'พิพัฒน์' รับ ต่ออายุแรงงานต่างด้าวในไทย ทำไม่ทัน ก.พ.68 จ่อขยายเวลา

'พิพัฒน์' รับ ต่ออายุแรงงานต่างด้าวในไทย ทำไม่ทัน ก.พ.68 จ่อขยายเวลา

"พิพัฒน์" จ่อเสนอ ครม. ขยายยเวลาต่ออายุแรงงานต่างด้าวในไทย ประเมินแล้วทำไม่ทันภายใน ก.พ.68 ตอกหน้า "สส.ปชน." ขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะไม่รู้สัญชาติที่แท้จริง

ที่รัฐสภา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ตอบกระทู้ถามสด ถึงประเด็นการขึ้นทะเบียนและต่ออายุ แรงงานข้ามชาติ ตั้งถามโดย นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ที่ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการเปิดให้ต่ออายุแรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถทำได้ทันตามกำหนดเวลา เพราะมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ว่า มีการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4.9 แสนราย  เมื่อถึงรอบการต่ออายุแรงงาน 13 ก.พ.2568 หากลงทะเบียนไม่ครบ ตนต้องนำเรื่องหารือกับกรมการจัดหางานและเสนอครม.เพื่อขยายเวลาต่อใบอนุญาต ซึ่งการต่อนั้น จะอำนวยความสะดวกไม่ให้ผู้ใช้แรงงานกลับไปในต่ออายุที่ประเทศของตนเอง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่หากไม่ทันจะยืดอายุให้ ส่วนนายจ้างตามบ้านนั้นสามารถลงทะเบียนและยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากไม่สะดวกให้ยื่นผ่านกรมการจัดหางานทั้ง 76 จังหวัดและกทม. ซึ่งสามารถทำได้ในช่วงวันหยุด

นายพิพัฒน์ ชี้แจงต่อว่า ขั้นตอนของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ รวมถึงการตรวจเช็คร่างกายที่โรงพยาบาลซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ามีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้บริการในกรอบเวลาที่กำหนด สามารถทำได้ทัน ทั้งนี้ที่ตั้งข้อสังเกตว่าโรงพยาบาลให้บริการไม่มากนั้น เพราะต้องคัดเลือกโรงพยาบาลที่มีห้องแล็บเพื่อไม่ให้โรคระบาดหลุดรอดมาในประเทศ ซึ่งจาการตรวจเช็คแรงงานชาวเมียนมาร์ที่พบการระบาดของเชื้อโรคอหิวาตกโรคนั้น ล่าสุดพบว่ามีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว 4 คน ทั้งนี้ยอมรับว่าการกำหนดโรงพยาบาลตรวจร่างกาย 69 แห่ง กับจำนวนแรงงานที่ต้องใช้บริการ 2.3ล้านราย และในระยะเวลา 32 วัน คงเป็นไปไม่ได้ทำทัน

“ส่วนที่ต้องตั้งศูนย์ลงทะเบียน ที่ เชียงใหม่ กรุงเทพ และระนอง เป็นข้อเสนอของรัฐบาลเมียนมา เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่หากให้ผมกำหนด จะเสนอให้จังหวัดใดที่มีแรงงานต่างด้าวเกิน 1,000 คน จะกำหนดให้จังหวัดนั้นเป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีเข้าใจว่าที่รัฐบาลเมียนมาต้องกำหนดดังกล่าวเพราะมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีกำลังพอ” นายพิพัฒน์ ชี้แจง

ทั้งนี้ นายสหัสวัส ตั้งคำถามโดยตั้งข้อสังเกตว่าในกรณีที่รัฐบาลไทยทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลทหารเมียนมา และมีการเก็บภาษีให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ถือว่ารัฐบาลไทย เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ เพราะ เก็บภาษีให้รัฐบาลทหารเมียนมาถึงปีละ 9,000 ล้านบาท และด้วยการจำกัดศูนย์ลงทะเบียน และไม่เปิดออนไลน์เชื่อว่าทำให้แรงงานข้ามชาติหนีเอ็มโอยู และหลุดออกนอกระบบจำนวนมาก ทั้งนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว ไม่ต้องให้รัฐบาลทหารเมียนมา ที่เป็นรัฐล้มเหลวเข้ามายุ่งเกี่ยว ในประเทศที่อื่น

โดยนายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า การเก็บภาษีไม่ได้เริ่มเก็บในช่วงนี้ แต่มีการเก็บเพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือ ซีไอ  อย่างไรก็ดีหากไทยทำฝ่ายเดียวจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นชาติเมียนมา สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ จะขอชี้แจงเป็นหนังสือต่อสภาฯ อีกครั้ง