทักษิณ มี สส.ในมือเพียง 25 เสียง แปรเปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตรร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีคนประชาธิปัตย์อยู่ร่วมโดยเฉพาะสาย “ลุงกำนัน” นั้นก็กำลังกอบโกยอำนาจที่อยู่ร่วมรัฐบาล ยังไม่พร้อมที่จะแตกหักกับรัฐบาล
ขณะที่ “พรรคประชาชน” แกนนำพรรคฝ่ายค้านก็ประกาศท่าทีชัดเจนว่าไม่มีจุดยืนผสมโรงกับ “ม็อบสนธิ” โดยนำมวลชนลงถนนเพื่อล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
เมื่อเวลานี้ “ม็อบสนธิ” ไร้ปัจจัยทั้ง “ทุน-ทหาร-ม็อบ-พรรคการเมือง-องค์กรอิสระ-ศาล” เข้ามาร่วมผสมโรงด้วย จึงทำให้ “พลัง” ของ “ม็อบสนธิ” อ่อนกำลัง จนมิอาจเป็นหัวเชื้อจุดไม้ขีดไฟให้ลุกลามบานปลายได้ในชั่วโมงนี้
ถ้าจะให้ปลุกม็อบก่อควันไฟขึ้นมาได้ ก็คงเหลือเพียง “มิติทางเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับปากท้องเท่านั้นที่พอจะทำให้ “รัฐบาลแพทองธาร” เสื่อมความนิยมลงได้จนประชาชนลงโทษผ่านการเลือกตั้งในครั้งหน้า