'ตัวแทนดิไอคอน' ยื่น กมธ.มั่นคง ขอความเป็นธรรม ปมถูกขังไม่เป็นธรรม

'ตัวแทนดิไอคอน' ยื่น กมธ.มั่นคง ขอความเป็นธรรม ปมถูกขังไม่เป็นธรรม

"ตัวแทนดิไอคอน" ร้อง "กมธ.มั่นคง" ตรวจสอบการสอบสวนของหน่วยงาน พร้อมจับ 18 ผู้ต้องหา หลังมองไม่เป็นธรรม-ถูกค้านการปล่อยตัว

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.อภิลาวันต์ อภิพัฒนภรณ์ ตัวแทนผู้เดือดร้อนในคดีดิไอคอนกรุ๊ป เพื่อแจ้งปัญหาความเดือดร้อนจากการสอบสวนคดีดิไอคอนกรุ๊ป และเสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

โด น.ส.อภิลาวันต์ กล่าวว่า เนื่องจาก บริษัท ดิโอคอนกรุ๊ป จำกัด และผู้บริหารบริษัทฯ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องจำนวนรวม 18 คน ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนในการประกอบธุรกิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นปกติของบริษัท และศาลออกหมายจับและคัดค้านการประกันตัว ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ปราศจากเสรีภาพอย่างไม่เป็นธรรม ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายทั้งในทางธุรกิจและชื่อเสียงจากการดำเนินคดีของตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม

"การคัดค้านการประกันตัวโดยไม่มีเหตุผลตามกฎหมายที่เป็นจริง รวมทั้งไม่มีการสอบปากคำพยานจำนวนมากที่ยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทุกคน  ส่วนนี้ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดขอให้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมจากการถูกดำเนินคดีก่อนถูกคุมขังจากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม"น.ส.อภิลาวันต์ กล่าว

น.ส.อภิลาวันต์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอให้แก้ไขกฎหมายในลักษณะของการปฏิรูปโดยเร็ว เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับการสอบสวนในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

1. การถูกออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับได้ง่ายโดยปราศจากการตรวจสอบถึงความจำเป็นในกฎหมายอาญาที่แท้จริง

2. การคัดค้านการประกันตัวโดยไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องพฤติการณ์หลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่เป็นจริง ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกคุมขังในขณะที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งทำให้สังคมเข้าใจว่าได้กระทำผิดอย่างแน่นอน ส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ การประกอบอาชีพ และเกียรติยศชื่อเสียงอย่างไม่เป็นธรรม

3. ขอให้พนักงานอัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญของประเทศนับตั้งแต่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็น คดีนี้หรือคดีใดเพื่อเป็นหลักประกันให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน สมบูรณ์

4. การสั่งฟ้องคดีของอัยการต้องมั่นใจหรือเชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้เท่านั้น  

5. ในการดำเนินการสอบสวน ควรมีนโยบายไม่อนุญาตให้อธิบดีอัยการคนใดไปเป็นที่ปรึกษาคดี เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับบริษัทและผู้เกี่ยวข้องทุกคนอย่างร้ายแรง

ด้านนายรังสิมันต์  กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือในคณะ กมธ. ก่อน และจะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของคณะ กมธ. ต่อไป.