‘แพทองธาร’ จับมือ มาเลย์ แก้น้ำท่วมใต้ จ่อตั้ง หน.คณะฯ แก้ปัญหาความไม่สงบ
“นายกฯ ไทย-มาเลเซีย” บรรลุข้อตกลงชื่นมื่นทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วมใต้ การคมนาคม การศึกษา ความมั่นคง “อันวาร์” ชี้ ปัญหาชายแดนใต้ เป็นเรื่องภายในไทย
เมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น โดยเวลาที่กรุงเทพฯ ช้ากว่ามาเลเซีย 1ชั่วโมง) ณ เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ในพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ในการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ (official visit)
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะฝ่ายไทย ประกอบด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมคณะ
ได้เข้าร่วมประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation: AC) ครั้งที่ 7 ณ ห้องประชุม Bilik Mesyuarat Perdana ชั้น 3
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานสาระสำคัญของการประชุมดังนี้
น.ส.แพทองธาร กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือ และมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกันเพื่อ “สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (Common peace and prosperity) เพื่อความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวถึงการประชุมประจำปี ครั้งที่ 7 นี้ ว่ามาเลเซียยืนยันในความสำคัญของความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว และด้านอาหารฮาลาล รวมทั้งความเชื่อมโยงด้านคมนาคม พลังงาน และความมั่นคงในภูมิภาค
โดยความร่วมมือ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ถือเป็นโมเดลของความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ เห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนและนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวชื่นชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย อาทิ ภูเก็ต และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว “6 Countries, 1 Destination” ซึ่งจะส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวระหว่างไทย-มาเลเซีย และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ที่ยังเป็นการสนับสนุนความสัมพันธ์ของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ในปีนี้เพียง 11 เดือนปีนี้พบว่านักท่องเที่ยมาเลเซีย เดินทางมาเที่ยวไทยเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้าน soft power ของทั้งสองประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวถึงความร่วมมือด้านพลังงานในระดับภูมิภาค รวมทั้งความร่วมมือด้านยางพารา ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียได้นำเข้ายางพาราจากไทย และในวันนี้จะได้มีลงนามแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ ระหว่างสองประเทศ ในความร่วมมือด้านยางพาราอีกด้วย
สำหรับมิติด้านความมั่นคงนั้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นประเด็นภายในของประเทศไทย มั่นใจว่าไทยจะสามารถบรรลุความสำเร็จในการส่งเสริมสันติภาพและความรุ่งเรืองในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ทั้งนี้ เพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ จะมอบหมายให้มีการกำหนดกรอบ การดำเนินงาน ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation: AC) ครั้งที่ 7 วันนี้ ทั้งสองประเทศได้ติดตามและผลักดันการดำเนินการตามที่ประเทศไทยและมาเลเซียได้เห็นพ้องร่วมกันเมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่าเห็นควรจัดการประชุมคณะทำงาน (Task force) ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การค้าและการลงทุนรวมถึงการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และความมั่นคง เพื่อให้บรรลุผลที่เป็นรูปธรรม โดยมอบหมายเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและเสนอมาตรการป้องกันอุทกภัยในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ของประเทศไทยพร้อมทำงานร่วมกับฝ่ายมาเลเซีย
ส่วนสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย โดยประเทศไทย ให้ความสำคัญของการฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง ต้องผ่านกระบวนการพูดคุยและการพัฒนา โดยหวังว่ากระบวนการพูดคุยจะเริ่มต้นใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ ภายหลังการตั้งหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และเชื่อมั่นว่ามาเลเซียจะให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ OIC ด้วย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ทั้งสองประเทศยินดีที่หน่วยงานมั่นคงจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมข้ามชาติที่เร่งด่วน เช่น การค้ามนุษย์และยาเสพติด การ เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยปีหน้าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ครั้งที่ 56 (56th General Border Committee (GBC) และคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง ครั้งที่ 2 (2nd meeting of the joint working committee on security cooperation (JWC-SC))
ทั้งนี้ สองประเทศยังเห็นพ้องร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการค้า ที่30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 ซึ่งการค้าชายแดน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของการค้าทวิภาคี โดยเชื่อว่าการอำนวยความสะดวกและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนจะเป็นปัจจัยสำคัญ จึงเห็นควรเดินหน้าผลักดันหาข้อสรุปต่อบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดนโดยเร็ว
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ยินดีที่โครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดนระหว่างกัน 2 โครงการ ได้แก่ ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ และสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก มีความคืบหน้าไปมากซึ่งจะเสร็จตามกำหนด โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายประเทศจะมีโครงการทางรางเพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาคได้อย่างไร้รอยต่อ และสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เช่น รถไฟขนส่งสินค้า ASEAN Express (ASEAN Express trains) อีกด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องในปีหน้า (ปี 2568 ) ที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “Inclusivity and Sustainability” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มาเลเซีย มาดานี Malaysia Madani” ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนในทุกมิติ พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยในโอกาสเหมาะสม นางสาวศศิกานต์ กล่าว