'วิโรจน์' โชว์วิชั่น 4 ข้อ ค้านไอเดียจ่ายเงินแลกไม่เป็นทหารเกณฑ์
'วิโรจน์' โชว์วิชั่น 4 ข้อ ค้านปม ผบ.นรด.ผุดไอเดียจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ แลกไม่ต้องเป็นทหารเกณฑ์ ชี้ควรลงทุนในงบป้องกันประเทศ มีประสิทธิภาพสูง ลดกำลังพลลงได้ แถมแซะก่อนหน้านี้มีจ่ายใต้โต๊ะปีละ 4 พันล้านบาท แต่ดันจะเอาขึ้นมาบนดิน
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย กรณีแนวคิดจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ แลกกับการไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ โดยระบุว่า หลังจากที่ พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) ได้เปรยถึงความเห็นส่วนตัว โดยเสนอว่า "ถ้าใครที่ไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ ก็ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อจะได้เอาเงินในกองทุนมาเพิ่มเติมค่าตอบแทนให้คนที่สมัครใจสมัครเข้ามาเป็นพลทหาร" ตนมีทรรศนะในเรื่องนี้ อยู่ 4 มุมมองด้วยกัน
1. พล.ท.ทวีพูล น่าจะยังคงคิดในกรอบที่ว่าจำนวนพลทหารยังคงต้องมีเท่าเดิม ใช่ครับถ้ายังคงคิดว่าพลทหารต้องมีเท่าเดิม การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับพลทหาร ย่อมต้องใช้งบประมาณมหาศาล ผมจึงเสนอว่าต้องมีการทบทวน และประเมินกันเสียใหม่ว่า ประเทศจำเป็นต้องมี "พลทหาร" ในแต่ละปี จำนวนเท่าไหร่ ต้องนำไปใช้ใน Function อะไร ที่สอดรับกับบริบทความมั่นคงใหม่ และภัยคุกคามใหม่ของประเทศ และภูมิภาค ซึ่ง TDRI ได้เคยเสนอให้ลดการเกณฑ์ทหารลงครึ่งหนึ่งมาแล้ว หากปรับจำนวนพลทหารลดลง ด้วยงบประมาณที่มีอยู่เท่าเดิม ก็อาจจะเพียงพอ หรือถ้าต้องเพิ่มเติมก็อาจเพิ่มเติมไม่มากนัก ในการที่จะนำไปปรับปรุงค่าตอบแทนและสวัสดิการให้กับผู้ที่สมัครใจที่จะสมัครเข้ามาเป็นพลทหาร
2. การปรับลดจำนวนพลทหาร อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับการลงทุนในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งกระทรวงกลาโหม ก็สามารถเสนอ Road Map และเปิดเผยต่อสาธารณะตามสมควรได้ว่าเราต้องลงทุนในวิทยาการสมัยใหม่ด้านใดบ้าง อาทิ ยานไร้คนขับ (Unmanned Vehicle) และกล้อง AI เป็นต้น เพื่อให้สามารถลดกำลังพลลงได้ ในขณะที่กำลังพลที่ลดลง ก็สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย แล้วก็เดินนโยบายตามแผนที่เสนอ โดยมี Timeline ที่ชัดเจน หากมีแผนการลดกำลังพลที่ชัดเจน โดยต้องมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่มีทั้งความปลอดภัยต่อกำลังพล และประสิทธิภาพที่สูงกว่ามาทดแทน เชื่อว่าประชาชนคงไม่ติดขัดอะไร
3. สิ่งที่ พล.ท.ทวีพูล เปรย จริงๆ ก็สะท้อนถึงการเรียกรับผลประโยชน์ จากการเกณฑ์ทหาร ที่ประชาชนก็รู้ดีในวงกว้างอยู่แล้ว ทั้งการจ่ายสินบนให้กับสัสดีบางนาย ประมาณหัวละ 50,000 บาท เพื่อแลกกับการไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ซึ่งหากประเมินกันว่าในปีๆ หนึ่งมีประชาชนตกเป็นเหยื่อราว 40,000 คน มูลค่าของส่วยก้อนนี้ ก็ตกอยู่ราวๆ 2,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีพลทหารที่พอเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร แล้วถูกส่งตัวกลับบ้าน โดยแลกกับการยกเงินเดือนให้นาย หากประเมินว่ามีอยู่ราวๆ 20,000 นาย ผลประโยชน์ในส่วนนี้ก็น่าจะอยู่ที่ปีละ 20,000 นาย x เงินเดือน 10,000 บาท x12 เดือน = 2,400 ล้านบาท รวมสองก้อนเข้าด้วยกันส่วยไพร่ก้อนนี้ นี่ถือเป็นเงินผลประโยชน์สูงถึงปีละ 4,000 ล้านบาท เราคงไม่สามารถเอาการคอร์รัปชั่น ที่เป็นการรีดนาทาเร้นทำนาบนหลังคนของเหล่าบรรดานายพลจำนวนไม่น้อย มาทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายได้
4. คิดว่าอีกเรื่องที่จะช่วยทำให้คนสมัครเข้ามาเป็นพลทหารได้มากขึ้น ก็คือ การที่กระทรวงกลาโหมเอาจริงเอาจังกับการคุ้มครองสวัสดิภาพของพลทหาร มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย อย่างจริงจังกับนายทหารระดับบังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมซ้อมทรมานพลทหาร และนายทหารระดับปฏิบัติการ มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ กับนายพลที่เอาพลทหารไปใช้ในกิจการส่วนตัว หรือนำตัวเอาไปเป็นคนรับใช้
"ถ้ากระทรวงกลาโหมจริงจังในเรื่องนี้ มองเห็นคุณค่าของชีวิตพลทหาร เป็นมนุษย์เทียบเท่ากับนายพล ผมเชื่อว่าอัตราการสมัครใจเข้ามาเป็นพลทหารจะเพิ่มมากขึ้น เพราะมีคนจำนวนมากเขาต้องการมาเป็นทหาร แต่เขาไม่ได้ต้องการมาเป็นคนรับใช้ ไม่ได้ต้องการมาเป็นทาสรองรับอารมณ์ของใคร" นายวิโรจน์ ระบุ
นายวิโรจน์ ระบุด้วยว่า ลองดูการเปิดรับสมัครลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานราชการอื่น ๆ รายได้ไม่ได้แตกต่างจากเงินเดือนพลทหารเลย แต่อัตราการแข่งขันสูงมาก มีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า ภาคกระทรวงกลาโหม เอาจริงเอาจัง ในเรื่องการคุ้มครองดูแลสวัสดิภาพของพลทหาร อัตราการสมัครเข้ามาเป็นพลทหารแบบสมัครใจต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ปัจจุบันประชาชนก็วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูแล้วว่า "คุกมีเอาไว้ขังคนจน" หากมีระบบ ให้คนจ่ายเงิน โดยไม่ต้องเกณฑ์ทหารได้ ทีนี้ล่ะครับ "จะไม่ใช่แค่คุกแล้วที่มีไว้ขังคนจน แต่ค่ายทหารก็จะมีไว้ขังคนจนเหมือนกัน" และคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยิ้มรอไว้เลย ก็คือเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่เตรียม ปล่อยเงินกู้ให้คนจนไปจ่ายส่วยไพร่ ซ้ำเติมปัญหาความยากจน และปัญหาหนี้ครัวเรือนเข้าไปอีก
อ่านรายละเอียด: คลิกที่นี่