แอมเนสตี้ฯ กังวลปมอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชาถูกสังหาร จี้ไทยสอบสวนโปร่งใส

แอมเนสตี้ฯ กังวลปมอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชาถูกสังหาร จี้ไทยสอบสวนโปร่งใส

'แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย' ออกแถลงการณ์กังวล หลัง 'ลิม กิมยา' อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถูกสังหารกลาง กทม. สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ขอทางการไทยสอบสวนอย่างโปร่งใส รอบด้าน เป็นกลาง

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์กังวลถึงเหตุสังหาร ‘ลิม กิมยา’ อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ในไทย สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ขอทางการไทยสอบสวนอย่างโปร่งใส รอบด้าน และเป็นกลาง

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า จากกรณีเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายลิม กิมยา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party - CNRP) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านของกัมพูชา และมีสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศส ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเกาะกลางถนน ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นชายชาวไทยได้หลบหนีออกนอกประเทศหลังการก่อเหตุ แต่ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้แล้วในประเทศกัมพูชา 

เคท ชูเอตเซ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่าการเสียชีวิตของนายลิม กิมยา ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่น โดยเฉพาะเมื่อมองในบริบทที่เขาเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชา 

“นี่เป็นการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการเสียชีวิตของนายลิม กิมยา อดีต สส. พรรคฝ่ายค้าน เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองในกัมพูชาโดยตรงหรือไม่ แต่การสังหารนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ทางการกัมพูชายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีปิดกั้นและคุกคามเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย” เคท ระบุ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอให้ทางการไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์นี้อย่างเร่งด่วน โปร่งใส รอบด้าน และเป็นกลาง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยต้องไม่ใช้โทษประหารชีวิต ทั้งยังเน้นย้ำให้รัฐบาลไทยเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการรับรองความปลอดภัยของบุคคลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา โดยเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค และเน้นย้ำว่าความยุติธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของทุกคน 

ทั้งนี้ ตามรายงานของสื่อ นายลิม กิมยา อดีตสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศส ถูกมือปืนยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 เหตุเกิดขึ้นหลังจากที่นายลิมเดินทางจากเมืองเสียมเรียบในกัมพูชามาถึงกรุงเทพฯ ด้วยรถบัส พร้อมภรรยาและลุงของเขา ทางการไทยได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นอดีตทหารนาวิกโยธินไทย ฐานก่อเหตุสังหารดังกล่าว 

นายลิม กิมยา เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ในปี 2556 และยังคงอาศัยอยู่ในกัมพูชาหลังจากที่พรรคถูกสั่งยุติการดำเนินงานในปี 2560 สมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชา รวมถึงผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้านอื่น ๆ ที่ถูกสั่งยุติการดำเนินงาน ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ โดยมีหลายคนถูกจับกุมและจำคุก

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาเมื่อปี 2566 พบว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพรรครัฐบาลต้องเผชิญกับการคุกคาม ข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย และการจำคุก ตัวอย่างเช่น นักกิจกรรมของพรรคการเมืองถูกทำร้ายด้วยกระบองเหล็กในที่สาธารณะ และในปี 2564 มีนักกิจกรรมคนหนึ่งถูกแทงจนเสียชีวิต ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการโจมตีที่มีเป้าหมาย 

นักกิจกรรมชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยในประเทศไทยก็ไม่พ้นการถูกคุกคาม รวมถึงการเฝ้าติดตาม ข่มขู่ และบังคับส่งตัวกลับประเทศโดยทางการไทย เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ลี้ภัยผู้ใหญ่ 6 คน และเด็กอายุ 5 ขวบ 1 คน ถูกส่งตัวกลับกัมพูชาโดยใช้กำลัง ซึ่งสร้างความกังวลต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค 

ในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว บุคคลสำคัญฝ่ายค้าน นักกิจกรรม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่พยายามลี้ภัยต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว การบังคับให้สูญหาย การสังหาร หรือการส่งตัวกลับไปยังประเทศที่พวกเขาอาจถูกประหัตประหารและเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรภาคประชาสังคม ได้เรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคและประชาคมโลกดำเนินการยุติการปราบปรามข้ามชาติที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลไทยและกัมพูชาในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน โปร่งใส ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระ รวมถึงนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

อ่านรายละเอียด: คลิกที่นี่