‘พท.’ น็อก ‘ปชน.’ เคลมผลงาน ‘สุราก้าวหน้า’
มติสภาฯ เห็นชอบ ร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต เปิดทางให้ "ประชาชน" เข้าถึงใบอนุญาตผลิตสุรา ลดผูกขาดจากทุนใหญ่ "เพื่อไทย" เคลมเป็นผลงานรัฐบาล เหนือ "พรรคส้ม" ทว่าเรื่องนี้ยังมีประเด็นต้องตามต่อ
KEY
POINTS
Key Point :
- สภาฯ มีมติเอกฉันท์ ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต ปลดล็อกให้ "ผู้ผลิตสุรารายย่อย" เข้าถึงใบอนุญาต และครอบครองเครื่องกลั่น
- ถือเป็นการปลดล็อก การผูกขาดจาก "ทุนน้ำเมายักษ์ใหญ่" และให้สิทธิ "ประชาชน" ผลิตสุราถูกกฎหมายออกจำหน่าย
- เรื่องนี้ "พรรคเพื่อไทย" ประกาศทันทีว่าเป็นชัยชนะทางการเมืองที่เหนือ "พรรคประชาชน" พร้อมเคลมเครดิต ประกาศดันสุราชุมชน ให้เป็นอีกซอฟท์พาวเวอร์ ตามนโยบาย "แพทองธาร ชินวัตร"
- ทว่าเรื่องนี้ "พรรคส้ม" ที่ผลักดัน "สุราก้าวหน้า-สุราเสรี" มาตั้งแต่ยุคเป็น "พรรคอนาคตใหม่" ไม่สะท้าน เพราะพวกเขาบรรลุเป้าหมาย ที่ ลดการผูกขาด ได้สำเร็จ
- กับด่านต่อไปที่ต้องเจอ คือ ประเด็นทางสังคม ที่ "สว." ฐานะสภากลั่นกรองต้องพิจารณา
- รวมถึงการปูทางให้ "สุราชุมชน" เป็นซอฟท์พาวเวอร์และแหล่งรายได้ใหม่ ที่ไม่ติดขัดจาก กฎ-กติกา ผูกขาด เช่น การโฆษณา การคิดภาษีต่อขวดเท่าทุนใหญ่
- ที่เป็นโจทย์ใหญ่ "พรรคเพื่อไทย" ต้องทำให้สำเร็จถึงปลายน้ำ ไม่ใช่แค่การปลดล็อก ใบอนุญาตผลิตเท่านั้น
หลังเลือกตั้ง 2566 “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคประชาชน” ประกาศศึก ชิงคะแนนเสียงในกลุ่มของผู้ผลิตสุรารายย่อย ภายใต้แคมเปญ “สุราก้าวหน้า” ของพรรคส้ม เพื่อหวังสร้างทาง “เสรี” ให้กับผู้ผลิตสุรารายย่อย ขณะที่พรรคเพื่อไทย ชูสโลแกน “สุราชุมชน” มีเป้าหมายส่งเสริมให้ ผู้ผลิตสุราตามบ้าน สามารถผลิตเพื่อการค้าได้
ล่าสุดนั้นการฟาดฟันเรื่องนี้มีข้อสรุป หลังมติสภาฯ เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ 414 เสียง ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ... ไปเมื่อบ่ายของวันที่ 15 ม.ค. 2568 ซึ่งในสาระนั้น ยึดเนื้อหาฉบับที่พรรคเพื่อไทย พ่วงกับที่พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอ
ส่วนร่างกฎหมายของ “พรรคส้ม” นั้น ไม่ผ่านด่านตั้งแต่ชั้นรับหลักการวาระแรก เมื่อเดือนกันยายน ด้วยเหตุผลที่มีเนื้อหา สื่อความหมายได้ถึงการ “เปิดผลิตสุราอย่างเสรี” เพราะหากไม่ใช่เพื่อการค้า ไม่ต้องขออนุญาต
ทำให้ สภาฯ แปรความหมายว่า หากบ้านไหนจะผลิตสุราเพื่อดื่มในครัวเรือน สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และนั่นอาจเป็นความอันตรายที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานการผลิต ที่อาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยและเป็นอันตรายกับผู้บริโภค ทำให้ “สุราก้าวหน้า” นั้นถูกตีตก ด้วยมติข้างมาก 237 เสียง ต่อ 137 เสียง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “2พรรคใหญ่” ที่สู้กันเรื่องนี้ในเวทีสภาฯ ต่างต้องชิงไหวพริบกัน และมีเพียง “พรรคประชาชน” ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากไร้อำนาจต่อรองใดๆ เพราะมีสถานะเป็นฝ่ายค้าน เป็นเสียงข้างน้อย แต่สิ่งที่ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” สส.กทม. พรรคประชาชน จุดประกายไว้ คือ “ต้องการลดการผูกขาดการผลิตสุรา” จากยักษ์ใหญ่
แม้ “ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า” จะไปไม่ถึงฝั่ง ทว่าสาระที่ สภาฯ เห็นชอบนั้น คือ ได้ปลดล็อกข้อจำกัดใน กฎหมายสรรพสามิต มาตรา 153 เปิดโอกาสให้ “ประชาชน” ได้สิทธิเข้าถึงใบอนุญาตผลิตสุราและมีเครื่องกลั่นสุราไว้ในครอบครอง
ตามความหมายคือ ลดการผูกขาดการผลิตสุรา ที่เดิมอยู่กับ “ผู้ผลิตรายใหญ่” ไม่กี่รายในประเทศนี้ รวมถึงสร้างหลักประกันให้กับผู้ต้องการผลิตสุรารายย่อย ที่หมายถึง สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกร ต้องได้รับความเป็นธรรม เข้าถึงสิทธิการได้ใบอนุญาตสุราเพื่อการค้าได้ และผลิตสุราได้ทุกประเภท โดยปราศจากเงื่อนไข ที่เป็นข้อจำกัด เช่น ปริมาณต่อปี เป็นต้น
แม้ว่า ร่างสุราก้าวหน้า ของ “พรรคส้ม” จะไม่ผ่านชั้นรับหลักการ ทว่า “เท่าพิภพ” ยังได้เป็นตัวแทนไปสู้ในชั้นกรรมาธิการฯ แม้จะไม่สามารถผลักดัน “สุราเสรี” ให้เกิดได้ 100% แต่การแก้ไขเนื้อหากฎหมายที่ “ประชาชน” เข้าถึงการผลิตสุราได้ จึงเป็น “ความสำเร็จ” ที่พวกเขาคาดหวังไว้
เพราะหากดูตามมาตรา 153 ของกฎหมายสรรพสามิตปัจจุบัน จะพบว่าการผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือน ที่กำหนดว่าต้องขออนุญาต แต่การควบคุมมีเพียงหลักการใหญ่ คือ ผู้ขอต้องอายุ 20 ปี และสถานที่ ที่ไม่ส่งผลกระทบหรือความเดือดร้อนกับเพื่อนบ้านข้างเคียงเท่านั้น
สำหรับการทำงานในชั้นกรรมาธิการ ที่มี “สส.หนุ่ม-ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ” จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก่อนส่งร่างกฎหมายให้สภาฯ และได้รับการพิจารณาเมื่อ 15 ม.ค.
ช่วงหนึ่งของการรายงานผลการทำงานของกมธ. ต่อที่ประชุมสภาฯ “สส.หนุ่ม” ยกเครดิตให้เป็นร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ ที่ “พรรคเพื่อไทย” และ “รัฐบาล-แพทองธาร” กำหนดไว้เพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการ-ธุรกิจสุรารายย่อย ให้สามารถเข้าถึงใบอนุญาตและมีอาชีพที่ถูกต้อง รวมถึงมีผลพลอยได้เรื่องภาษีที่จะเป็นรายได้เข้ารัฐ และเป็นช่องทางส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ให้ประเทศ
พร้อมยืนยันว่า “การขออนุญาตผลิตสุราหรือถือครองเครื่องกลั่นสุรา จำเป็นต้องควบคุมผลกระทบทางสังคม ไม่ใช่ปรับให้ผลิตสุราโดยเสรีแบบไม่ต้องขออนุญาต แบบฉบับของสุราก้าวหน้าที่ให้อนุญาตเฉพาะกรณีเพื่อการค้าเท่านั้น”
เท่ากับว่า “พรรคเพื่อไทย” เคลมเครดิตนี้ไป เพื่อสร้างคะแนนนิยมเพียงฝ่ายเดียว ทว่าในการเคลมเครดิตนี้ ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่า “จะนำไปสู่การปฏิบัติใช้ได้จริงหรือไม่และไปได้ไกลแค่ไหน” เพราะเรื่องการส่งเสริมการผลิตสุราชุมชนให้เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ไม่ใช่แค่การปลดล็อก เรื่อง ใบอนุญาตเท่านั้น
แต่จำเป็นต้องปลดล็อกเงื่อนไขที่เป็นข้อติดขัด ซึ่งมีแต่ “ทุนใหญ่” เท่านั้นที่ครองความได้เปรียบ ซึ่ง “วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล” สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ตั้งเป็นคำถามไปยังรัฐบาล และหน่วยงานในกำกับ โดยเฉพาะการลดเงื่อนไข ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามโฆษณา ทำให้ ผู้ผลิตสุรารายใหญ่ เลี่ยงไปโฆษณาน้ำ น้ำดื่ม ที่มีชื่อเดียวกันแทน
“การมีอำนาจเหนือตลาดของรายใหญ่ จะปกป้องอย่างไร และทำอย่างไรให้รายย่อยขายได้ ไม่ใช่เกิดได้แต่จำหน่ายไม่ได้ รวมถึงการโฆษณา หากต้องการส่งเสริมรายย่อย แต่ไม่สุดอาจทำให้รายเล็กไม่เกิด ดังนั้นต้องพิจารณาปลดล็อกได้หรือไม่ รวมถึงมาตรการภาษีที่จะเก็บจากรายเล็ก หากบอกว่าต้องเท่าเทียมกับรายใหญ่ ที่มีต้นทุนต่อขวดต่ำกว่า อาจไม่ใช่ความเท่าเทียมจริง”
ดังนั้นด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ “พรรคเพื่อไทย” ต้องการเข็นให้เป็นผลงานรัฐบาล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง “เคลียร์ทาง” ให้ชัด ไม่ใช่ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ ให้ “ทุนใหญ่” กินรวบปลายน้ำเหมือนที่ผ่านมา
ทว่าในมิติทางสังคมอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องจับตา ชั้นกลั่นกรองของ “วุฒิสภา” ว่า จะยอมปล่อยผ่านโดยง่ายหรือไม่.