สส.ปชน.ชวนจับตาประชุม ครม.เคาะ กก. JTC แบ่งผลประโยชน์ทะเลไทย-กัมพูชา

สส.ปชน.ชวนจับตาประชุม ครม.เคาะ กก. JTC แบ่งผลประโยชน์ทะเลไทย-กัมพูชา

'ศุภโชติ' สส.ปชน. ชวนจับตาประชุม ครม.วันนี้ เคาะรายชื่อคณะกรรมการ JTC แบ่งปันผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชา หรือไม่ แนะรัฐบาลเพิ่มสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดข้อมูลให้ประชาชนมั่นใจว่าไม่ใช่คนของ บ.พลังงานส่งมา

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงต่อกรณีรัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) เพื่อเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ซึ่งน่าจะมีการเคาะองค์ประกอบของรายชื่อคณะกรรมการร่วมฯ ออกมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้หรือในเร็วๆ นี้

นายศุภโชติ กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมฯ ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งมีทั้งผลประโยชน์ทางทะเลและทรัพยากรธรรมชาติมูลค่ารวมกว่า 10 ล้านล้านบาท รวมถึงการเจรจาเรื่องเขตแดนด้วย คณะกรรมการร่วมฯ ชุดนี้จึงเปรียบเหมือนก้าวแรกของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ระหว่างสองประเทศมาแล้วหลายชุด แต่การเจรจายังไม่สัมฤทธิ์ผล โดยที่ผ่านมาองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมฯ จากฝั่งไทยส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดน แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ที่เป็นประเด็นดังกล่าวไม่ได้มีแค่เรื่องของเขตแดนหรืออาณาเขตทางทะเล แต่ยังมีเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือปิโตรเลียมที่ควรต้องรวมอยู่ในหัวข้อของการเจรจาด้วย

นายศุภโชติ กล่าวอีกว่า เราควรช่วยกันจับตาว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมฯ ในยุครัฐบาลแพทองธารที่กำลังจะเคาะรายชื่อออกมาเร็วๆ นี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไร เราต้องการเห็นคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของพลังงานมากขึ้น เพราะถ้าไปดูองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมฯ รอบล่าสุดที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะพบว่ามีผู้แทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 1 คน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอีก 1 คน จากทั้งหมด 16 ตำแหน่งมีเพียง 2 ตำแหน่งนี้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงาน ส่วนอีก 14 ตำแหน่งที่เหลือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเขตแดนหรือการต่างประเทศทั้งสิ้น

นายศุภโชติ กล่าวด้วยว่า เพราะฉะนั้นในองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมฯ ในยุครัฐบาลแพทองธารก็ควรจะเพิ่มสัดส่วนของผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานเข้าไปด้วย และถ้าเป็นไปได้รัฐบาลควรทำเรื่องนี้ด้วยความโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยควรจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงธุรกิจของผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการร่วมฯ ด้วย รวมถึงข้อมูลว่าภรรยา คู่สมรส หรือบุตรได้ถือหุ้นอะไรในบริษัทพลังงานหรือไม่ เคยดำรงตำแหน่งอะไรเกี่ยวกับพลังงานหรือไม่ หากทำได้ก็จะทำให้ประชาชนมั่นใจว่าคณะกรรมการร่วมฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมาจะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติได้อย่างแท้จริง 

“ที่คนกังวลกันคือรายชื่อจะเป็นใคร จะเป็นแค่คนที่เข้ามาหาผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ จะมีบริษัทพลังงานที่ส่งคนของตัวเองเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการนี้หรือไม่ คนที่ควรอยู่อาจจะโดนกีดกันออกจากคณะกรรมการหรือไม่ ขอให้สังคมช่วยกันจับตาการประชุม ครม.วันนี้อย่างใกล้ชิด” นายศุภโชติ กล่าว