ปูทาง...ปู คุก...ที่อยู่คนจน ?
ข่าวการพักโทษ ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงกับระเบียบ “นอนนอกคุก” ที่กำลังเตรียมออก ”ประกาศ“ กำหนดหลักเกณฑ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระแสตั้งคำถามเรื่องเอื้อประโยชน์ในแบบ“ปูทาง...ปู” จึงยิ่งแรงขึ้น
KEY
POINTS
- ระเบียบ “ขังนอกคุก” เป็นคนละเรื่องกับการ “พักโทษ” อาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ตีความได้ว่า ผู้ได้รับสิทธิ “นอนนอกคุก” ไม่ต้องคดีถึงที่สุดก็ได้ เพราะตัวระเบียบใช้คำว่า “เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์” จึงต้องหมายรวมถึงผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดด้วย
-
เมื่อมีข้อหนึ่ง จึงไม่ต้องมีเกณฑ์ว่าต้องรับโทษแล้วเท่าไหร่ จึงจะได้รับการพักโทษ หรือแม้จะกำหนดเกณฑ์เอาไว้ แต่ก็มีช่องลอดได้ เพราะขนาดคดียังไม่จบ แค่ถูกขังเพราะไม่ได้ประกันระหว่างต่อสู้คดี ยังได้สิทธิ์นี้
-
ถ้าคิดเทียบกับคนที่ยังต่อสู้คดี ไม่ได้ประกัน ยังมีช่องไป “นอนนอกคุก”ได้ ก็อาจมีช่องทางให้ศาลสั่งให้ไปขังที่บ้านแทนได้ โดยอ้างหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่จะมี “ประกาศ” ออกตามมา
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสวิจารณ์เรื่องการ “พักโทษ” จำเลยในคดีจำนำข้าว โดยเฉพาะ คุณบุญทรง กับ เสี่ยเปี๋ยง
นำมาสู่การแถลงใหญ่ของกระทรวงยุติธรรม
เนื้อหาการแถลงก็ไม่มีอะไรพิเศษ แค่ตอกย้ำว่าการพักโทษเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ได้เอื้อประโยชน์จำเลยคดีจำนำข้าวเป็นพิเศษ หรือเพื่อปูทางให้อดีตนายกฯปู เตรียมกลับประเทศแต่อย่างใด
ข่าวการพักโทษ ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงกับระเบียบ “นอนนอกคุก” ที่กำลังเตรียมออก "ประกาศ" กำหนดหลักเกณฑ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระแสตั้งคำถามเรื่องเอื้อประโยชน์ในแบบ “ปูทาง...ปู” จึงยิ่งแรงขึ้น
ส่วนคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องก็ย้ำแค่ว่า เป็นตามระเบียบกฎหมาย และพลวัตที่ปฏิบัติต่อเนื่องมา โดยมุ่งเป้าหมายลดความแออัดในเรือนจำ
จากเรื่องราวที่ไล่เรียงมานี้ ในเบื้องต้นผมคิดว่า กระทรวงยุติธรรมชี้แจงผิดประเด็น ซึ่งผมมองว่าเป็นความจงใจ หรือ"ตาใส" มากกว่า
ทั้ง 3 เรื่อง คือ "ลดโทษ - พักโทษ - นอนนอกคุก" จะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง เรียกว่า "เป็นคนละเรื่องเดียวกัน" ก็คงไม่ผิด
ซึ่งผมมีข้อสังเกตแบบนี้
1.เริ่มจากการ "พักโทษ" หรือ "พักการลงโทษ" ก่อน มีคำถามว่า การได้รับพักโทษเป็นสิทธิ์ของนักโทษทุกคนโดยอัตโนมัติ หรือตัวนักโทษต้องร้องขอ?
คำตอบคือ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เพราะวิธีการที่ดำเนินการ คือ เรือนจำเป็นผู้เสนอชื่อนักโทษที่อยู่ในข่าย หรืออยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการพักโทษ จากนั้นก็ส่งชื่อให้คณะกรรมการพิจารณา (มีระดับอนุกรรมการ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ)
กระบวนการที่ว่านี้มีคำถามว่า อาจทำให้เกิดปัญหา “สิทธิ์ไม่เท่าเทียม” มีเลือกที่รักมักที่ชังหรือไม่
เป็นการเปิดช่องให้คนรวย มีฐานะ มีบารมี มีอำนาจทางการเมือง เข้าถึงสิทธินี้มากกว่าหรือเปล่า เพราะอาศัยดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็น"สิทธิโดยทั่วไป" เนื่องจากกฎหมายก็เขียนเงื่อนไขไว้ชัดเจนระดับหนึ่ง (มาตรา 53 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ)
2.จะว่าไปแล้ว “การพักโทษ” ไม่ได้มีปัญหาทางความรู้สึกของสังคม เพราะมีกฎหมายรองรับ มีเกณฑ์การพักโทษ กล่าวคือ
- เป็นนักโทษเด็ดขาด
- รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ แล้วแต่กรณีใดมากกว่า ฯลฯ
แต่สิ่งที่คนไม่เห็นด้วย คือการลดโทษอย่างมโหฬาร เพื่อนำมาสู่การเข้าเกณฑ์การพักโทษมากกว่า (เช่น โทษจำคุก 40 ปี ติดจริงไม่ถึง 10 ปี แล้วได้พักโทษ)
ฉะนั้นปัญหาที่กรมราชทัณฑ์ควรตอบสังคม ไม่ใช่การตอบว่า การพักโทษที่ดำเนินการนั้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะเรื่องนี้ไม่มีใครเถียง
แต่สิ่งที่สังคมคาใจคือ การลดโทษอย่างมโหฬารมากกว่า คำอ้าง ที่ว่าราชทัณฑ์คือผู้บริหารโทษ ส่วนศาลคือผู้กำหนดโทษ เป็นคนละส่วนกัน ผมคิดว่าสังคมยังยอมรับไม่ได้ และเท่าที่เคยคุยกับผู้พิพากษาหลายท่าน ก็ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากการลดโทษขนาดนี้ เหมือนไม่เคารพคำพิพากษาของศาล ซึ่งพิจารณาความหนักเบา ประกอบพฤติการณ์มาอย่างรอบคอบแล้วถึง 3 ศาล (กระทั่งคดีถึงที่สุด จึงเป็น “นักโทษเด็ดขาด”)
3.มักมีคำอ้างประเภทที่ว่า การพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็น “พระราชอำนาจ” โดยเจตนาของคนที่อ้างแบบนี้ คือต้องการให้สังคมหยุดวิจารณ์หรือตั้งคำถาม
ถูกครับ...การอภัยโทษถือเป็น “พระราชอำนาจ” แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์การได้รับอภัยโทษ มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในเรือนจำ และผู้มีอำนาจเสนอ คือกรมราชทัณฑ์ และส่งผ่านคณะรัฐมนตรี
ฉะนั้น หน่วยงานในฝ่ายบริหารจะไม่รับผิดชอบต่อกระแสวิจารณ์ของสังคมเลย คงไม่ได้
4.หลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของการพักโทษไม่ได้มีปัญหา (เช่น ลดความแออัดในเรือนจำ หรือให้โอกาสนักโทษที่ประพฤติดี และรับโทษมาระดับหนึ่งแล้ว ได้รับสิทธิการพักโทษ)
หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง ก็คือ จริงๆ แล้วคนในสังคมไม่ได้มีปัญหากับกรณีอดีตนายกฯทักษิณได้พักโทษ เพราะเป็นไปตามกฎหมายที่มีมาก่อนแล้ว (ต้องรับโทษมาแล้วในอัตราเท่าใด กรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องรับโทษครบ 6 เดือน เพราะอัตราโทษ 6 เดือน มากกว่า 1 ใน 3 ตามกฎหมาย จึงต้องรอครบ 6 เดือน ถึงได้รับการพักโทษ)
แต่สิ่งที่สังคมมีปัญหาและตั้งคำถาม จนมีการร้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ คือ เรื่องการได้ไปพักที่ชั้น 14 อย่างไม่มีเหตุผลเพียงพอ คือสังคมเชื่อว่าไม่ป่วยจริงมากกว่า
ขอย้ำให้กระทรวงยุติธรรมได้รับทราบอีกครั้งว่า ประชาชนไม่ได้โง่หรือกินแกลบ เราเข้าใจดีว่า โรงพยาบาลคือสถานที่คุมขัง เพราะมีนักโทษป่วยจริงมากมายที่ไปนอนโรงพยาบาล บางคนถูกใส่กุญแจมือติดกับเตียงพยาบาลด้วยซ้ำ
แต่ที่คนเขาติดใจคือ “ไม่ได้ป่วย” ฉะนั้นเรื่องกฎหมายไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นดุลยพินิจต่างหากที่มีปัญหา และใครต้องรับผิดชอบ
5.เรื่องระเบียบ “ขังนอกคุก” จริงๆ ระเบียบนี้ เป็นคนละเรื่องกับการ “พักโทษ” กล่าวคือ
หนึ่ง อาจกำหนดหลักเกณฑ์ให้ตีความได้ว่า ผู้ได้รับสิทธิ “นอนนอกคุก” ไม่ต้องคดีถึงที่สุดก็ได้ เพราะตัวระเบียบใช้คำว่า “เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์” ซึ่งนิยามตามกฎหมายให้หมายรวมถึงทั้ง “นักโทษเด็ดขาด - คนต้องขัง และคนฝาก” จึงต้องหมายรวมถึงผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดด้วย
สอง เมื่อมีข้อหนึ่ง จึงไม่ต้องมีเกณฑ์ว่าต้องรับโทษแล้วเท่าไหร่ จึงจะได้รับการพักโทษ หรือแม้จะกำหนดเกณฑ์เอาไว้ แต่ก็มีช่องลอดได้ เพราะขนาดคดียังไม่จบ แค่ถูกขังเพราะไม่ได้ประกันระหว่างต่อสู้คดี ยังได้สิทธิ์นี้เลย
6.หากคิดในมุมนี้ ระเบียบ “นอนนอกคุก” จึงเปิดช่อง “ปูทาง...ปู” แน่นอน เพราะการกลับบ้านของอดีตนายกฯปู ต้องกลับมาฟังคำพิพากษาของศาล และส่งเข้าเรือนจำ คงไม่สามารถอ้างป่วยแล้วไปนอนชั้น 14 ได้เหมือนพี่ชาย เนื่องจากสังคมไม่ยอมรับแล้ว
ฉะนั้นเมื่อกลับมาฟังคำพิพากษาแล้ว ต้องมีช่องทางไป “ขังนอกคุก”ทันที คือได้สิทธิ์ทันที เพื่อไม่ต้องนอนคุก
ปัญหามีอย่างเดียว คือ อดีตนายกฯปูจะได้รับพระราชทานอภัยโทษวันไหน ช่องว่างช่วงนั้นจะมีกี่วัน และนอนที่ไหน
เหตุนี้เอง ถ้าคิดเทียบกับคนที่ยังต่อสู้คดี ไม่ได้ประกัน ยังมีช่องไป “นอนนอกคุก”ได้ ก็อาจมีช่องทางให้ศาลสั่งให้ไปขังที่บ้านแทนได้เลย โดยอ้างหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่จะมี “ประกาศ” ออกตามมา
7.ถ้าคิดเป็นระบบว่าเอื้ออดีตนายกฯปูกันแบบนี้ จะมีแรงต้านและความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่
ม็อบจะลงถนนหรือไม่ จุดติดหรือไม่
และสุดท้าย เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์“นอนนอกคุก”ย่อมดีกว่า สบายกว่า“พักโทษ” และเอื้อคนรวย คนมีเงิน มีอำนาจบารมีมากกว่า โดยเฉพาะคนมีบ้าน มีทรัพย์สินทุกอย่างพร้อม
การทำแบบนี้จะยิ่งกลายเป็นว่า วลีที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น”ยิ่งเป็นความจริงในสังคมไทย...กระนั้นหรือ?