กมธ.พลังงาน ชง กพช.เบรกซื้อไฟฟ้า 5.2 พันเมกะวัตต์ ส่อทุจริต แพงเกินจริง
กมธ.พลังงานฯ นำทีมแถลงชง กพช.ชะลอโครงการไฟฟ้าสะอาดรอบ 5,200 เมกะวัตต์ ในรอบแรก ชี้แพงเกินจริง ส่อมีการทุจริต-เอื้อผลประโยชน์นายทุนบางกลุ่ม
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะ กมธ.ได้ร่วมแถลงผลการพิจารณาแนวทางจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสำคัญอย่าง สำนักงานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ได้เข้าร่วมชี้แจงอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าติดภารกิจ
จากการประชุมในวันนี้ พบว่า รัฐบาลยังมีโอกาสหยุดยั้งโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบแรก จำนวน 5,200 MW ซึ่งยังมีหลายโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐและเอกชน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีการตอบสนองหรือดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขเรื่องนี้ ดังนั้น คณะกรรมาธิการการพลังงานจึงมีมติส่งข้อเสนอแนะไปยัง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาออกมติเพิ่มเติม ให้ชะลอการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการในรอบแรกที่ยังไม่ได้ลงนาม ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างสอดคล้องและโปร่งใสยิ่งขึ้น
มีประเด็นในรายละเอียดดังนี้
1.ความย้อนแย้งของมติ กพช. ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ธันวาคม 2567 กพช. มีมติให้ ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สำหรับโครงการรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,600 MW โดยอ้างถึงประเด็นด้านต้นทุนและความโปร่งใส แต่เหตุใดโครงการในรอบแรกจำนวน 5,200 MW ซึ่งมีลักษณะปัญหาเดียวกัน ไม่ได้รับการตรวจสอบหรือหยุดยั้ง?
นอกจากนี้ ยังพบว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ทั้งสองรอบมีปัญหาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การตั้ง ราคารับซื้อที่สูงเกินจริง กระบวนการประเมินคะแนน ที่ไร้ความโปร่งใส การมองข้ามทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่า เช่น Direct PPA นี่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ ที่ปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแนวปฏิบัติ
2.ยังมีโอกาสแก้ไข แต่รัฐเลือกจะเพิกเฉย โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมชี้แจงได้ให้ข้อมูลว่า โครงการจำนวนหนึ่งในรอบ 5,200 MW ยังคง ไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างรัฐและเอกชน ได้แก่ โรงไฟฟ้าประเภท SPP จำนวน 20 โครงการ และโรงไฟฟ้าประเภท VSPP อีกหลายโครงการ ทั้งนี้ ข้อ 39 ของระเบียบการรับซื้อไฟฟ้ารอบ 5,200 MW ระบุชัดเจนว่า กกพ. สามารถยกเลิกการรับซื้อได้ หาก กพช. มีมติ แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีท่าทีดำเนินการใด ๆ เพื่อยกเลิกโครงการเหล่านี้ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ทำได้
3.ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะกรรมาธิการการพลังงานจึงมีมติ ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอให้ ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา สำหรับรอบ 5,200 MW เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับมติ กพช. เมื่อ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา
หากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยต่อข้อเสนอแนะนี้ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามว่า การบริหารงานด้านพลังงานของรัฐมีเป้าหมายเพื่อใคร? ประชาชนหรือกลุ่มทุน? ความโปร่งใสและความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน เมื่อรัฐเลือกปฏิบัติและละเลยหลักการที่ควรยึดมั่น
"การปล่อยให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำลายความไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ แต่ยังเป็นการตอกย้ำว่า พลังงานสะอาดที่ควรเป็นอนาคตของประเทศ อาจกลายเป็นเพียงโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มทุนบางกลุ่ม ที่ได้รับผลประโยชน์จากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ!" นายศุภโชติ กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก: Supachot Chaiyasat - ศุภโชติ ไชยสัจ