'สว.153เสียง' ยืนเกณฑ์ผ่านประชามติ แก้รธน. เสียงข้างมาก2ชั้น

'สว.153เสียง' ยืนเกณฑ์ผ่านประชามติ แก้รธน. เสียงข้างมาก2ชั้น

"วุฒิสภา" ลงมติ หนุนเกณฑ์ผ่านประชามติแก้รธน. เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น 153:24 เสียง จับตา "สส." ลงมติชี้ขาดพรุ่งนี้

ในการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ..ศ... หลังจากที่กรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งมติของกรรมาธิการรร่วม ได้ยืนยันการแก้ไขเกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง  2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของ สว. ได้แสดงความเห็นต่างจากมติของกรรมาธิการร่วม ที่ยืนยันเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น โดยมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่อาจมีผู้รณรงค์ให้ไม่ออกไปใช้สิทธิ เพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้  ทั้งนี้ น.ส.นันทนา นันวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ อภิปรายตั้งคำถามถึงใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ หลังจากที่มีการกลับเกณฑ์ผ่านประชามติจากเสียงข้างมากชั้นเดียว ที่สส.เห็นชอบ เป็นเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ของ สว.เสียงข้างมาก

 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว พอจะแก้ไขทำไมต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น และระบบการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเป็นระบบเสียงข้างมากชั้นเดียว ทำไมประชามติจึงต้องแปลกแยก อยากจะบอกว่าอย่าดัดจริต อย่าสองมาตรฐาน เราเป็นราชอาณาจักร ไม่ใช่สหพันธรัฐ หลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา” น.ส.นันทนา อภิปราย

ทางด้านนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ฐานะกรรมาธิการร่วม ชี้แจงว่า ไม่ต้องการร่างพ.ร.บ.ประชามติที่ดีที่สุด แต่ต้องการกฎหมายที่ยืดหยุ่นที่สุด ทั้งนี้การกำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นนั้นกำหนดให้ใช้เฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนประชามติเรื่องอื่นๆ ยังใช้เกณฑ์เสียงข้างมากปกติ

 

"การใช้เสียงข้างมาก 2ชั้นเป็นการรณรงค์ให้คนนอนหลับทับสิทธินั้น ไม่เชื่อว่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ ไม่มีใครกล้าพูดแบบนี้แน่ เพราะบ่งบอกความไม่เป็นประชาธิปไตย" นายพิสิษฐ์ ชี้แจง

ขณะที่นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกมธ.ร่วมกันฯ ชี้แจงด้วยว่า กล่าวว่า วิปรัฐบาลมีมติไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับแกัไข  แน่นอนว่าต้องยับยั้งร่างกฎหมาย ไว้180วัน   เมื่อครบ180วัน ก็จะมีการนำเสนอเพื่อให้สภายืนยัน จากนั้นรอ 3 วัน และ5 วันเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในส่วนของการออกกฎหมายลูก เข้าใจว่ากกต.น่าจะใช้เวลา 1เดือน พอกฎหมายประกาศใช้ ต้องเรียยกหน่วยงานมาพูดคุยถึงการใช้งบประมาณ และเคาะเป็นมติ ครม.  จากนั้นต้องใช้เวลา 90-120 วัน เพื่อทำประชามติ

"กระบวนการทั้งหมดประมาณ 10เดือนครึ่ง ผมคิดว่าเราจะได้ทำประชามติครั้งแรกในเดือน มค.69 จากนั้นเดือนก.พ. 69 จึงจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256  หากสว.ไม่ให้ผ่าน ซึ่งช่วงนั้นสภาปิด ก็ต้องรอวันที่ 3 ก.ค. เปิดสมัยประชุมสุดท้าย ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ทัน เท่ากับสสร.ก็ไม่ได้ ถามว่าท่านจะแบกรับไหวหรือไม่” นายนิกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่สว. อภิปรายแสดงความเห็นครบถ้วนแล้วได้ลงมติ ผลปรากฎว่า มติวุฒิสภา 153 เสียงเห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วม ต่อ 24 เสียงและงดออกเสียง 13 เสียง ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปต้องรอให้สภาฯลงมติในรายงานของกรรมาธิการร่วม ซึ่งสภาฯ ได้นัดลงมติวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หาก สส. ลงมติแย้งกับสว. จะเป็นผลให้ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ (ฉบับแก้ไข) ต้องถูกยับยั้งไว้ เป็นเวลา 180 วัน.