'อนุทิน' แจงสว. ไม่มีใบสั่ง ฮุบที่เขากระโดง ย้ำคำพิพากษาไม่สั่งยึดที่
"นันทนา" ตั้งกระทู้ถามปมที่ดินเขากระโดง แฉ "กก.ม.61" เป็นคนของเพื่อนเนวิน ด้าน "อนุทิน" ยันไม่มีใบสั่ง แจงเหตุที่อยู่อยู่บุรีรัมย์เป็นความจำเป็นทางการเมือง
ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือ ต่อกรณีข้อพิพาทที่ดินพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ตั้งถามนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย
โดยน.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ได้ตั้งถามในประเด็นดังกล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลที่คณะกรรมการที่ดินซึ่งตั้งตามกฎหมายมมาตรา 61 วรรคสองนั้นไม่เพิกถอนโฉนดที่ออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ให้ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตและเพิกถอนที่ดินที่ออกโดยมิชอบเพื่อคืนที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้นเพราะมีความเกี่ยวข้องเป็นกลุ่มเพื่อนเนวิน
"กรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 โดยมีกรรมการ 4 คนหนึ่งในคณะกรรมการนั้นคือ “นายส.” ซึ่งเป็น นายก อบต. ซึ่งตอนลงสมัครใช้ชื่อกลุ่มว่าเพื่อนเนวิน ซึ่งอาจเป็นการแอบอ้างก็ได้ แต่เป็นเรื่องบังเอิญที่มติของกรรมการตามมาตรา 61 มีมติยืนยันไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินด้วยมติเอกฉันท์จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้" น.ส.นันทนา อภิปราย
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่าจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีเสียงเล่าขานว่า รมว.มหาดทไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านบริเวณเขากระโดงหรือไม่ และในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของอธิบดีกรมที่ดิน ดังนั้นขอถามว่ากระทรวงมหาดไทยจะมีมาตรการอย่างไรต่อมติของคณณะกรมการ รวมถึงจะเร่งรัดกรมที่ดินให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ออกโดยมิชอบหรือไม่”น.ส.นันทนา อภิปราย
โดยนายอนุทิน ชี้แจงว่าคำพิพากษาจากศาลฎีกาและศาลปกครองกลางว่าระบุว่าที่ดินกว่า 5,000 ไร่เป็นของ รฟท.นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเป็นข้อมูลที่บิดเบือน เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกานั้นเป็นกรณีที่ราษฎรที่อาศัยในพื้นที่มานาน ซึ่งขอกรมที่ดินออกโฉนดแต่พบว่า รฟท.คัดค้าน เมื่อความไม่ตรงกัน ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าสิทธิในการออกโฉนดของชาวบ้านนั้น ไม่มี ไม่ใช่บอกว่าให้ไปเพิกถอนโฉนด ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฎีกาอย่างครบถ้วนคือไม่มีการออกโฉนดให้
“ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้กระทรวงมหาดไทยที่เป็นหน่วยงานของรัฐไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งจะไม่ปฏิบัติตามของคำพิพากษาของศาล อย่าว่าแต่ศาลฎีกา ศาลชั้นต้นพิพากษามา การอุทธรณ์ฎีกาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้คำพิพากษาดังกล่าวผูกพันและบังคับได้เฉพาะคู่ความ คือราษฎรที่เป็นโจทก์ในคดีนั้นๆไม่อาจเป็นเหตุให้กรมที่ดินไปกระทำการใดๆต่อผู้ถือกรรมสิทธิที่ดินแปลงอื่นๆได้ และศาลไม่ได้วินิจฉัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5,00 ไร่ การอ้างว่าคำพิพากษานั้นเป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมด ถือเป็นการขยายความเกินขอบเขตของคำพิพากษา” นายอนุทิน ชี้แจง
รมว.มหาดไทย ชี้แจงต่อว่า ตามคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา 61 ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยชัดเจนว่าหากอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงได้ผลเป็นเช่นไร ย่อมเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ ดังนั้นกรุณาไปตรวจสอบว่าความในมาตรา 61 ในการตั้งคณะกรรมการมีกำหนดว่าจะต้องตั้งใคร เช่น เหตุเกิดที่เขากระโดงต้องตั้งนายอำเภอ ที่เขากระโดงตั้งอยู่เป็นคณะกรรมการ จะไปเอาคนอื่นที่อยู่นอกพื้นที่เป็นกรรมการไม่ได้
“ส่วนที่ท่านระบุว่าเอา นาย ส. มาเป็นกรรมการนั้น ผมไม่รู้จัก และกล่าวถึงตระกูลชิดชอบ จะรู้จักนายส.หรือไม่ ผมคิดว่าเขาอาจจะรู้จักกัน เพราะเขาทำการเมืองอยู่ในพื้นที่ และคนที่เป็นนายกอบต. เป็นคนการเมือง มีเครือข่ายอาจจะรู้จักกันแต่จะสนิทกันมากน้อยแค่ไหน ผมไม่ทราบ แต่สำหรับผม ผมไม่รู้จักเลย และไม่มีความผูกพัน เกี่ยวพันใดๆ" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน ชี้แจงอีกว่าตนยืนยันว่าตนไม่สามารถสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ร่วมงานในเรื่องที่ไม่มีกฎหมายรองรับหรือเป็นสิ่งผิดได้ และตนไม่เคยทำนับตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตนกำชับอธิบดีกรมที่ดินทั้งวาจา ต่อหน้า และในที่ประชุมว่าให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามกฎหมาย ตามระเบียบและต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินได้ยืนยันว่าการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีความเป็นธรรม และเหตุที่ตนมาชี้แจงครั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีความเกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับใคร และไม่รู้จักกับอธิบดีกรมที่ดิน
“ผมเคยถามอธิบดีกรมที่ดินว่า ถามจริงๆ เหอะ หากผมไม่ได้เป็น มท.1 คำตอบเป็นแบบนี้หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินตอบว่าไม่ว่าใครเป็นมท.1 ผลวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวน และอธิบดีกรมที่ดินสั่งยุติเรื่องเป็นแบบนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นตามหลักฐานที่มีอยู่”
นายอนุทิน ชี้แจงต่อว่าตนขอให้มั่นใจในการทำงานของกระทรวงมหาดไทยและ และตนเอง นั้นเคารพกติกาทุกอย่าง เมื่อมี มีมติคำสั่งกรรมาธิการ ตนพร้อมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ส่วนบัตรประชาชนของตนที่มีที่อยู่อยู่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น เป็นความจำเป็นทางกาเมืองเมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่มีการยกร่างรัฐธรรรมนูญ ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครสส.บัญชีรายชื่อ ต้องมีพื้นเพอยู่ในท้องที่จังหวัดนั้นๆ ทำให้ตนต้องย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่จ.บุรีรัมย์ ไปอยู่ฐานะผู้อาศัย แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ไม่บังคับใช้ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้บังคับไว้แต่ตนไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านกลับมา
“ผมไปทำงานที่บุรีรัมย์เยอะ และรุ้สึกเป็นคนบุรีรัมย์จึงไม่ได้ย้าย หากจะย้ายตอนนี้จะเป็นเรื่องอีก ดังนั้นขอให้สว.นันทนาฐานะผู้ตั้งคำถามให้ทราบ ว่าผมมีเจตนาบริสุทธิ์ทั้งสิ้น” นายอนุทิน กล่าว