เช็คลิสต์ ‘ผู้ต้องโทษคดีทุจริต-112’ ใครเข้าช่อง ‘ขังนอกคุก’
ต้องไม่ลืมว่า “คดีมาตรา 112” ยังมีชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ บิดา “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันศาลอาญา ประทับรับฟ้องคดี และนัดไต่สวนพยานโจทก์ปากแรกในเดือน ก.ค. 2568 อีกด้วย
KEY
POINTS
- ระเบียบ “ขังนอกคุก” ของกรมราชทัณฑ์ เตรียมมีผลบังคับใช้ทางการต้นปี 2568
- ท่ามกลางกระแสวิจารณ์สนั่นส่อเอื้อประโยชน์ให้ “คนตระกูลชินวัตร”
- “ทวี” รมว.ยุติธรรม ยืนกราน “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่เข้าเงื่อนไข เพราะโทษจำคุกเกิน 4 ปี
- แต่เปิดช่องให้ “ผู้ต้องโทษ” คดีทุจริตคอร์รัปชัน และมาตรา 112 ใช้ช่องทางนี้ได้อยู่
- เช็คลิสต์ตอนนี้ใครบ้างที่อาจได้รับผลพลอยได้จากระเบียบฉบับนี้
เป็นอีกครั้งที่ “ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กลางวงสื่อ ยืนยันว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีโทษติดตัวจำคุก 5 ปี ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือ “ระเบียบขังนอกคุก”
แต่ “ทวี” ไม่คอนเฟิร์มว่า ถ้าสุดท้าย “ยิ่งลักษณ์” กลับเข้าไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จนโทษจำคุกต่ำกว่า 5 ปี จะเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยยืนยันว่า เราจะไม่อาจเอื้อมไปถึงเรื่องนั้น เพราะแค่ดูตามหลักเกณฑ์ ก็ไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องเป็นไปตามการพิจารณาของราชทัณฑ์แต่ละแห่ง
ส่วน “ผู้ต้องโทษ” ที่กระทำผิดหรือถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น “ทวี” ระบุว่า “เราอย่าไปกลัวที่จะกล้าหาญในการให้ความเป็นธรรมหากไม่มีอคติ”
เบื้องต้น ทำความเข้าใจ “ระเบียบขังนอกคุก” ของกรมราชทัณฑ์ ที่รับฟังความเห็นไปเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะประกาศมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2568 โดยผู้ต้องโทษที่จะเข้าเงื่อนไขระเบียบนี้จะต้องเป็น “นักโทษเด็ดขาด” ต้องโทษจำคุกครั้งแรก นอกจากนี้โทษจำคุกจะต้อง “ไม่เกิน 4 ปี” แต่ถ้ามีการพระราชทานอภัยลดโทษ ให้ถือเอากำหนดโทษหลังสุด ส่วนหากต้องโทษจำคุกหลายคดี ให้รวมโทษจำคุกทุกคดีมานับ ขณะเดียวกันผู้ต้องขังเหล่านี้จะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงจากกรมราชทัณฑ์แล้วว่า มีความเสี่ยงน้อยที่จะหลบหนี หรือกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก
ส่วนกลุ่มผู้ต้องโทษที่ “ไม่อยู่ในเงื่อนไข” เช่น ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี (คดียังไม่สิ้นสุด) มีประวัติกระทำผิดวินัยในเรือนจำ เป็นผู้ต้องขังกระทำความผิดซ้ำในเรื่องเกี่ยวกับเพศ หรือใช้ความรุนแรง ผู้ต้องขังคดีก่อการร้าย ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับ “ยาเสพติด” รายสำคัญ เป็นตัวการใหญ่ หรือหัวหน้าแก๊งอาชญากรรม เป็นต้น
โดยกระบวนการเข้าสู่เงื่อนไข “ขังนอกคุก” จะต้องผ่าน “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย “อธิบดีกรมราชทัณฑ์” โดยคณะทำงานดังกล่าวจะมี “รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์” ที่ดูแลกองทัณฑวิทยา เป็นประธาน หลังจากนั้นคณะทำงานฯชุดนี้ จะมีการพิจารณาว่า ผู้ต้องขังรายใดบ้างที่เข้าเงื่อนไข ก่อนเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำเห็นชอบ ก่อนจะเสนอชื่อไปถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้เคาะคนสุดท้าย หากรายใดไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องถูกตีชื่อกลับมา และงดเว้นการถูกเสนอชื่อใหม่เป็นเวลา 5 เดือน นอกจากนี้คณะทำงานฯชุดดังกล่าว ยังมีสิทธิเพิกถอนการ “ขังนอกคุก” หากพบว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนาจ หรือผู้ต้องขังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
สำหรับสถานที่คุมขังตามระเบียบฉบับนี้ ระบุไว้ 3 แหล่งหลัก ๆ ได้แก่ กรณีปฏิบัติตามระบบจำแนกและแยกการคุมขัง สามารถคุมขังที่บ้าน หรือพื้นที่เอกชนที่ราชการเช่าใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องระบุสถานที่ได้อย่างชัดเจน กรณีเพื่อพัฒนาพฤติกรรม สามารถคุมขังในสถานที่ราชการอื่น สถานศึกษา สถานที่ทางศาสนา มูลนิธิ เป็นต้น และกรณีรักษาพยาบาล สามารถคุมขังในโรงพยาบาล เป็นต้น
อ่านฉบับเต็ม "ระเบียบขังนอกคุก" คลิกที่นี่
ประเด็นที่น่าสนใจในเงื่อนไข “ระเบียบขังนอกคุก” ดังกล่าว เปิดช่องให้โทษตาม “คดีทุจริตคอร์รัปชัน” สามารถเข้าเงื่อนไขตามระเบียบนี้ได้ หากมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีลงมา ดังนั้นแม้ว่าเบื้องต้น “ยิ่งลักษณ์” ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จะยังไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวก็ตาม
แต่ถ้ามีการเดินเกมให้ “ยิ่งลักษณ์” กลับไทย เพื่อ “ฟื้นคดีจำนำข้าว” ต่อสู้คดีใหม่ในชั้นศาลอีกครั้ง เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันยังเหลือช่องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาคดีได้อีกรอบ “ยิ่งลักษณ์” ก็ยังถือว่า “มีลุ้น” ในคำตัดสินใหม่ครั้งนี้
ส่วน “ผู้ต้องโทษ” คดีทุจริตคอร์รัปชันอื่น ๆ ในเรือนจำ เช่น “วัฒนา เมืองสุข” อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ที่ถูกคำพิพากษาจำคุก 50 ปีในคดีบ้านเอื้ออาทร ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าได้รับการลดโทษลงแล้วหรือไม่ หากสุดท้ายถูกคุมขังและได้ลดโทษไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายต่ำกว่า 4 ปี ก็เข้าช่อง “ขังนอกคุก” ได้เช่นกัน
ขณะที่บรรดา “ผู้ต้องโทษ” ในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ส่วนใหญ่ได้รับการ “พักโทษ” ออกจากเรือนจำมาแล้วหลายราย เช่น บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ “เสี่ยเปี๋ยง” อภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง คีย์แมนสำคัญของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด รวมไปถึงข้อมูลล่าสุด สมคิด เอื้อนสุภา อดีตพนักงานบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ก็ได้รับการพักโทษไปแล้วเช่นกัน
คงเหลืออีกแค่ไม่กี่ราย ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ เช่น มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มเครือข่ายสยามอินดิก้า และโรงสีข้าว ที่ถูกจำคุกไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นต้องรอดูโทษที่เหลืออยู่ว่าจะเข้าข่าย “ขังนอกคุก” หรือไม่
นอกจากผู้ต้องขังคดีทุจริตแล้ว “ทวี” ยังยืนยันว่าผู้ต้องขัง “คดีมาตรา 112” ก็เข้าข่ายตามเงื่อนไข “ขังนอกคุก” เช่นกัน อย่างไรก็ดีหากดูจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่รับทำคดีให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้เสียหาย หรือเหยื่อทางการเมือง เผยแพร่ข้อมูลสถิติว่า นับตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ถึง 20 ต.ค. 2567 มีบุคคลถูกจับกุมข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 20 คน ถูกดำเนินคดี 24 คดี โดยสรุปมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 77 คดี คดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวน 163 คดี
ในจำนวนนี้มีคดีถึงที่สุดแล้ว เช่น “อานนท์ นำภา” ถูกจำคุกในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 6 คดี โทษ 18 ปี 10 เดือน 20 วัน ปัจจุบันเขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และยังยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาในทุกคดี ดังนั้นอาจยังไม่เข้าเงื่อนไข “ขังนอกคุก” ขณะที่แกนนำม็อบคนอื่น ๆ เช่น “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ มี 14 คดี ศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 2 ปี แต่เจ้าตัวหลบหนีคำพิพากษา ลี้ภัยในต่างประเทศ เช่นเดียวกับ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก มีคดีติดตัว 9 คดี ศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 4 ปี แต่ปัจจุบันลี้ภัยไปต่างประเทศแล้ว
ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี เช่น “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มี 10 คดี เบนจา อะปัญ 8 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 6 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ วรรณวลี ธรรมสัตยา เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี ส่วน “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อดีตแกนนำม็อบช่วงปี 2563-2564 แต่ปัจจุบันเขาอ้างว่ากลับตัวกลับใจ และยอมรับคำสารภาพทุกข้อหา มีคดีติดตัว 8 คดี
ต้องไม่ลืมว่า “คดีมาตรา 112” ยังมีชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ บิดา “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันศาลอาญา ประทับรับฟ้องคดี และนัดไต่สวนพยานโจทก์ปากแรกในเดือน ก.ค. 2568 อีกด้วย
ทั้งหมดคือลิสต์ของ “ผู้ต้องโทษ-ผู้ถูกกล่าวหา” ในคดีทางการเมือง-ทุจริต-มาตรา 112 ที่อาจได้รับผลประโยชน์จาก “ระเบียบขังนอกคุก” ฉบับที่กำลังจะคลอดอย่างเป็นทางการต้นปี 2568 ดังนั้นต้องจับตาดูว่ากระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปตามที่ “ทวี” ยืนยันว่า ระเบียบฉบับนี้ออกมาเพื่อ “อำนวยความยุติธรรมผู้ต้องขัง” หรือสุดท้ายจะเป็นการ “เอื้อใครบางคน” หรือไม่