ฉากชีวิต ‘บุญทรง’ จากนักเรียนนอก สู่ ‘รัฐมนตรี’ ผู้กุมความลับ ‘จำนำข้าว’

ฉากชีวิต ‘บุญทรง’ จากนักเรียนนอก สู่ ‘รัฐมนตรี’ ผู้กุมความลับ ‘จำนำข้าว’

"...กล่าวกันว่า “บุญทรง” เจ็บแค้นเสียใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ด้วยดีกรี “นักเรียนนอก” จึงรับไม่ค่อยได้ที่ต้องติดคุก ที่สำคัญเขาคือผู้กุมความลับสำคัญในโครงการจำนำข้าวเอาไว้..."

KEY

POINTS

  • ฉากชีวิต “บุญทรง เตริยาภิรมย์” จากอดีตนักเรียนนอก ดีกรีประธานสภาอุตฯเชียงใหม่
  • เลือกเส้นทางการเมืองในร่มเงา “วังบัวบาน-ไทยรักไทย” นั่ง สส.เชียงใหม่ 4 สมัย
  • ขึ้น “รัฐมนตรี” ครั้งแรกปี 54 ก่อนผงาดนั่ง รมว.พาณิชย์ ปี 55 
  • ผู้กุมความลับสำคัญโครงการ “ระบายข้าวจีทูจี” ก่อนถูกตรวจสอบว่ามีทุจริต
  • ศาลฎีกาฯสั่งคุก 42 ปี ผ่านมากว่า 7 ปี ได้รับการ “พักโทษ” กลับไปคุมประพฤติที่เชียงใหม่
  • จับตาเปิดทาง “นายหญิง” บินกลับไทย สู้คดี “จำนำข้าว” ต่อหรือไม่

เป็นเวลานานกว่า 7 ปี ในที่สุด “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตนักการเมืองชื่อดัง ตำนาน “นักโทษคดีจำนำข้าว” ได้ก้าวเท้าออกจากเรือนจำเป็นครั้งแรก หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 42 ปี คดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สำนวนแรก เมื่อปี 2560

โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เข้าเข้าเงื่อนไขเป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2564 เหลือโทษ 16 ปี อีกครั้งเมื่อวันพ่อแห่งชาติปี 2564 เหลือโทษ 10 ปี และกำหนดวันพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571

ล่าสุด สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าเมื่อ 2 ธ.ค.นี้ “บุญทรง” ได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกครั้ง และเข้าเงื่อนไขการ “พักโทษ” โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุมประพฤติ  7 กทม. เดินทางไปที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อติดกำไล EM ให้กับ “บุญทรง” ซึ่งเขาแจ้งกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติว่า จะขอโอนย้ายไปคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเดินทางไปในวันพรุ่งนี้ 3 ธ.ค. 2567 และเข้ารายงานตัวกับทางคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 4 ธ.ค. 2567

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นเมื่อครั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง ส.ค. 2554-พ.ค. 2557 โดย “บุญทรง” เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่เข้าไปดำเนินโครงการ “ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “กิ่งก้านสาขา” ของ “จำนำข้าว” มาตั้งแต่ปี 2555 เมื่อครั้งถูกแต่งตั้งเป็น รมว.พาณิชย์ ในเดือน ม.ค. 2555 และอยู่ดำรงตำแหน่งมาราว 1 ปีเศษ ก่อนถูกปรับออกจาก ครม.เมื่อ “เรื่องแดง” ขึ้นมาและกลายเป็นคดีความฉาวโฉ่ หลังจากนั้นในเดือน มิ.ย. 2556 “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” ได้ไปนั่งเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง และสางสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น

“บุญทรง” ถือเป็นหนึ่งในนักการเมือง “กลุ่มวังบัวบาน” ของ “เจ๊ ด.” ผู้มากบารมีใน จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ยุค “ไทยรักไทย” ครองอำนาจลากยาวมาถึงยุค “เพื่อไทย” โดยชีวิตส่วนตัวเขาเกิดเมื่อ 8 ก.ค. 2503 มีชื่อเล่นว่า “เป็กซ์” เกิดที่ กทม. แต่ไปเติบโตที่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่  “บุญทรง” เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียน “มงฟอร์ตวิทยาลัย” โรงเรียนเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ก่อนจะบินไปเรียนปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจที่ ม.เคนทักกีสเตต เมื่อปี 2525 

หลังเรียนจบเขาเข้าทำงานในธุรกิจด้านอุตสาหกรรม และเคยถูกเลือกเป็นประธานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี 2540-2543 หลังจากนั้นเขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองสังกัด “ไทยรักไทย” ถูกส่งลงสมัคร สส.ครั้งแรกใน จ.เชียงใหม่ และชนะการเลือกตั้ง ต่อมาเส้นทางการเมืองของเขาก็รุ่งโรจน์ขึ้นเรื่อย ๆ ในสังกัด “ค่ายชินวัตร” จนเป็น สส.เชียงใหม่ถึง 4 สมัย กระทั่งในปี 2554 ยุครัฐบาลเพื่อไทย เขาถูกแต่งตั้งเป็น รมช.คลัง ต่อมาถูกปรับเป็น รมว.พาณิชย์ เมื่อปี 2555 เพื่อดำเนินโครงการ “ระบายข้าวจีทูจี”

มุมทรัพย์สิน “บุญทรง” แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ล่าสุดกรณีพ้นตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ครบ 1 ปีเมื่อ 29 มิ.ย. 2557 แจ้งว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น (รวมคู่สมรส) 16,818,981 บาท เป็นของนายบุญทรง 3,128,479 บาท ได้แก่ เงินสด 4 แสนบาท เงินฝาก 138,479 บาท ยานพาหนะ 1,840,000 บาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 7.5 แสนบาท

ของนางสุมาลี คู่สมรส 13,690,501 บาท ได้แก่ เงินสด 3 แสนบาท เงินฝาก 628,651 บาท ที่ดิน 12,214,150 บาท ยานพาหนะ 47,700 บาท ทรัพย์สินอื่น 5 แสนบาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 192,623 บาท

กลับมาที่โครงการระบายข้าวจีทูจี คือกิ่งก้านสาขาของโครงการจำนำข้าว ที่เป็น “นโยบายเรือธง” ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ณ เวลานั้น ท่ามกลาง “คำเตือน” จากองค์กรอิสระ เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงภาคประชาชน และนักวิชาการ เช่น TDRI เป็นต้น

กระทั่งต่อมาสื่อมวลชน และฝ่ายค้านดำเนินการขุดคุ้ยพฤติการณ์จนพบว่า การนำข้าวในโครงการจำนำข้าวออกมาระบายแบบจีทูจี (ขายแบบรัฐต่อรัฐให้กับตัวแทนต่างประเทศ) ไม่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการนำข้าวมาเวียนขายให้กับโรงสีภายในประเทศ ขณะที่ตัวแทนนิติบุคคลจากจีนก็มิได้เป็นผู้ถูกรับมอบอำนาจจากจีนเพื่อมาซื้อขายข้าวจริง รวมเบื้องต้นในสำนวนแรก 8 สัญญา เสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท

สุดท้าย ป.ป.ช.รับเรื่องไปดำเนินการไต่สวน และมีมติชี้มูลความผิด “บุญทรง” กับพวก ทั้ง “ภูมิ สาระผล” รมช.พาณิชย์ (ขณะนั้น) “หมอโด่ง” พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (คีย์แมนสำคัญในคดี ปัจจุบันยังหลบหนีคดี) รวมถึงบิ๊กข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนนำโดยกลุ่มบริษัท “สยามอินดิก้า” ใน 8 สัญญาแรก โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก “บุญทรง” 42 ปี 

ในวันนัดฟังคำพิพากษาของ “บุญทรง” นั้น เป็นวันเดียวกับวันนัดฟังคำพิพากษา “คดีจำนำข้าว” ที่มี “ยิ่งลักษณ์” เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยคนการเมืองเมาท์กันว่า วันดังกล่าว “บุญทรง” โทรศัพท์หา “ยิ่งลักษณ์” เป็นการส่วนตัว โดย “ยิ่งลักษณ์” ตอบกลับมาว่า “ใกล้จะถึงแล้ว” ทว่าเมื่อถึงเวลาจริง “ยิ่งลักษณ์” หลบหนีออกนอกประเทศ ไม่มาฟังคำพิพากษา ปล่อยให้ “บุญทรง” ติดคุกเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง

กล่าวกันว่า “บุญทรง” เจ็บแค้นเสียใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ด้วยดีกรี “นักเรียนนอก” จึงรับไม่ค่อยได้ที่ต้องติดคุก ที่สำคัญเขาคือผู้กุมความลับสำคัญในโครงการจำนำข้าวเอาไว้ นั่นจึงทำให้ผ่านไปไม่นานนัก ป.ป.ช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำ “บุญทรง” ด้วยตัวเอง ก่อนจะกันเขาไว้เป็น “พยาน” หลังจากนั้น ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน “ระบายข้าวจีทูจี” ภาค 2 ขึ้นมา โดยมีชื่อ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา วงษ์สวัสดิ์” (น้องสาวทักษิณ) เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย

โดยว่ากันว่า “บุญทรง” มี “หลักฐาน” บางอย่างที่อาจบ่งชี้ว่า เขามิได้ดำเนินการระบายข้าวจีทูจีด้วยตัวเอง แต่อาจมี “ใครบางคน” เป็นผู้สั่งการ ตั้งแต่ให้ริเริ่มทำโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวจีทูจี เรียกได้ว่าเป็น “ทุจริตเชิงนโยบาย” ตามที่ ป.ป.ช.ระบุไว้ในสำนวน แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป ต่อมา ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากยกคำร้องกล่าวหา “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา” เนื่องจาก พยานหลักฐานไม่เพียงพอเอาผิดได้ โดยชี้มูลผิดแค่ “หมอโด่ง” กับพวกที่เป็นอดีตบิ๊กข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น

การตัดสินใจของ “บุญทรง” อาจสะท้อนผ่านการเลือกตั้งปี 2562 เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชาย “บุญทรง” หันหลังให้เพื่อไทย ไปสังกัด “ค่ายสีส้ม” ชิงเก้าอี้ สส.เชียงใหม่ แต่มิได้รับเลือกตั้ง ต่อมาปี 2566 “เดชนัฐวิทย์” ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงสมัคร สส.เชียงใหม่ อีกครั้ง แต่ก็สอบตกเช่นกัน

กระทั่งล่าสุดคนการเมืองเมาท์กันสนั่นอีกครั้งว่า เมื่อ “นายใหญ่” พ้นโทษออกมาอย่างเป็นทางการ และมีความพยายามรื้อฟื้นแผนให้ “นายหญิง” น้องสาวกลับเข้าประเทศ จึงมีความพยายามต่อสาย “สารพัดดีล” กับ “บุญทรง” ให้ช่วยเปิดทาง ไม่ขัดขวางความพยายามครั้งนี้

ไม่ว่าดีลดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่สุดท้าย “บุญทรง” ได้รับการ “พักโทษ” และเตรียมกลับไปอยู่เชียงใหม่ ถิ่นที่เขาเติบโตและสร้างฐานอำนาจทางการเมืองเอาไว้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ แผนพา “นายหญิง” กลับบ้านตามรอย “นายใหญ่” จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง