'ปิยบุตร' เปิดเกมรุกใหม่ ปลุก2 ขั้วสู้เพื่อไทย
น่าสังเกตอย่างยิ่ง ไม่บ่อยครั้งที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและอุดมการณ์ต่ออดีตพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชน(ปชน.)ปัจจุบัน จะออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องทำนองเดียวกันซ้ำๆ เหมือน “จงใจ” มากกว่าโดยบังเอิญ
โดยเฉพาะ การพุ่งเป้าโจมตี “พรรคเพื่อไทย” ที่เคยอยู่ขั้ว “ประชาธิปไตย” ด้วยกันมา อย่างชนิดจัดหนักจัดเต็ม
เริ่มด้วย สาระสำคัญที่ระบุว่า “แทนที่พรรคการเมืองจะรวมพลัง “ยึด” อำนาจการออกใบอนุญาตที่ 2 ของชนชั้นนำ เพื่อให้การเมืองไทยกลับสู่ระบบปกติ ที่มีใบอนุญาตใบเดียวจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ และทุกพรรคก็กลับมาแข่งขันกันในกติกายุติธรรม
แต่พรรคการเมืองกลับเลือกใช้วิธี “หมอบ สยบยอม เอาใจ” ผู้ออกใบอนุญาตที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว เพื่อให้ตนเองและพรรคพวกได้เป็นพะนะทั่น รัฐมนตรี มีตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจวาสนา เงินทอง และเพื่อให้พวกตนเองได้เปรียบในทางการเมือง
เมื่อเผชิญปัญหา แทนที่จะรวมพลังกันแก้ปัญหา กลับเลือกสังฆกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใหญ่ของปัญหา
จนทำให้โอกาสการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ถูกทอดเวลาล่าช้าออกไปอีก 10-20 ปี” (เฟซบุ๊กPiyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล/ 28 พ.ย.67)
วันต่อมา โพสต์หัวเรื่อง [จาก 3 ก๊ก เคลื่อนสู่ 2 ขั้ว] โดยระบุว่า
“ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” ก็มีคำอธิบายกันว่า การเมืองไทยในระยะต่อไป แบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่
1. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล/ประชาชน
2. พรรคเพื่อไทย
3. กลุ่มอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม ซึ่งประกอบไปด้วย กลไกรัฐ และมวลชนที่ไม่ชอบทั้ง 1 และ 2 โดยมีหลายพรรคพยายามแย่งชิงการเป็นตัวแทนของกลุ่มนี้
ฐานคิดของการวิเคราะห์แบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ข้อ
1. พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันรักษา “ยี่ห้อ” หรือ “แบรนด์” เรื่องการต่อสู้ ที่ได้รับมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และยังมีความพยายามที่จะหาหนทางใช้อำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอยู่บ้าง แม้ในเรื่องเล็กน้อย หรือทำทีละเล็กละน้อย ก็ตาม
2. กลุ่มอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม “ขาประจำ” ที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ก็ยังคงยืนยันไม่ชอบ และพยายามหาหนทางกำจัดคุณทักษิณต่อไป
3. พรรคเพื่อไทย บางส่วนยังคิดเชื่อมกับพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน อยู่บ้าง ในฐานะที่เคยอยู่ขั้วเดียวกันและต่อสู้ด้วยกันมากว่า 10 ปี และบางส่วนอาจคอยหยิบฉวยเอาพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน ไปใช้เป็น “ไพ่โจ๊กเกอร์” ต่อรองกับชนชั้นนำและพรรคร่วมรัฐบาลได้
ภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์เช่นนี้ และยังเคยนำไปพูดในหลายรายการว่า การเมืองแบบ 3 ก๊ก จะไม่มีก๊กใดก๊กหนึ่งยึดเบ็ดเสร็จ แต่ละก๊กไม่ต้องการให้มีก๊กใดก๊กหนึ่งขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ละก๊กจะพยายามแสวงหาพันธมิตรชั่วคราว เพื่อสู้กับอีกก๊ก
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลทำงานมาสักระยะ จนคุณเศรษฐา รับภัยจาก “นิติสงคราม” เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นคุณแพทองธาร เราได้เห็นการแสดงออกหลายต่อหลายครั้ง ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะแกนนำ (ทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแบบทางการและทั้งที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแบบไม่เป็นทางการ) และ บรรดา ส.ส. หลายคน ที่ต้องการเอาใจผู้ออกใบอนุญาตใบที่สอง
แม้เรื่องที่ง่ายที่สุด เบาที่สุด ไม่ได้ชัดเจนฟันธง คลุมๆเครือๆ อย่าง รายงานการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง ก็ยัง “กระโดดหนี” กันเกือบยกพรรค
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ผมคิดว่า การแบ่ง 3 ก๊ก แบบที่ว่ากัน หรือที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วิเคราะห์ไว้ในรายการต่างๆนั้น อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจเป็นการวิเคราะห์จาก กระดานการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. มากกว่าปัจจัยชี้ขาดเรื่องความคิดและการต่อสู้
ผมจึงขอทดลองเสนอให้พิจารณาการแบ่งขั้วการเมืองโดยใช้ “ชุดความคิดและแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง” เป็นเส้นแบ่ง แทน
ดังที่ผมเคยนำเสนอในหลายโอกาสว่า ทุกวันนี้ การเมืองไทยอยู่ใน “ระบอบประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต”...
“ปิยับตร” ชี้ว่า หากนำความคิด “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งขั้วการเมือง ผมเห็นว่า การเมืองไทยกำลังเคลื่อนที่จาก “3 ก๊ก” ไปสู่ “2 ขั้ว” คือ พลังใหม่ และพลังเก่า
พลังใหม่ คือ พลังทางการเมืองที่ให้น้ำหนักกับใบอนุญาตใบแรกของประชาชนเป็นสำคัญ และพยายามปรับโครงสร้างอำนาจการเมือง ยึดใบอนุญาตใบที่สอง เพื่อให้เหลือใบอนุญาตของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดเพียงใบเดียว ตามระบบปกติ
พลังเก่า คือ พลังทางการเมืองที่หมอบ สยบยอม เอาใจ สวามิภักดิ์ กับผู้ทรงอำนาจในการออกใบอนุญาตที่สอง ส่วนใบอนุญาตใบแรกนั้น ก็หามาพอสังเขป
ณ วันนี้ การเมืองไทย มิใช่ 3 ก๊ก แต่เป็น 2 ขั้ว
ขั้วหนึ่ง พลังใหม่ ที่ต้องการยึดใบอนุญาตที่สอง ปรับให้การเมืองมาสู่ระบบปกติ
อีกขั้วหนึ่ง พลังเก่า ที่มีหลายพรรคการเมืองกำลังแย่งกันเอาอกเอาใจผู้ทรงอำนาจในการออกใบอนุญาตใบที่สอง เพื่อขอให้พวกตนเองได้ตำแหน่ง อำนาจวาสนา เพื่อนำอำนาจมาแก้ปัญหาส่วนตนของพรรคพวกตนเอง เพื่อเอาใบอนุญาตที่ 2 มาชิงความได้เปรียบทางการเมือง และเพื่อให้ระบอบ 2 ใบอนุญาตนี้ดำรงอยู่ต่อไป เพราะ พวกตนได้ประโยชน์
พรรคการเมืองใด เป็นพลังใหม่ หรือพลังเก่า ประชาชนย่อมพิจารณาได้เองจากการกระทำ การแสดงออก และจุดยืนของพรรคการเมือง
วันเดียวกัน “ปิยบุตร” ยังโพสต์เฟซบุ๊ก ด้วยว่า
“คณะปัญญาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย มักหยิบยกเหตุผลความจำเป็นว่า เราต้องยอม เพื่อเข้าไปมีอำนาจ และทำแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป มิใช่ขายฝัน จนสุดท้าย ไม่ได้ทำอะไรเลย
ชุดคำอธิบายนี้ จะฟังขึ้น ก็ต่อเมื่อ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ “ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป” อยู่บ้าง
แต่จนถึงวันนี้...
เรื่องที่ง่ายที่สุด เบาที่สุด และเป็นเรื่องที่พวกตนเองเสนอด้วย อย่าง “รายงานการศึกษาการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง” ส.ส.พรรคเพื่อไทยยัง “กระโดดหนี” เกือบยกพรรค
เรื่องที่คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เสนอให้แก้ พ.ร.ป. ปปช. และ พ.ร.ป.คดีอาญาของนักการเมือง ให้ประชาชนฟ้องตรง พรรคเพื่อไทยเสนอแล้ว แต่ก็ไปถอนออกมาเอง
เรื่องการแก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม เพื่อให้รัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพ และบริหารราชการกระทรวงกลาโหมได้เต็มที่โดยไม่ต้องผ่านเซนเซอร์จากสภากลาโหมก่อน การแก้ไขเรื่องนี้ คือ เริ่มต้นปฏิรูปกองทัพ ไม่ให้กองทัพขี่คอรัฐบาลพลเรือนได้ แต่จนวันนี้ ก็ไม่ทำ ในขณะที่พรรคก้าวไกล/ประชาชน เสนอร่าง กม นี้เข้าไปแล้ว
เรื่องที่ใช้อำนาจบริหารทำได้เลย ไม่ต้องตรากฎหมาย ไม่ต้องนิรโทษ อย่างการใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ นำนักโทษคดีการแสดงออกทางการเมือง มาคุมขังในสถานที่อื่นนอกเรือนจำ ก็ยังไม่กล้าทำ
ส่วนเรื่องทำรัฐธรรมนูญใหม่ ก็คงไม่ทัน 2570 แน่
เราได้ยินชุดเหตุผลความจำเป็นในการ “ยอมไปก่อน” นี้ มาตั้งแต่ รัฐบาลพลังประชาชน 2550 รัฐบาลเพื่อไทย 2554 จนรัฐบาลเพื่อไทย 2566/2567
สุดท้าย...
นี่คือ
ยอม เพื่อมีอำนาจ และนำอำนาจไปแก้ไขปรับโครงสร้างอำนาจ
หรือ ยอม เพื่อให้พวกพ้องได้แบ่งปันอำนาจ ได้มีตำแหน่งทางการเมือง ได้แก้ไขปัญหาส่วนตนของพรรคพวกตนเองกันแน่?
หมดวาระรัฐบาลนี้เมื่อไร คงได้พิสูจน์คำตอบกัน”
แน่นอน, “ปิยบุตร” ไม่ใช่คนที่คิดจะเขียนอะไรก็เขียน เรื่องนี้ ย่อมมี “ยุทธศาสตร์” ต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะท่ามกลางกระแส “ทักษิณ-เพื่อไทย” กำลังมาแรง ใน กลุ่ม “คนรากหญ้า” คนยากคนจน กลุ่มคนเปราะบาง ที่นโยบาย “ประชานิยม” หลายอย่าง “เข้าเป้า” โดนใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายช่วยเหลือชาวนา เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา เพิ่มเงินสวัสดิการผู้พิการ รวมถึงแก้หนี้สินครัวเรือน ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คือความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ชนชั้นกลางและคนรวย มองข้าม ไม่เข้าใจหัวอกของคนถูกเศรษฐกิจและหนี้สินบีบคั้นแทบโงหัวไม่ขึ้น ดังนั้นเงิน 1 หมื่นบาทคุณค่าจึงมหาศาล ที่ไม่มีวันลืมเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น การมี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวช่วยอย่างถูกที่ถูกเวลา ในฐานะคนที่อ่านเกมการเมืองได้ทะลุปรุโปร่ง อ่านใจคนจน “คนรากหญ้า” ได้ดีที่สุด ก็ยิ่งทำให้รัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มี “หลังพิง” แข็งแกร่งดุจภูเขา แม้ว่า โจทก์เก่าจะจองกฐินเอาไว้มากมายก็ตาม แต่การ “หลุดพ้น” เรื่องใหญ่ทั้งหลายมาได้ เรื่องที่เหลือจึงแค่ธรรมดา?
ประเด็นของ “ปิยบุตร” จึงน่าวิเคราะห์ว่า สิ่งที่จะต่อกรกับกระแสนิยม “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทยได้ ก็คือ การปลุกกระแสทางเลือกให้กับประชาชนตั้งแต่วันนี้ และหล่อเลี้ยงกระแสไปจนถึงวันเลือกตั้ง
โดยเฉพาะข้อเสนอการเมือง 2 ขั้ว “พลังใหม่-พลังเก่า” ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และคนที่สิ้นหวังพรรคเพื่อไทย
อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล เคยประสบความสำเร็จจากการปลุกกระแสเลือกแบบยุทธศาสตร์ “ไม่เอา 2 ลุง” หรือ “มีเรา ไม่มีลุง” มาแล้ว
เหนืออื่นใด ยังเป็นการแก้ปัญหาให้กับพรรคประชาชน ที่ หัวหน้าพรรคยังไม่เป็นที่รู้จัก และไม่มีกระแสส่วนตัวหนุนช่วยพรรค อย่าง กรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ซึ่งถ้ายุทธศาสตร์ “2 ขั้ว” กลายเป็นกระแสติดลมบนขึ้นมา หัวหน้าพรรค ปชน.เป็นใครก็แทบไม่มีความหมาย ผลงานฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญไปกว่าเลือกขั้วใดขั้วหนึ่ง หรือไม่จริง?