วังวน 'รัฐพันลึก' ศึก 3 ก๊วน จุดเสี่ยง-เกมล้ม 'ทักษิณ-พท.'
รอดพ้นบ่วงกรรมไปอย่างไม่ตื่นเต้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องคดีร้อน ปม "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" กระทำการล้มล้างการปกครอง แต่ใช่ว่ากลเกม "นิติสงคราม" จะยุติลงเพียงเท่านี้ วังวนการเมืองไทย ณ ตอนนี้ยังคงอยู่ใน "รัฐพันลึก" ของศึก 3 ก๊ก
KEY
POINTS
- "สารตั้งต้น" ยังไม่ชัดเจน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องยกคำร้องของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ที่ยื่นขอให้ชี้ "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง
- "ทักษิณ" ยังมีบ่วงคดีอาญา ม.112 ขณะที่ "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคร่วมรัฐบาล" ต้องเผชิญคดียุบพรรคในชั้น กกต.จากกรณีปมปัญหาครอบงำพรรคการเมือง
- อดีตเลขาฯ สมช.วิเคราะห์ทั้งตัว "ทักษิณ" และ "แพทองธาร" ยังไม่พ้นวิบากกรรมในกลเกมนิติสงคราม
- บริบท "รัฐพันลึก" ขณะนี้เป็นศึกการเมือง 3 ก๊ก "รัฐพันลึก" ยังไม่ไว้วางใจค่ายสีแดง ค่ายสีน้ำเงินมากนัก เพราะต่างฝ่ายก็มีเรื่องที่ยังต้องถูกตรวจสอบ ขณะที่ค่ายสีส้มก็ยังถูกมองเป็นศัตรูเบอร์ 1
- "รัฐพันลึก" ประกอบด้วยขั้วอำนาจเก่า จารีตนิยม ยังไม่สามารถกำกับ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ได้ เพราะได้เสียง สส.ไม่ถึงเป้าหมาย
รอดพ้นวิบากกรรมคดีร้อนไปอีก 1 ยก สำหรับ "ทักษิณ ชินวัตร" และ "พรรคเพื่อไทย" ที่กำลังตกอยู่ในกลเกม "นิติสงคราม" ของขั้วอำนาจเก่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องคดีล้มล้างการปกครองในประเด็นที่ 1 และ ประเด็นที่ 3-6
จากกรณี "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" นักกฎหมาย ในฐานะผู้ร้อง ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาว่า "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" กระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลของการไม่รับคำร้องดังกล่าวว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ
ขณะเดียวกันได้มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้องในประเด็นที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีปมปัญหาเอื้อประโยชน์ให้กับ "กัมพูชา" ในอธิปไตยทางทะเล โดยมีตุลาการเพียง 2 เสียงที่สั่งให้รับคำร้อง คือ "จิรนิติ หะวานนท์" และ "นภดล เทพพิทักษ์"
หากจับความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินสายประกาศผ่านสาธารณะ ทั้งเวทีหาเสียง นายก อบจ.อุดรธานี และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ผ่านเวทีกาล่าดินเนอร์ในงานประชุมซีอีโอระดับโลก “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 จะพบว่า ไม่มีความกังวลต่อการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2567
"ผมเห็นทั้งนรกและสวรรค์มาแล้ว ก็ไม่มีอะไรทำให้ตื่นเต้นแล้ว วันที่ 22 พ.ย. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน ผมก็รู้สึกว่าโอเค ไม่เป็นอะไร ก็แค่รอฟังคำตัดสิน ไม่มีอะไรตื่นเต้น" ทักษิณ ระบุผ่าน Forbes
เช่นเดียวกับ "แพทองธาร ชินวัตร" ประกาศผ่านเวทีสัมมนา PRACHACHAT THAILAND 2025 โอกาส,ความหวัง,ความจริง ในหัวข้อ “ประเทศไทย : โอกาส,ความหวัง,ความจริง” เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ว่า "ถ้าการเมืองเรามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นักธุรกิจ ต่างชาติเองจะมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น ตัวดิฉันก็มีหน้าที่ไปบอกทุกคนถึงความเชื่อมั่นตรงนี้ ว่าเชื่อมั่นว่า เราสามารถอยู่จนครบเทอมจนมีการเลือกตั้งได้"
ขณะที่ "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า "อ่านดูแล้วไม่รู้กี่เที่ยว ก็เห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครองอะไรเลย สิ่งที่มีความรู้สึกวันนี้ก็คือได้รับความเป็นธรรม ถ้าไปดูตามลายลักษณ์อักษรทั้งหมด มันก็ไม่เข้าจริงๆ"
สถานการณ์หลังจาก "ทักษิณ" และ"พรรคเพื่อไทย" หลุดพ้นข้อกล่าวหา "คดีล้มล้างการปกครอง" ใน 6 ประเด็นไปแล้ว
ความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลแพทองธาร ใช่ว่าจะราบรื่นอย่างง่ายดาย แม้ "แพทองธาร"จะให้สัมภาษณ์ว่า "ภูมิคุ้มกันทุกคนก็คงมี แต่ในแบบนี้ ก็ต้องใช้พลังใจเยอะหน่อย เราก็พยายามมีสติ ยึดหลักธรรมะ เวลาดีใจก็ให้ดีใจอย่างมีสตินะคะ เสียใจก็เสียใจอย่างมีสติ"
"การเมืองต้องเดินหน้าต่อไป รัฐบาลก็ทำงานต่อไป ตัวพ่อเอง (ทักษิณ) ดีที่ว่า สิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกฟ้องร้อง คิดว่าทุกคนที่ให้กำลังใจท่านอยู่ ก็รู้สึกโอเคขึ้น" แพทองธาร ระบุ
สิ่งที่ "แพทองธาร" ย้ำอยู่ตลอดก็คือ "ความมั่นคง เสถียรภาพของรัฐบาลจำเป็นมาก"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลแพทองธาร ประกอบกำลังจากการรวมพลังของพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก
อาวุธสำคัญของฝั่งตรงข้ามที่เป็นทางลัดล้มตัวนายกฯ และรัฐบาลผสมได้ จึงต้องใช้กลไกของศาลและองค์กรอิสระ เพราะสามารถล้มรัฐบาลได้รวดเร็วที่สุด
"ทักษิณ" ยังติดบ่วง "นิติสงคราม"
แม้จะมีการวิเคราะห์ว่า "ทักษิณ" จะสามารถติดปีกทางการเมือง โลดแล่นในยุทธจักรการเมืองได้เต็มที่ แต่ก็ยังมี "วิบากกรรม" ทางการเมืองที่ยังติดบ่วงอยู่
"ทักษิณ"ยังมีคดีเกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีให้สัมภาษณ์มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558
ขณะที่ "ทักษิณ" และ "แพทองธาร" ยังมีเรื่องที่ถูกร้องไป ยัง กกต. โดยมีบุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ "นพรุจ วรชิตวุฒิกุล" อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของ "ทักษิณ" รวมทั้งแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยผู้ร้องเห็นว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3)ของกฎหมายเดียวกันได้
คำร้องดังกล่าวแม้จะมีการเทียบเคียงกับผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ยกคำร้องไป แต่ข้อกฎหมายที่ถูกยื่นใน กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญ มีฐานข้อกฎหมายและข้อกล่าวหาที่ต่างกัน ไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานเพื่อให้ กกต.ตีตกคำร้องดังกล่าวได้
ศาล รธน.ยกร้อง ไร้สารตั้งต้น
อย่างไรก็ตาม "พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" หรือ เสธ.แมว อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์สถานการณ์หลังจากนี้ว่า ตัวรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะยังไม่พ้นวิบากกรรม การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ "ธีรยุทธ" เพราะยังไม่มีสาระเนื้อหาที่ชัดเจน ยังไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าชัดเจนว่า "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" กระทำการล้มล้างการปกครอง ต่างจากคดียุบพรรคก้าวไกล ที่มี "สารตั้งต้น" มาจากศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยสั่งให้หยุดการดำเนินการนโยบายและแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 จนสุดท้าย กกต.ได้นำมายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคในที่สุด
"สารตั้งต้นแบบพรรคก้าวไกล ยังมีไม่พอ พยานหลักฐานไม่พอ ไม่มีสารตั้งต้น ถ้าสารตั้งต้น เกิดจากกกต.แล้วมีมูลก็ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ข้อกล่าวหาที่ร้องมาก็ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง"
สำหรับวิบากกรรมขวากหนามที่จะเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลแพทองธาร และ "ทักษิณ" อยู่ที่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในกรณีพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจช่วงต้องโทษจำคุก
เรื่องนี้ พล.ท.ภราดร มองว่า เป็นเรื่องที่สามารถเอาผิดกับข้าราชการฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้ บันไดต่อไปจะนำไปสู่การร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลทำให้ต้องนำตัว "ทักษิณ" เข้าสู่รับการโทษได้
"วิบากกรรมนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพใหญ่ของรัฐบาล เพราะอดีตนายกฯ ทักษิณ ยังเป็นซูเปอร์แมนของรัฐบาล คดีทั้งหมดคล้ายๆ สมัยตอนพรรคไทยรักไทย ที่คุณทักษิณบอกว่าบกพร่องโดยสุจริต เมื่อคุณทักษิณรอดไป แต่ก็เจอวิบากกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่คดีล้มล้างการปกครอง" พล.ท.ภราดร กล่าว
เกมล้ม รบ.เพื่อไทย - "รัฐพันลึก" ศึก 3 ก๊ก
พล.ท.ภราดร ยังชี้ไปที่ประเด็นคดีจริยธรรมเกี่ยวกับที่ดินธรณีสงฆ์สนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเกี่ยวพันกับ "แพทองธาร" หากเรื่องเข้าขั้นมีความผิดก็อาจเข้าสูตรร้องต่อในเรื่องจริยธรรมร้ายแรง ไม่ต่างจากที่ "เศรษฐา ทวีสิน" อดีตนายกฯ เคยโดนสูตรนี้ให้ร่วงพ้นตำแหน่งนายกฯได้
สถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ "พล.ท.ภราดร" ยังฟันธงอยู่ว่า เป็นการเมืองของ 3 กลุ่ม คือ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาชน เป็นการเมืองที่ยังอยู่ในวังวน "รัฐพันลึก" ในฐานะผู้กำกับตัวจริง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอำนาจเก่า ขั้วจารีตนิยม ผู้กำกับทิศทางให้กับรัฐบาล
เพียงแต่ตอนนี้ "รัฐพันลึก" ไม่สามารถกำกับให้นักแสดงตัวจริงคือ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" เดิมตามบทของ "รัฐพันลึก" ได้ เพราะได้เสียง สส.ไม่ถึงเป้าหมาย
"รัฐพันลึกก็ไม่ได้ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย ค่ายสีแดง ไม่ได้วางใจพรรคภูมิใจไทยค่ายสีน้ำเงิน และยังมองพรรคประชาชน ค่ายสีส้มเป็นศัตรูอันดับหนึ่งอีก ยิ่งพรรคภูมิใจไทยมีปัญหาที่ดินเขากระโดงเป็นวิบากกรรมด้วย ดังนั้น ถ้ามีเลือกตั้งเกิดขึ้นในบรรดาตัวเลือก พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย สองพรรคนี้ใช่ว่าจะปลอดภัย เป็นบรรยากาศการของรัฐพันลึกที่ไม่ไว้วางใจกลุ่มการเมือง 3 ก๊วน"
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย จะใช้เกมต่อรองเรื่องที่ดินเขากระโดงกับพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคภูมิใจไทย ก็อาจใช้ปมปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ต่อรองพรรคเพื่อไทย อีกทั้งค่ายสีน้ำเงิน จำเป็นต้องใช้ สว.เป็นกลไกในการแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุมเกมการตรวจสอบของตัวเองด้วย เป็นสถานการณ์ที่ "รัฐพันลึก" เองก็ไม่ได้วางใจ 2 ก๊กนี้
"พล.ท.ภราดร" ชี้ว่า "รัฐพันลึก" นี้ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนเช่นอดีต ที่มักใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือ โดยไม่เอา "ประชาชน" อยู่ในสมการ
หากให้ประเมินถึงอายุของรัฐบาลแพทองธารที่ประกอบกำลังด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่มี "พรรคเพื่อไทย" 142 เสียง และพรรคภูมิใจไทย เบอร์ 2 มี สส. 71 เสียง นั้น พล.ท.ภราดร บอกทันทีว่า "ยากที่จะอยู่ครบเทอม"
"มันเป็นวิบากกรรม เพราะรัฐพันลึก สลับซับซ้อน มันเป็นการผสมผสานการใช้ประโยชน์ของแต่ละพวก" พล.ท.ภราดร อ่านเกมล้มและจุดเสี่ยงที่ "รัฐบาลแพทองธาร" รวมถึง “ทักษิณ” ซูเปอร์แมนของรัฐบาล ยังไม่พ้นวิบากกรรมไปตลอดวาระได้