WEF เปิดลายแทงปั้นแรงงาน รับมือGenAIเสริมแกร่งศักยภาพองค์กร

WEF เปิดลายแทงปั้นแรงงาน  รับมือGenAIเสริมแกร่งศักยภาพองค์กร

การทำงานที่ง่ายขึ้น ไม่เว้นแม้แต่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ กำลังสร้างความสะดวกสบายให้คนทำงานทั่วๆไป ความเพลิดเพลินกับสิ่งอำนวยความสะดวกนี้ มาจากปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ Generative AI (Generative Artificial Intelligence / GenAI)

ข้อมูลจาก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล  บอกเบอกเล่าถึงความหมายของ Gen AI ว่า คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สรรค์สร้างข้อมูลเนื้อหาใหม่ ๆ แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ สามารถสร้างคอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และอื่น ๆ จากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาในระบบ ความสามารถของ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจได้ในหลาย ๆ ด้าน

ตัวอย่าง ระบบ Generative AI ที่โด่งดัง ได้แก่ Chat GPT พัฒนาโดย Open AI เปิดตัวในปี 2022 Gemini (ชื่อเดิมคือ Bard) พัฒนาโดย Google เปิดตัวหลัง Chat GPT ไม่นาน และ Claude น้องใหม่ล่าสุด เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่ง Claude พัฒนาโดย Anthropic สตาร์ทอัพ AI ที่ Google เข้าไปลงทุน

ศักยภาพของGenAI ไม่เพียงนำไปสู่การลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพื่อเเข่งขันกันเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดของจักรวาล Gen AI เท่านั้น อีกด้านของผลกระทบจากการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมหาศาลครั้งนี้กำลังนำไปสู่ปลายทางทั้้งด้านดีและร้าย

เมื่อเร็วๆ นี้สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum : WEF เผยแพร่รายงาน  Leveraging Generative AI for Job Augmentation and Workforce Productivity: Scenarios, Case Studies and a Framework for Action สาระสำคัญระบุว่า   GenAI มีศักยภาพที่สำคัญซึ่งจะขับเคลื่อนและปรับปรุงผลิตภาพของกำลังคนในองค์กร และเศรษฐกิจโดยรวม 

โดยศักยภาพของแรงงานที่ผ่านการพัฒนาโดยGenAI จะนำมาซึ่งผลกำไรที่มากขึ้น ซึ่งรายงานได้ให้แนวทางการนำแรงงานคนมาใช้ควบคู่กับGen AI เพื่อผลลัทธ์เป็นงานที่ดีที่สุด เริ่มต้นที่การนำ  GenAI มาทำงานบางส่วนร่วมกับมนุษย์  เพราะสิ่งที่ทำให้ GenAI แตกต่างจากAI ยุคก่อนหน้านี้คือ ความสามารถในการขยายการเข้าถึงการใช้ AI และขจัดอุปสรรคของความรู้เฉพาะทาง 

“GenAI มีศักยภาพที่จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลผลิตโดยการสร้างประสิทธิภาพผ่านการปล่อยเวลาว่างในการทำงานที่มีมูลค่าต่ำกว่าเพื่อทำกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น”

ข้อเสนอแนะอีกอย่างจากรายงานคือ การที่ GenAI มีศักยภาพที่จะเพิ่มทักษะและความสามารถของแรงงานมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้สร้างมูลค่าของชิ้นงานในรูปแบบใหม่ๆ  หลากหลายขึ้น หรือกล่าวง่ายๆก็คือ ข้ามขั้นตอนงานที่ง่ายหรือซ้ำไปทำงานที่สร้างสรรคและเพิ่มจำนวนชิ้นได้มากขึ้น  โดยมี  Gen AI เป็นเครื่องมือสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของ GenAI ในการเพิ่มผลิตภาพอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อุตสาหกรรม และองค์กร ดังนั้น เพื่อนำ GenAI มาใช้ร่วมกับการทำงานในองค์กรได้อย่าง มีประสิทธิภาพ องค์กรต่างๆ จะต้องจัดการกับปัจจัยต่างๆ อย่างเข้าใจและเป็นระบบ ได้แก่ ปัจจัยความไว้วางใจ คือ การเชื่อว่า  GenAI ทำงานในส่วนนั้นๆได้จริงๆ  ทักษะ คือ การลดช่องว่างของทักษะมนุษย์กับ GenAI เพราะไม่ใช่แค่การให้ทำงานซ้ำเท่านั้ันแต่มนุษย์ต้องทำให้ GenAI ทำงานที่ซับซ้อนและมีมูลค่ามากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานเคียงคู่กันไปได้หากแก้ปัญหานี้ได้ก็จะนำไปสู่การออกแบบโครงสร้างการทำงานขององค์กรที่มี GenAIอยู่ในแผนผังด้วย

ปัจจัยด้านวัฒนธรรม คือการทำความเข้าใจว่า GenAI ไม่ได้มีผลต่อบทบาทและความก้าวหน้าของแรงงาน แต่ในทางกลับกันจะส่งเสริมให้แรงงานมีผลิตภาพที่ดีและมีความก้าวหน้าได้มากขึ้น 

ปัจจัยสุดท้าย คือ การแสดงมูลค่าทางธุรกิจจากการลงทุน GenAI ตามข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่าอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นอย่างไร  ได้อ้างอิงถึงการสัมภาษณ์ผู้ที่นำGenAI มาใช้ก่อนมากกว่า 20 คนจากหลากหลายอุตสาหกรรมและภูมิภาคทั่วโลก ระบุว่า องค์กรเหล่านี้กำลังแสวงหา GenAI มาใช้ในองค์การเพราะความเชื่อมั่นในผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและยังเชื่ออีกด้วยว่า GenAI จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของงานและประสบการณ์ของพนักงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม รายงานเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาและทดสอบโซลูชันของ GenAI โดยแนะนำให้ดำเนินการในกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่จะนำไปใช้งานกับส่วนอื่นๆขององค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าทำงานได้จริง ช่วยแก้ปัญหาได้จริงก่อนนำไปใช้ในวงกว้าง นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดการความเสี่ยง 

"องค์กรควรออกแบบกระบวนการทำงานของGenAIและการทำงานร่วมกับGenAI ที่มี “มนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง” และควรการจัดตั้งคณะกรรมการหรือสภาภายในที่กำหนดกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และกรอบการทำงานภายใน ตลอดจนประเมินกรณีการใช้งานและพิจารณาผลกระทบต่อความยั่งยืนจากการใช้ GenAI ในโครงสร้างขนาดใหญ่ขององค์กรด้วย" 

นอกจากนี้ รายได้พยากรณ์ความก้าวหน้าของ GenAI ไว้ 2 ประการหลักๆ ได้แก่ ประการแรกเกี่ยวข้องกับระดับความไว้วางใจใน GenAI ซึ่งหมายถึงความเชื่อมั่นที่พนักงานและองค์กรมีต่อเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย GenAI และผลลัพธ์ของเครื่องมือเหล่านั้น รวมถึงความไว้วางใจของพนักงานที่มีต่อนายจ้าง ผู้ให้บริการเทคโนโลยี และรัฐบาล ซึ่งพบว่ายังมีความไม่เสถียรมากพอ ประการที่สองเกี่ยวข้องกับความสามารถในการนำไปใช้และคุณภาพของ GenAI ซึ่งยังคงต้องปรับปรุงต่อไปในระยะสั้นหรืออาจยังคงเท่าเดิม 

โดยหากรวมกันหลักการกำหนดทิศทางของ GenAI ทั้งสองประการไว้ด้วยกัน จะสามารถพยากรณ์ทิศทางในอนาคตได้หลายแนวทางได้แก่  หากโลกที่ความไว้วางใจGenAI น้อย เพราะขาดความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้พลาดโอกาสที่จะสร้างผลิตภาพที่ดีขึ้นในอนาคต แต่ในทางกลับกันหากโลกไว้วางใน GenAIสูงก็อาจไม่เกิดการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก ก็จะส่งผลในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น การรู้จักและใช้GenAI ต้องอยู่บนฐานของข้อมูล ความเป็นจริงและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การใช้ความรู้สึกไว้วางใจหรือไม่เป็นที่ตั้ง 

หากเราไว้ใจและพอใจในGenAIมากเกินไปจนลืมปรับปรุงประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เสี่ยงที่จะเสียโอกาสสร้างสรรค์ผลิตภาพจากแรงงานใหม่ๆไปได้ ซึ่งเทรนด์ที่เห็นได้มากที่สุดในช่วงนี้คือ การพอใจที่จะใช้ GenAI อย่างเข้าใจและปรับปรุงประสิทธิภาพไปพร้อมๆกับการลดช่องว่างทักษะแรงงานที่เป็นมนุษย์ควบคู่ไปด้วยกัน

WEF เปิดลายแทงปั้นแรงงาน  รับมือGenAIเสริมแกร่งศักยภาพองค์กร