‘อดีตก้าวไกล’ แห้ว! ศาล รธน.ตีตกปมกล่าวหา ‘กกต.-นักร้อง-พปชร.’ ทำพรรคถูกยุบ

‘อดีตก้าวไกล’ แห้ว! ศาล รธน.ตีตกปมกล่าวหา ‘กกต.-นักร้อง-พปชร.’ ทำพรรคถูกยุบ

ศาล รธน.มติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องอดีตสมาชิก ‘ก้าวไกล’ ร้องเอาผิด ‘กกต.-นักร้อง-พปชร.-ภูมิใจไทย’ กล่าวหาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทำพรรคโดนยุบ ชี้เป็นแค่การแสดงความเห็น ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ เรื่องพิจารณาที่ ต. 78/2567 กรณีนายวินิจ จินใจ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 233 ว่า การกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมือง (ผู้ถูกร้องที่ 1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” (ผู้ถูกร้องที่ 2) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ถูกร้องที่ 3) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (ผู้ถูกร้องที่ 4) นายสนธิญา สวัสดี (ผู้ถูกร้องที่ 5) พรรคพลังประชารัฐ (ผู้ถูกร้องที่ 6) และพรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 7) ที่ดำเนินการต่อพรรคก้าวไกลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง ในฐานะอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 และมาตราอื่น ๆ

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างไร เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องในฐานะอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

‘อดีตก้าวไกล’ แห้ว! ศาล รธน.ตีตกปมกล่าวหา ‘กกต.-นักร้อง-พปชร.’ ทำพรรคถูกยุบ

ส่วนที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 3 ถึงผู้ถูกร้องที่ 7 เป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้อง นั้น ผู้ถูกร้องที่ 3 ถึงผู้ถูกร้องที่ 7 มิใช่หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวมิใช่การกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 252563 มาตรา 47 ซึ่งมาตรา 46 6 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย