ไทยยกระดับ ร่วมมือ 5 ประเทศ ปราบ ‘สแกมเมอร์-คอลเซ็นเตอร์’
อยากให้ทุกประเทศเพื่อนบ้านร่วมกัน เนื่องจากปัญหา สแกมเซ็นเตอร์ คอลเซ็นเตอร์ ในภูมิภาคนี้ ไม่ได้หลอกแค่คนไทย แต่ยังหลอกคนชาติอื่นด้วย วาระเรื่องการปราบปราม จึงอยากให้พูดคุยกัน เพื่อประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจัง
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ให้สัมภาษณ์รายการ คมชัดลึก ทางเนชั่นทีวี ถึงการเดินหน้าแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ในระดับนโยบายและปฏิบัติการในปี 2568 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
ในฐานะที่กำกับดูแล สอท. พล.ต.ท.ไตรรงค์ เชื่อมั่นว่าทำได้ และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการปราบปราม ป้องกันให้เกิดเหตุน้อยลง โดยทางรัฐบาลมอบหมายให้รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธานคณะกรรมการ ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีการประชุมกันทุกเดือน
ขณะนี้ รองนายกฯ กำลังเสนอร่างพ.ร.ก.ฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาสาระครอบคลุมการบังคับใช้กับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ว่าต้องมีหน้าที่อย่างไรบ้าง และต้องร่วมรับผิดชอบอย่างไรบ้าง รวมถึงขยายไปถึงพวกที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี ตรงนี้ช่วยได้มาก
โดยเฉพาะปัจจุบัน หลังจากที่ธนาคาร ร่วมกับทางภาครัฐ มีการกำหนดที่จะชะลอการโอนเงิน อย่างเช่น การใช้ระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง จากเดิมมีการโอนเงินแบบไม่อั้น ปัจจุบันหากโอนเกินกว่า 50,000 บาทต้องสแกนใบหน้า การเปิดบัญชีครั้งแรกใน 45 วันแรกต้องสแกนยืนยันตัวตน ซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่องบัญชีม้าลงไปในระดับหนึ่ง
แต่หลังจากนั้น พวกอาชญากรก็ปรับตัว เริ่มมีการอัปเกรด จากบัญชีม้าที่ขายบัญชีทิ้ง มาเป็น “ม้ารู้” คือรู้ว่าขายบัญชีเสร็จ ก็ต้องไปสแกนใบหน้า ดังนั้นสแกมเซ็นเตอร์(Scam Center) หรือศูนย์ที่จัดตั้งไว้ ตอนนี้ก็พัฒนาเป็นศูนย์โอนเงิน แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เป็นการพัฒนาเพื่อหลบเลี่ยง ทำให้ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้เกี่ยวข้องในแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องร่วมมือกัน เพราะคนร้ายปรับวิธีการ
อีกทั้งปัจจุบันบัญชีเริ่มเดินยาก จึงไปสู่การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เราก็มีการแก้กฎหมายฉบับใหม่ ที่จะดำเนินการกับการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี โดยเฉพาะการซื้อขายแบบ P2P ไม่ผ่านบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.จะทำไม่ได้
คณะกรรมการที่มี รมว.ดีอี เป็นประธาน เรามีการประชุมกันทุกเดือน เรามีการกำหนดแบบของธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด 19 ข้อ ครั้งล่าสุดเสนอเพิ่มอีก 2 ข้อ โดยฝ่ายธนาคาร 1 ข้อ ฝ่ายตำรวจ 1 ข้อ ขณะนี้บังคับใช้อยู่ ถ้าการโอน หรือทำธุรกรรมทางการเงินเข้าข่ายน่าสงสัย ธนาคารสามารถระงับการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราวได้เลย หลังจากนั้นจะส่งเรื่องต่อให้ตำรวจ ถ้าประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อไปแจ้งความเป็นคดี ตำรวจก็จะอายัดต่อ จนกว่าจะหมดเขต ต้องสงสัย หรือจะสิ้นสุดคดี
ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ก็สามารถระงับยับยั้งได้บางส่วน แต่ด้วยความทันสมัยของการโอนเงินในปัจจุบันที่รวดเร็วมาก ดังนั้น ความสำคัญของการที่จะได้เงินคืนหรือไม่ คือประชาชนตระหนัก หรือเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกช้าหรือเร็ว ถ้ารู้ตัวทันที โทรไปธนาคาร แล้วธนาคารเห็นว่าเข้าลักษณะต้องสงสัย ตามเคสที่คุยกันไว้ ก็จะอายัดให้ชั่วคราวเลย อย่างนี้ถือว่าเร็ว แต่ถ้าโอนไปแล้ว 5 -10 นาที ครึ่งชั่วโมง หรือวันหนึ่ง กว่าจะรู้ เงินมันเดินไวมาก ทันทีที่โอนมันเดินเลย และเดินตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ฉะนั้นเรื่องแรกคือ รู้ได้ไวขนาดไหน แจ้งไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ไวขนาดไหน เบอร์เดียวที่ควรโทรไปก่อนคือ 1441 ศูนย์รับแจ้งเหตุอาชญากรรมออนไลน์ ของรัฐบาล ที่มีตำรวจไซเบอร์ไปประจำอยู่ด้วย 24 ชั่วโมง จะดำเนินการอายัดบัญชีเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว ทั้งบัญชีผู้เสียหาย บัญชีปลายทางตลอดแนวเส้นเงิน ให้หยุดธุรกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าเส้นนี้จะโอนไปกี่ธนาคาร จะฟรีซหมด ส่วนใหญ่ถ้ารู้ตัวเร็ว เงินก็ยังค้างท่อ
นอกจากนี้ ตำรวจไซเบอร์ยังได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุม ให้ไปคุยกับทางธนาคาร เรื่องเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการ ที่จะระงับยับยั้งไม่ให้เงินออกไปเป็นคริปโตเคอเรนซีได้รวดเร็ว ว่าจะมีวิธีการอย่างไร เราได้คุยกันแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างให้ธนาคารตกผลึกกัน และจะนำเสนอคณะกรรมการฯ ระหว่างที่รอพ.ร.ก.ฉบับใหม่ หากตัดวงจรตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง ก็จะช่วยได้
ผนึก 5 ประเทศร่วมมือแก้ปัญหา
สำหรับการประสานงานกับทางการ ประเทศเพื่อนบ้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการประสานการปฎิบัติกันโดยตลอด ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว 2567 โดย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ขณะนั้นรับผิดชอบศูนย์ฯ ได้นำคณะเดินทางไปพูดคุยกับทางตำรวจประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีการนัดหมายกันว่าจะเปิดปฏิบัติการร่วมกันก็รอสัญญาณอยู่
เรื่องนี้ต้องคุยกันในหลายมิติ ในสแกมเซ็นเตอร์ ก็มีทุกที่ ทั้งในประเทศไทยเราเองก็มี เพียงแต่เรายืนยันว่า เราปราบปรามอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล และ ผบ.ตร.
"อยากให้ทุกประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคร่วมกัน เนื่องจากปัญหาสแกมเซ็นเตอร์ไม่ได้หลอกแค่คนไทย แต่ยังหลอกคนชาติอื่นด้วย จึงอยากขอความร่วมมือ ซึ่งพล.ต.อ.ธัชชัยได้มอบหมายให้ผม พูดคุยกับทางอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและทางทูตจีน เมื่อวันก่อนทางจีนก็มาพบกับท่านธัชชัยและมีการพูดคุยกัน เพื่อยกระดับความร่วมมือประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ก็จะมี จีน เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และไทย ซึ่งไทยไม่ได้เป็นสมาชิกในภาคีลุ่มแม่น้ำโขง เราเป็นผู้สังเกตการณ์ จึงอยากเสนอให้มีการนำวาระเรื่องการปราบปราม โดยเฉพาะเรื่องสแกมเซ็นเตอร์ คอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งในประเทศเราด้วยมาพูดคุยกัน เพื่อประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังและจริงใจ"
"อยากให้มีความร่วมมือระดับระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค เพราะเป็นความผิดที่มีความเกี่ยวพันกับผู้กระทำความผิดหลายกลุ่มมีผู้ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบหลายประเทศ" พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว
* วางมาตรการทั้งเชิงรุก เชิงรับ
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยืนยันว่า ไทยเป็นแค่เพียงทางผ่านไม่ได้เป็นฮัปหรือฐานอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างที่มีการปั่นกระแสออกไป ทางผ่าน หมายถึง เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศปลายทาง
ทั้งนี้เราได้เตรียมมาตรการทั้งเชิงรุกเชิงรับในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้หมดแล้ว โดยผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ได้กำชับให้ดำเนินการเริ่มจากด่านตรวจคนเข้าเมือง ต้องคัดกรองชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยประสานข้อมูล ตำรวจไซเบอร์ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจสันติบาล ว่าชาวต่างชาติคนใด เสี่ยงเป็นคอลเซ็นเตอร์ หรือตกเป็นเหยื่อ แต่ยอมรับว่า มีกรณีสมัครใจ แต่ภายหลังเมื่อทำไปแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำ ต่อมาก็ถูกบังคับ
เรามีมาตรการที่เข้มข้น ตรวจสอบประวัติการเข้าออก เพราะคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเข้าออกแตกต่างกับคนทั่วไป เช่น กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ จะเข้าออกประเทศบ่อยครั้ง หรือมาถึงประเทศไทยก็เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านทันที หากเจอเคสแบบนี้ ก็ต้องพิจารณาปฏิเสธการเข้าเมือง
ส่วนกรณีกลุ่มคนจีน ซึ่งปัจจุบันแม้จะได้ฟรีวีซ่าเข้าประเทศไทยนั้น ก็ต้องเข้าระบบคัดกรองเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่เข้ามาเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจ มาประกอบกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องดูแลคนส่วนนี้ด้วย รวมถึงการอำนวยความสะดวก แต่ในส่วนของกลุ่มที่แฝงเข้ามาในรูปแบบอาชญากร หรืออาชญากรรมข้ามชาติ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งค้ามนุษย์ ต้องมีการประสานข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจไซเบอร์ ฝ่ายปกครอง ในขณะที่พื้นที่ชายแดนก็ต้องประสานกับฝ่ายกองทัพ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้รับ ไปปฏิเสธการเข้าเมืองของกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้
เพิ่มความเข้มข้น ซีลชายแดน
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังกล่าวถึงการใช้เส้นทางธรรมชาติในการข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเป็นการประสานงานการทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร ต้องร่วมกันซีลชายแดนให้ได้ แต่ต้องยอมรับว่าช่องทางธรรมชาติดีมาก และยาว การซีลชายแดนอาจไม่ครอบคลุมและทั่วถึง การใช้คำว่า ซีล คือปิดสนิท แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ เพียงแต่เราก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากที่สุด
ส่วนกลุ่มที่ถูกหลอกหรือตกเป็นเหยื่อนั้น ก็จะต้องเข้ามาตรการคัดกรองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหากเป็นชาวต่างชาติและใช้ช่องทางตามแนวชายแดนในการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องดูว่ามาเพื่ออะไร ต้องมีการซักถาม ตรวจสอบประวัติ เราจะเพิ่มมาตรการพวกนี้มากขึ้น เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ
รณรงค์โหลดแอปช่วยเหลือ-ป้องกัน
นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน “Thailand Tourist Police”ให้นักท่องเที่ยว โดยจะติดประกาศ จุดตรวจคนเข้าเมือง ทุกสนามบิน สถานีขนส่ง รวมถึงประสานโดยตรง กับเอเจนซี สายการบิน บริษัททัวร์ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้โหลดแอปดังกล่าว ซึ่งมีจุดเด่นด้วย ระบบปุ่ม SOS และ GPS ที่สามารถแชร์โลเคชั่นผู้แจ้ง เพื่อส่งพิกัดขอรับการช่วยเหลือจากตำรวจท่องเที่ยวที่รับผิดชอบพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
“การประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยว ได้เข้าถึงแอปดังกล่าว ต้องทำต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ถ้าหากเพียงพอก็คงไม่มีคนตกเป็นเหยื่อ ซึ่งยอมรับว่า อาจจะมีนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากโหลด แต่เราก็ต้องไปกระตุ้น เพื่อความปลอดภัยของตัวนักท่องเที่ยวเอง” พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว
สำหรับประชาชนทั่วไป มี แอป Cyber Check ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ จะช่วยให้ประชาชนคัดกรองมิจฉาชีพจากเบอร์โทรศัพท์ปริศนาที่โทรเข้ามา
ส่วนกรณีที่รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย ได้ตั้ง KPI ประเมินผลภายใน 6 เดือน ให้เห็นความคืบหน้าพล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า
เรามั่นใจว่า ใน 6 เดือนนับจากนี้ เราจะจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งการป้องกัน และการปราบปราม รวมถึงการยกระดับการประชาสัมพันธ์ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนถึงการประสานงานร่วมกับตำรวจในประเทศเพื่อนบ้าน
ในตอนท้ายผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ ระบุถึงการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด ที่จะสะท้อนผลชัดเจนว่าคงต้องวัดเป็นตัวเลข ถ้าวัดเป็นตัวเลข มันลดลง แต่ก็ยังรุนแรงอยู่ เพราะหลังจากที่มีการเก็บสถิติข้อมูล เมื่อตำรวจตระหนักว่า อาชญากรรมออนไลน์เป็นอาชญากรรมหลักสำคัญ ตั้งแต่ปี 2565 ก็มีตั้งศูนย์พีซีที
ตอนนั้นได้รวมระบบแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ เรียกว่า Thai Police Online เราได้เริ่มรวบรวมข้อมูลตั้งแต่บัดนั้นสถิติก็เริ่มลดลง พอมีการรวมศูนย์ก็มีการปราบปรามอย่างเป็นระบบ แต่มันก็เหมือนเชื้อโรคที่พัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ แต่ถึงแม้สถิติการแจ้งความเริ่มลดลง แต่เวลาส่งผลกระทบกับประชาชน มันก็ยังรุนแรง โดยเฉพาะความเสียหายจนหมดตัว