โฟกัสคดี-โทษ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่หนักแต่ทางเลือกมีน้อย
พลันที่ความคืบหน้าเกี่ยวกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือ “ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ” แม้ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และยังไม่มีผลบังคับใช้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คาดว่า น่าจะทันใช้สิ้นปี 67
แต่ประเด็นที่ถูกจับตามอง และเชื่อมโยงเป็นกระแสร้อนทางการเมืองขึ้นมา เป็นเงาตามตัว ก็คือ เป็นการเตรียมรองรับการเดินทางกลับไทยของ อดีตนายกฯปู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หรือไม่
เพราะ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายอดีตนายกฯปู เคยพูดเอาไว้กับชาวเชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ว่า สงกรานต์ปีหน้า คงได้เห็น อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ มาร่วมสงกรานต์ด้วยกัน
ความจริง ถ้าจะว่าไป ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 จะมีความคืบหน้า ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีขั้นตอนการออกบังคับใช้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งยังเคยกลายเป็นกระแสข่าวเชื่อมโยงกับ “ทักษิณ” มาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงรักษาตัวอยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ท่ามกลางแรงกดดันให้นำกลับเข้าไปคุมขังในเรือนจำ ครั้งนั้น ก็พุ่งเป้าโจมตีว่า เป็นการเร่งออกระเบียบเพื่อรองรับ “ทักษิณ” ในการคุมขังนอกเรือนจำ ถ้าไม่มีเหตุผลที่จะรักษาตัวอยู่ใน รพ.ตำรวจต่อไป แต่ที่สุด ก็ได้รักษาตัวต่อในรพ.ตำรวจ จนกระทั่งครบ 6 เดือน และได้รับการ “พักโทษ” ตามเงื่อนไขกรมราชทัณฑ์
กรณี “ยิ่งลักษณ์” ก็เช่นเดียวกัน ยังไม่แน่ว่า จะเข้าเงื่อนไขระเบียบคุมขังนอกเรือนจำดังกล่าวหรือไม่ กระนั้น หลายคนเชื่อว่า “ยิ่งลักษณ์” ก็ไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวเจริญรอยตาม “ทักษิณ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามที่จะ “ดักคอ” เอาไว้ก่อน ของกลุ่มคนที่เป็น “คู่ขัดแย้ง” มาตั้งแต่สมัยต่อต้านโครงการรับจำนำข้าว
ยิ่งหลักเกณฑ์สำคัญระบุในระเบียบคุมขังนอกคุกว่า จะต้องเป็นนักโทษที่มีโทษไม่เกิน 4 ปี ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 5 ปี คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถ้าจะให้เข้าหลักเกณฑ์ ก็ต้องมีการแก้ไขเรื่องนี้ นอกจากนี้ ต้องเป็นนักโทษชั้นดี และรอที่จะพ้นโทษด้วย ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่แม้แต่เข้าสู่กระบวนการรับโทษ และคุมขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นการข้ามขั้นตอนอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม พูดถึงคดีของ “ยิ่งลักษณ์” ถือว่า ไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร เมื่อเทียบกรณี “ทักษิณ” หรือ นักโทษคนอื่นที่ถูกตัดสินจำคุกอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว
กล่าวคือ “ยิ่งลักษณ์” มีคดีดังนี้
1.คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 5 ปีเมื่อ 27ก.ย.2560 ซึ่งคดีนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลเพื่อมาให้ถ้อยคำและฟังการไต่สวนครบทุกนัด ยกเว้นวันนัดฟังคำพิพากษาที่ไม่มา ก่อนจะทราบข่าวในช่วงสายวันเดียวกันว่า หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ทำให้ศาลฎีกาฯพิพากษาลับหลังจำเลยพร้อมกับออกหมายจับและอายุความยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
2.คดีย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.(สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง เมื่อ 26 ธ.ค.2566 เพราะไม่อาจรับฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาพิเศษ และรับฟังไม่ได้ว่ามีการโอนย้ายนายถวิล เพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายเปิดช่องให้อุทธรณ์คดีได้ภายในสามสิบวัน แต่ไม่ปรากฏอัยการสูงสุดได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือไม่
3. คดีจัดอีเวนต์ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” กับพวก 6 คน ด้วยมติ 9 ต่อ 0 เสียง พร้อมถอนหมายจับ “ยิ่งลักษณ์”
ส่วนคดีที่อยู่ในชั้นป.ป.ช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) หลายสำนวนถูกตีตกไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น คดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง คดีปล่อยให้ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยขณะนั้นพร้อมพวกปราศรัยรุนแรงแบ่งแยกประเทศ คดีปล่อยให้สถานี NBT ถ่ายทอดสดมวยไทยวอริเออร์ส เจตนาแพร่ภาพ “ทักษิณ” คดีอนุมัติงบกลาง 120 ล้านบาทช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมือง คดีกล่าวหาออก พ.ร.ก.กู้เงินจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท คดีกล่าวหาว่าบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 คดีเพิกเฉยไม่ไต่สวนอดีต รมว.กลาโหม แทรกแซงแต่งตั้งปลัด กห. คดีให้สำนักงาน กศน.จัดทำป้ายพีอาร์รัฐบาล คดีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ช่วงการชุมนุม กปปส.
นั่นเท่ากับว่า “ยิ่งลักษณ์” เหลือคดีเดียว คือหนีหมายจับจำคุก 5 ปี ไม่มาฟังคำพิพากษาในคดีจำนำข้าว
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยังพบว่า นักโทษคนสำคัญของคดีในโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่าจะถูกตัดสินจำคุกหลายสิบปี แต่ก็ได้รับการพักโทษ และพ้นโทษไปแล้วก็มี
ตัวอย่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ หนึ่งในตัวละครสำคัญของ “คดีระบายข้าวจีทูจี” ในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ระหว่างปี 2555-2556 ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 42 ปี
แต่ระหว่างอยู่ในเรือนจำ มีสถานะเป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” จึงเข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษอย่างน้อย 4 ครั้ง ระหว่างปี 2562-2564 จากโทษ 42 ปี เหลือโทษจำคุก 10 ปี และได้รับการพักโทษหลังถูกจำคุก 7 ปีเศษ เหลือคุมประพฤติอีก 3 ปี 5 เดือนเศษ ขณะนี้กลับไปพักโทษที่เชียงใหม่
อีกคน คือ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 32 ปี ได้ลดวันต้องโทษ 2 รอบในปี 2564 เหลือโทษจำคุก 8 ปี และได้รับการพักโทษไปเมื่อเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ครบกำหนดการคุมประพฤติในวันที่ 25 ส.ค. 2568
รวมถึง “เสี่ยเปี๋ยง” นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ตัวการสำคัญที่ มีพยานหลักฐานมัดเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งให้ลูกน้องไปถอนออกมา เพื่อสั่งจ่ายค่าข้าวที่ถูกนำมาเวียนขายภายในประเทศ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 48 ปีเศษ ได้ลดวันต้องโทษจนเหลือติดคุกราว 6 ปีเศษ ซึ่งมีรายงานว่าถูกกำหนดวันพ้นโทษคือ 26 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ดังจะเห็นได้ว่า คดีและโทษของ “ยิ่งลักษณ์” แค่เศษเสี้ยวเท่านั้น
ดังนั้น การเดินทางกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” ถ้าไม่ติดเงื่อนไขว่า ไม่ต้องการติดคุก ก็สามารถกลับมารับโทษ และเข้าสู่ขั้นตอนลดโทษต่างๆ ไม่นานก็คงพ้นโทษ
นอกจากนี้ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการขอพระราชทานอภัยโทษว่า หนึ่ง-ต้องเข้ามา สอง-มอบตัวเป็นนักโทษแล้วถึงจะถวายฎีกาได้ ถ้ายังไม่รับโทษ ก็ยังไม่สามารถถวายฎีกาได้
ประเด็นสำคัญ ไม่ว่าการกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” จะลงเอยอย่างไร สิ่งที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ “ดีล” ระหว่าง “ทักษิณ” กับ กลุ่มอำนาจอนุรักษ์นั้น ทำไว้แค่ไหน รวมถึงการกลับไทย ของ “ยิ่งลักษณ์” ด้วยหรือไม่
เพราะนั่นจะเป็นคำตอบว่า “ยิ่งลักษณ์” จะต้องติดคุกตามคำพิพากษาของศาลฯอย่างไร ด้วยเงื่อนไขอะไร รวมถึงต้องไปอยู่ในเรือนจำเหมือนนักโทษคนอื่นหรือไม่ ก่อนถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ นี่คือ โฟกัส ที่หลายคนจับจ้อง
อย่าลืมว่า กรณี “ยิ่งลักษณ์” มีหลายเงื่อนไขที่ไม่สามารถเดินตามรอย “ทักษิณ” ได้ทั้งหมด เพราะอายุยังน้อย และตามประวัติก็ไม่ได้เป็นโรคอะไรร้ายแรง พอที่จะอ้างเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ อย่างกรณี “ทักษิณ” ได้
กระนั้น สิ่งที่หลายคนจับตามองก็คือ “ทักษิณ” และรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร จะมีทางออกให้ “ยิ่งลักษณ์” อย่างไร หรือไม่ ในการกลับไทย ภายใต้กระบวนการตามกฎหมาย? ซึ่งคนอย่าง “ทักษิณ” ถ้าไม่มั่นใจว่า ทำได้ คงไม่ประกาศออกไปก่อนว่า “ยิ่งลักษณ์” จะกลับไทย มาร่วมสงกรานต์เดือนเมษาฯปีหน้า
เหนืออื่นใด “ยิ่งลักษณ์” แทบไม่มีทางเลือกที่จะต้องกลับมารับโทษเสียก่อน หาไม่ก็ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้าน ไม่ต่างจาก “ทักษิณ” หรือ “ดีล” ยังไปได้สวยหรือไม่ แต่ถ้าทุกอย่างไร้ปัญหา ก็น่าจะเป็นโอกาสทองของ “ยิ่งลักษณ์” ที่จะกลับไทยแล้ว