ปธ.กกต.บอก 'ทักษิณ' ใช้นโยบายรัฐหาเสียงเวทีท้องถิ่น ก้ำกึ่งผิด กม.หรือไม่

ปธ.กกต.บอก 'ทักษิณ' ใช้นโยบายรัฐหาเสียงเวทีท้องถิ่น ก้ำกึ่งผิด กม.หรือไม่

ประธาน กกต.ไม่ฟันธง 'ทักษิณ' ใช้นโยบายรัฐหาเสียงเวทีเลือกตั้งท้องถิ่น ก้ำกึ่งผิดกฎหมายหรือไม่ เตือน สส.-รมต.ช่วยหาเสียง ต้องใช้เวลานอกราชการ ยังไม่ได้รับรายงานปม 'ซุ้มมือปืน'

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการปราศรัยหาเสียงของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่มีการปราศรัยหาเสียงหยิบยกนโยบายรัฐบาลไปพูดในเวที ว่า การหาเสียงจะต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ห้ามฝ่าฝืนกฎหมายและห้ามปราศรัยใส่ร้ายผู้อื่น ไม่เข้าข่ายหลอกลวง หากอยู่บนพื้นฐานดังกล่าวสามารถทำได้

เมื่อถามว่า สามารถหยิบยกนโยบายของรัฐบาลหาเสียงได้ใช่หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า เป็นความก้ำกึ่งเพราะครั้งนี้การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การพูดที่มีความเกี่ยวข้องอาจจะจำเป็น หรืออาจสามารถรับฟังได้ในบางครั้งแต่ทุกอย่างอยู่ในการรับรู้ตรวจสอบของสำนักงาน กกต.อยู่แล้วในทุกด้านและทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ปกติมีการมอนิเตอร์การปราศรัยอยู่แล้ว

“เนื่องจากมีรูปแบบการทำงานของสำนักงาน กกต.ทุกจังหวัด ขณะเดียวกันมีการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้นการติดตามการกระทำที่อาจจะเป็นการฝ่าฝืนการเลือกตั้งอยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานและรายงานตามลำดับชั้น ตอนนี้ยังไม่มีรายงานถึงความผิดปกติใด แต่คาดว่าการหาเสียงจะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ” นายอิทธิพร กล่าว

เมื่อถามว่า สส.กับรัฐมนตรีสามารถช่วยหาเสียงได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่จะต้องแจ้งให้ กกต.ทราบว่าเป็นผู้ช่วยหาเสียง หากหาเสียงในเวลาราชการก็จะต้องบริหารเวลาให้ดี เพราะอาจจะเข้าข่ายทำไม่ถูกตามระเบียบราชการ

เมื่อถามว่า นายทักษิณไปหาเสียงประกาศค่าไฟจะลดเหลือ 3.70 บาท และต่อมารัฐบาลขานรับจะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า จะต้องดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งจึงไม่สามารถตอบในขณะนี้ได้ทันที เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวนสืบสวน หากเป็นคำร้องที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองก็เป็นหน้าที่ของเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนที่ต้องดูว่าข้อเท็จจริงที่มีขึ้นว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายใดหรือไม่

นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า หากเห็นสมควรว่าต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก็มีการตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ มี 2 ชุด หากเป็นการทำฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งก็จะเป็นคณะกรรมการไต่สวนสืบสวน หากเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองก็จะเป็นการตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน

เมื่อถามประเด็นการรายงานเกี่ยวกับซุ้มมือปืน ประธาน กกต.กล่าวว่า ซุ้มมือปืนได้ยินมาแต่เด็ก ๆ โดย กกต.ได้รับความร่วมมือจากตำรวจทุกจังหวัด เพราะเป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญ เอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเลือกตั้ง กกต.มีชุดเคลื่อนที่เร็ว ทำงานร่วมกับผู้ตรวจการเลือกตั้งและทีมงานระดับจังหวัด เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ประสานงานโดยปกติในพื้นที่ทุกที่

ประธาน กกต.กล่าวด้วยว่า หากบางแห่งมีความเข้มข้นมาก ตำรวจในจังหวัดขอความร่วมมือจากตำรวจในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมีให้เห็นตัวอย่างแล้วในหลายจังหวัด เช่น จ.ชุมพร เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเคลื่อนไหวใด อยู่ในกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายในด้านการข่าวให้มีความชัดเจนก่อน