เปิดม่านสภาฯ 3 วาระร้อน ‘ฝ่ายค้าน’จองกฐิน‘รัฐบาล’
"ฝ่ายค้าน" ตั้งธงหยิบวาระร้อน เพื่อชูบทบาทตรวจสอบรัฐบาล การจองกฐินครั้งนี้ เชื่อว่า เอาแน่กับการซักฟอก "แพทองธาร" แต่ต้องจับตาว่าจะจริงจังหรือแค่ "ฝ่ายค้านหน้าม่าน"
KEY
POINTS
Key Point :
- อีก7 วัน เวทีการเมือง ในสภาฯ จะเริ่มต้นเปิดฉาก
- เป็นที่จับตา ถึงความเอาจริงเสียทีต่อการเป็น "ฝ่ายค้าน" ทำหน้าที่ตรวจสอบ "รัฐบาล-แพทองธาร" ของพรรคประชาชน
- วาระเริ่มต้นที่ "สส.พรรคประชาชน" ได้โอกาส คือ การตั้งกระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไป
- ประเด็นสำคัญที่กำหนดไว้แล้ว คือ การยกปมข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และMOU44 ขึ้นมาซักถามเพื่อตรวจสอบ
- และติดตามการทำงานที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาอาชญากรข้ามชาติ
- นอกจากนั้นยังมีการเซตวาระเพื่อจองกฐิน ตรวจสอบรัฐบาล ผ่านเวทีซักฟอกและเวทีอภิปรายทั่วไป ที่ "ฝ่ายค้าน" ปักธงเอาแน่ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้
สภาผู้แทนราษฎรใกล้สิ้นสุดการพักเบรกการประชุม และเตรียมเรียกสส.กลับเข้าสภาฯ ในอีก 7 วันข้างหน้า
ล่าสุด วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้ออกหนังสือนัดประชุมสภาฯ ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 ของสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง วันที่ 12 ธ.ค. นี้
ประเดิมวันแรกของการประชุม คือการใช้เวทีสภาฯ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผ่านการตั้งกระทู้ถามของสส. ไฮไลต์ถูกจับตาไปที่การวางบทบาท “ฝ่ายค้าน” ที่จริงจังเสียทีของ “พรรคประชาชน” หลังจากที่สมัยประชุมที่ผ่านมา ทำได้แค่สะกิดและเกาหลังให้ “ฝ่ายรัฐบาล” เพียงเบาๆ
โดยกระทู้ถามสดด้วยวาจานั้น ยังอยู่ระหว่างการเฟ้นประเด็นโดย “กุนซือฝ่ายค้าน” ที่แว่วว่าอาจหยิบยกประเด็นวาระการเมืองขึ้นมา อภิปราย พุ่งตรงไปยัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ในแง่ภาวะผู้นำต่อการแก้วิกฤติ ปัญหาเร่งด่วน ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีผลกระทบในวงกว้างกับประชาชน
นอกจากนั้นแล้ว ในวาระของการตั้งกระทู้ถามทั่วไป เป็นคิวของ สส.พรรคประชาชน ที่มี 3 เรื่องร้อน คือ “กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย”
ตั้งถาม “อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย” โดย รังสิมันต์ โรม ผู้เปิดประเด็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีนายทุนไทยซึ่งประกอบธุรกิจสีเทาในถิ่นชายแดนไทย-เมียนมา อยู่เบื้องหลัง
แม้ว่ากรณีนี้ สส.โรมจะเคยเปิดประเด็น และรายละเอียดไปแล้วหลายครั้ง แต่ในการปฏิบัติของภาครัฐ หรือหน่วยราชการไม่เคยอัพเดตความคืบหน้า โดยเฉพาะการรู้เห็นเป็นใจของ “คนใน” ต่อการเอื้อให้องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอาศัยทรัพยากรของไทย เพื่อทำธุรกิจผิดกฎหมาย ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
ต่อด้วยเรื่อง “ไฟไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง” ตั้งถาม “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม โดย ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง
และเรื่อง “ข้อพิพาทพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนบริเวณอ่าวไทย ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา” ตามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU2544 ตั้งถาม “นายกฯแพทองธาร” โดย ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. ฐานะโฆษกกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ
แน่นอนว่าสิ่งที่ สส.พรรคประชาชน จะไม่พลาดในการตั้งคำถามคือ ความคืบหน้าในกระบวนการเจรจา ทั้งการปักปันเขตแดนทางทะเล และการเจรจาผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หรือเขตพัฒนาร่วม (เจดีเอ) ที่ “รัฐบาล-แพทองธาร” ไม่เคยไขความกระจ่างให้ สาธารณะรับรู้ในรายละเอียด
ตามที่เคยมีการวางเป้าหมายจาก นายกฯเงา ทักษิณ ชินวัตร ว่าจะละการเจรจาปักปันเขตแดนไว้ และเดินหน้าในผลประโยชน์-แหล่งน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อน
อย่างไรก็ดี ในการตั้งกระทู้ถามสด หรือกระทู้ทั่วไปนั้น ยังมีช่องให้นายกฯ เลี่ยงมาชี้แจงต่อสภาฯ ด้วยตัวเอง ผ่านข้ออ้าง “ติดภารกิจสำคัญ” และมีอำนาจมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงได้
ข้อนี้ฝ่ายค้านรู้ดี เพราะต่อให้จะตั้งกระทู้เชิงตรวจสอบเจาะลึกแค่ไหน หากรัฐบาลไม่อยากให้เป็นประเด็นลุกลามจนสั่นคลอนความน่าเชื่อถือ ย่อมสามารถมุดช่องหลบเลี่ยงการชี้แจงได้
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านในสภาฯยังมีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างน้อย 2 ช่องทาง คือ
1.การตั้งเรื่องให้คณะกรรมาธิการสามัญที่มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบ แต่สามารถใช้ได้เฉพาะกลไกของ “หน่วยงานราชการ” หรือ “ฝ่ายปฏิบัติงาน” เท่านั้น เพราะที่ผ่านมา น้อยครั้งจะเห็นฝ่ายนโยบายตอบรับเข้าชี้แจงของกรรมาธิการ
2. คือการยื่นญัตติเพื่อขออภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เป็นการอภิปรายเพื่อซักฟอกรัฐบาล พร้อมกับลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือคณะ และมาตรา 152 เป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ
โดยช่องทาง “ซักฟอก” ที่รัฐธรรมนูญขีดเส้นให้ทำได้ “หนึ่งครั้ง” ภายในปีของสมัยประชุม
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกไว้แล้วว่า ในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่กินเวลาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2567 ถึง 9 เม.ย. 2568 ขอจองกฐินรัฐบาล
จึงมีความเป็นไปได้ว่า จะขอเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 เพื่อยกกรณีพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา และกรณีของ เอ็มโอยู 44 ขึ้นมาซักถามรัฐบาลอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ชาติ อีกทั้งยังล้อไปกับกระแสการเมือง ที่มี “ม็อบนอกสภา”พยายามปลุกประเด็น “คลั่งชาติ” เพื่อหวังนำไปเป็นจุดตายของรัฐบาลเพื่อไทย
อย่างไรก็ดี วาระการเมืองยังมีประเด็นให้จับตา โดยเฉพาะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ต้องการเบิกทางให้เกิด “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) โดยเร็ว แต่ฝ่ายรัฐบาลยังมีทางยื้อ ด้วยการเล่นแง่ “จำนวนครั้งประชามติ” และกฎหมายประชามติฉบับแก้ไข
เมื่อเวทีสภาฯ เปิดม่านแล้ว คงได้เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนว่า ฝ่ายค้านจะรุกรัฐบาลอย่างจริงจัง หรือเล่นแค่บท “ฝ่ายค้านหน้าม่าน”.