ผู้ช่วยหาเสียงสไตล์ ‘ทักษิณ’ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
น่าแปลก ที่ “ผู้ช่วยหาเสียง” คนไหน ก็ไม่ถูกจับจ้องเอาผิดได้มาก เท่ากับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดา นายกรัฐมนตรี “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
ไม่ว่าจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครพรรคประชาชน(ปชน.) หรือแม้แต่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัคร จากเพื่อไทย ก็ตาม
เป็นความน่าแปลก ที่ชวนหาคำตอบอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะล่าสุด ร้อนถึง “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หลีกไม่พ้น ต้องตอบคำถามเรื่องนี้
กรณีสื่อตั้งคำถาม ประเด็นที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุว่า การปราศรัยหาเสียงนายก อบจ.ของ “ทักษิณ” มีความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย พรรคเพื่อไทยจะมีการปรับอะไรหรือไม่
“นายกฯอิ๊งค์” ชี้แจงว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไร แต่ไปในฐานะผู้ช่วยหาเสียง และนโยบายของพรรคเพื่อไทยกับรัฐบาล ก็มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว ในส่วนของตนนั้นหากจะลงพื้นที่ช่วยหาเสียงอย่างไร ก็ต้องทำตามกฎหมาย เอาให้ถูกกฎหมายทุกอย่าง
ทั้งนี้ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เห็นว่า กรณี “ทักษิณ” นำเอานโยบายรัฐบาลมาปราศรัย เป็นเรื่อง “ก้ำกึ่ง” หมายถึง การกระทำดังกล่าวยังไม่สามารถชี้ชัดได้ในทันทีว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ โดยต้องพิจารณาบริบทและหลักฐานข้อเท็จจริง อย่างละเอียดถี่ถ้วน
กรณีที่กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอยู่ในเวลานี้ เนื่องจาก “ทักษิณ” ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย เพื่อสนับสนุน สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งการปราศรัยครั้งนี้ “ทักษิณ” พูดถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้จากนโยบายของรัฐบาลหลายเรื่อง
เช่น การแจกเงินผู้สูงอายุ 10,000 บาท, การลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย, การแก้ไขปัญหายาเสพติดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ
ประเด็นอยู่ที่ว่า หลังการปราศรัยดังกล่าว รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และบุตรสาวทักษิณ ได้ประกาศแจกเงิน 10,000 บาทให้ผู้สูงอายุ ประมาณ 29 มกราคม 2568 หรือ 3 วันก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
ประเด็นที่เห็นว่า เสี่ยงผิดกฎหมายก็คือ ใช้ นโยบายรัฐ เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งขัดกฎหมายเลือกตั้ง
เพราะความเชื่อมโยงระหว่าง “นโยบายรัฐ” และการหาเสียง การใช้ทรัพยากรของรัฐหาเสียง การยกนโยบายแจกเงินและลดค่าไฟฟ้ามาพูดในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น โดยบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอย่าง “ทักษิณ” ทำให้เกิดข้อกังขาว่า การใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยอาจไม่เป็นธรรม
เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า หากไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อาจไม่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ถือว่าได้เปรียบพรรคอื่น หรือกลุ่มอื่นที่ไม่มีอำนาจในการประกาศนโยบายลักษณะเดียวกัน การกล่าวถึงโครงการที่ยังไม่อนุมัติ นโยบายบางประการยังไม่ผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการ อาจเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจการเลือกตั้ง
ส่วนความผิดกฎหมายเลือกตั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐและการสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจประชาชนอย่างชัดเจน
กล่าวคือ มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการใดๆ อันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยให้ สัญญาว่าจะให้ หรือ เตรียมการที่จะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และ (5) ระบุว่า การหลอกลวงบังคับขู่เข็ญใช้อิทธิพลทุกคำใส่ร้ายความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมผู้สมัคร
ดังนั้น การปราศรัยที่เกี่ยวกับการปรับลดค่าไฟฟ้า หรือการแจกเงิน 10,000 บาท ในช่วง 3 วันก่อนวันเลือกตั้ง อบจ. การประกาศในช่วงหาเสียง อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่า การเลือกพรรคเพื่อไทยจะได้รับเงินทันที อาจถูกมองว่า เป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเสียง ซึ่งอาจขัดต่อมาตรานี้
มาถึงตรงนี้ ทำให้ประเด็นที่ประธาน กกต. เห็นว่า “ก้ำกึ่ง” มีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงการกระทำที่อยู่ในพื้นที่สีเทาของกฎหมาย ซึ่งอาจมีการตีความได้หลายแง่มุม โดยขึ้นอยู่กับหลักฐาน ข้อเท็จจริง และเจตนาในการกระทำ เมื่อมีข้อสงสัยว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง กกต.จะต้องตรวจสอบอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็นขั้นตอนดังนี้
บุคคลหรือพรรคการเมืองคู่แข่งสามารถร้องเรียนต่อ กกต.ได้ และ กกต.สามารถดำเนินการตรวจสอบได้เอง หากพบข้อสงสัยในสื่อหรือจากการติดตามสถานการณ์
ที่น่าสนใจ หากกกต.รับคำร้องเอาไว้พิจารณา ก็จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทำการเก็บรวบรวม หลักฐาน เช่น วิดีโอปราศรัย เนื้อหาการปราศรัย ข้อมูลการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล ความเชื่อมโยงระหว่างคำพูดของ “ทักษิณ” กับการขานรับของรัฐบาล
อีกทั้งต้องมีการเรียกพยานทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง รวมถึงจะต้องตรวจสอบด้วยว่าข้อมูลทั้งหมดเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น หรือไม่ ก่อนส่งเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา
นอกจากนี้ ระเบียบกกต.เกี่ยวกับ “ผู้ช่วยหาเสียง” ก็นับว่าน่าสนใจ
ที่สำคัญ นับแต่ ข้อ 4 ให้ความหมายของ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ หมวด 3 ผู้ช่วยหาเสียง ข้อ 15 ผู้สมัครที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงเพื่อช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเก็บรวบรวมเอกสารที่ผู้สมัครแจ้งมานั้นไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
การหาเสียงเลือกตั้งของผู้ช่วยหาเสียงตามวรรคหนึ่ง ผู้สมัครสามารถจัดหาเสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่มสำหรับผู้ช่วยหาเสียง และให้ผู้สมัครต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
ในกรณีผู้สมัครไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียงจะดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้มิได้
กรณีการแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งในการเลือกตั้งนั้น ให้ผู้สมัครดำเนินการแจ้งไม่เกินสามครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนั้น
ข้อ 16 ในกรณีบุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครตามหมวดนี้ เข้าช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครแจ้งเหตุการณ์นั้นให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว
ส่วนสิ่งที่ ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ จะ ‘ทำไม่ได้’ คือ ห้ามทำผิดกฎหมายเหมือนกับผู้สมัครฯ ห้ามทำ เช่น ห้ามแจกเงินซื้อเสียง ห้ามหาเสียงด้วยวิธีการใส่ร้าย หาเสียงด้วยถ้อยคำสุภาพ ห้ามจัดเลี้ยง ห้ามจัดงานมหรสพและจัดงานรื่นเริง เพราะกฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใด’
“ขึ้นเวทีปราศรัยได้ ปราศรัยช่วยได้ แต่ปราศรัยแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องดูถ้อยคำนั้นๆ ของผู้ช่วยหาเสียงแต่ละคน ถ้าผู้ช่วยหาเสียงคนนั้นปราศรัยแล้วใช้ถ้อยคำที่ผิดกฎหมาย ถ้าผู้สมัครฯ ยืนอยู่ข้างๆ แสดงกิริยา หรือแสดงถ้อยคำปรากฏออกมาเลยว่า ไม่ยอมรับการกระทำนี้ หรือแก้ไขถ้อยคำที่ผู้ช่วยหาเสียงคนนั้นพูดทันที ผู้ช่วยหาเสียงผิดคนเดียว ผู้สมัครฯไม่ผิด แต่ถ้าผู้สมัครฯไม่แก้อะไรเลย ถือว่ายอมรับการกระทำของผู้ช่วยหาเสียง ถือว่าผู้สมัครฯยอมรับเอาประโยชน์นั้นก็จะผิดทั้งคู่”
ทั้งนี้ หมวด 5 กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 22 ห้ามผู้สมัครดำเนินการ หรือยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดดำเนินการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ 23 ห้ามผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้
แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ / แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้มีการระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้อย่างชัดเจน
ใช้พาหนะต่างๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่มิได้แจ้งรายละเอียดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบตามแบบที่กำหนดท้ายระเบียบ
หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่
ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามปกติประเพณีต่าง ๆ
หาเสียงเลือกตั้งโดยนำชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือภาพบุคคล โดยมิได้มีหนังสือให้ความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น
จงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ กรณี “ทักษิณ” ถือว่า “ยาก” ที่จะเอาผิดตามระเบียบ กกต. แม้ว่า จะมีการพูดนอกเหนือจากการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ ถ้าจะเอาผิดได้ก็ต้องเกิดความผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง
ความจริง ถ้าใครติดตามสไตล์การพูด หรือการแสดงออกทางการเมืองของ “ทักษิณ” ก็จะรู้ว่า เป็นคนที่พูดแบบ “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว” หรือพูดทั้งทีจะต้องได้ประโยชน์มากกว่าเรื่องที่ไปพูด ทั้งประเด็นที่พูดยัง “หวือหวา” ชิงพื้นที่ข่าวได้เสมอ ทั้งด้วยบารมีเฉพาะตัวในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และความเชี่ยวชำนาญทางการเมือง ที่สำคัญ เวลานี้ยังเป็น “บิดา” นายกรัฐมนตรีด้วย
อย่างการเป็นผู้ช่วยหาเสียง ให้ผู้สมัคร นายก อบจ. ที่ผ่านมา “ทักษิณ” พูดทุกเรื่องที่กำลังเป็นกระแส ไม่ว่าเรื่องบวก หรือ ลบ กับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล อันเป็นการสื่อสาร ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ในแบบของ “ทักษิณ” ซึ่งมีทั้งเหน็บแนมแกมประชด ที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ถูกใจชาวบ้าน เรียกเสียงหัวเราะ เสียงปรบมือไม่ขาดสาย ก่อนจะตบท้าย มาหาเสียงช่วยใคร พร้อมเอาตัวเองเป็นการันตีการทำงานของคนคนนั้น
ประเด็นสำคัญ “ทักษิณ” รู้ดีกว่าใคร ว่าพูดอย่างไร แค่ไหน ที่จะไม่ทำให้ผิดกฎหมาย เพราะประสบการณ์ล้นเหลือ นี่คือ “สทร.” ที่น่ากลัวของคู่แข่งทางการเมือง ไม่เชื่อก็ติดตามกันต่อไป