เดิมพัน 47 อบจ. 3 ค่ายรบเดือด ค่ายแดงตั้งเป้าล้มสีน้ำเงิน ส้มลุ้นแจ้งเกิด

เดิมพัน 47 อบจ. 3 ค่ายรบเดือด ค่ายแดงตั้งเป้าล้มสีน้ำเงิน ส้มลุ้นแจ้งเกิด

“นายใหญ่”เพื่อไทย ต้องการเอาชนะให้ได้ทุกสนาม จึงวางคิวเดินสายหาเสียงช่วยผู้สมัครอย่างหนักทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่สำคัญ เป้าหมายค่ายสีแดง ต้องการล้มแชมป์เก่าเครือข่ายสีน้ำเงินให้ได้ ขณะที่บ้านใหญ่ 27 อบจ. ถ่วงดุล "แดง-น้ำเงิน" พรรคส้มลุ้นแจ้งเกิด

การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 47 จังหวัด ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 ถูกจับจ้องว่า จะเป็นตัวชี้วัดกระแสพรรคการเมืองระดับชาติ

ขณะเดียวกันก็จะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า “ระบอบบ้านใหญ่” ยังแข็งแกร่งหรือไม่ 

ย้อนไปการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 29 จังหวัด ที่มีทั้งเลือกตั้งซ่อม และนายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง 11 จังหวัด เท่ากับเครือข่ายภูมิใจไทย ส่วนพลังประชารัฐ ชนะการเลือกตั้ง 3 จังหวัด รวมไทยสร้างชาติ ชนะเลือกตั้ง 3 จังหวัด และกล้าธรรม ชนะเลือกตั้ง 1 จังหวัด

สำหรับการเลือกนายก อบจ.ทั่วประเทศ 47 จังหวัดที่เหลือ พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร 16 จังหวัด และเครือข่ายสีน้ำเงิน ภูมิใจไทย ส่ง 15 จังหวัด และค่ายส้ม พรรคประชาชน ส่งผู้สมัคร 17 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ยังมองข้ามไม่ได้ เมื่อมีนักการเมืองท้องถิ่น “บ้านใหญ่” ที่ไม่สวมเสื้อแดงหรือเสื้อน้ำเงิน อีก 27 จังหวัด ที่ร่วมต่อสู้ในสมรภูมิครั้งนี้

จากการประเมินแนวรบนายก อบจ.ในทุกภาค พบว่า บ้านใหญ่ในสีเสื้อเพื่อไทยและบ้านใหญ่เครือข่ายสีน้ำเงิน จะสู้กันดุเดือด โดยสมรภูมิชี้ขาดอยู่ที่ภาคอีสาน

โดยเฉพาะภาพรวมของสนาม อบจ.อีสาน ที่เพื่อไทยปะทะเครือข่ายภูมิใจไทยเป็นหลัก ชัดเจนว่า “นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า” ต้องการเอาชนะให้ได้ทุกสนาม จึงวางคิวเดินสายหาเสียงช่วยผู้สมัครอย่างหนักทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่สำคัญ เป้าหมายค่ายสีแดง ต้องการล้มแชมป์เก่าเครือข่ายสีน้ำเงินให้ได้ 

พท.หวังคว้าชัยชนะเกินครึ่ง 

เมื่อตรวจแนวรบของเพื่อไทยโค้งสุดท้าย ที่เพื่อไทย โดยทักษิณ ชินวัตร บอกถึงความมั่นใจว่า จะได้รวมกันเกินครึ่งของจำนวนที่ส่ง 

โดยผู้สมัครนายก อบจ.ค่ายสีแดง ที่คาดหวังว่ามีโอกาสชนะเลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ.ลำปาง 

นพรัตน์ ถาวงศ์ อดีตนายก อบจ.น่าน 

“เสี่ยเอน” อนุวัธ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.แพร่ 3 สมัย 

“นายกก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่

สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายก อบจ.เชียงราย 

“เสี่ยโอน” อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน

นฤมล สัพโส ภรรยา พัฒนา สัพโส สส.สกลนคร

“นายกหน่อย” ยลดา หวังศุภกิจโกศล อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา 

“เสี่ยแอร์” วุฒิไกร ช่างเหล็ก นักธุรกิจใหญ่ และมี สส.หนองคาย เพื่อไทย เป็นกองหนุน 

อนุชิต หงษาดี คนสนิท “สส.เดือน” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม  

พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชาย “เสี่ยโจ้” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต สส.มหาสารคาม

วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.ศรีสะเกษ ที่มี สส.เพื่อไทย 7 คนเป็นกองหนุน 

และ “สจ.จอย” ณภาภัช อัญชสาณิชมน อดีตรองประธานสภา อบจ.ปราจีนฯ

ในจำนวน 13 ผู้สมัครนายก อบจ.ที่มีโอกาสชนะนั้น อาจพลิกผันประมาณ 3 สนามคือ หนองคาย มหาสารคาม และเชียงราย เนื่องจาก ยุทธนา ศรีตะบุตร อดีตนายก อบจ.หนองคาย มีความเก๋า อาจพลิกชนะกระแสทักษิณ เช่นเดียวกับ คมคาย อุดรพิมพ์ อดีตนายกอบจ.มหาสารคาม ที่มีฐาน สจ.แน่น

สนามเชียงราย “นายกนก” อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.เชียงราย มีคะแนนนิยมส่วนตัวเหนือ สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช จึงทำให้ทักษิณต้องลงไปหาเสียงซ้ำรอบ 2

ศึกหนักเครือข่ายน้ำเงิน

ขณะที่เครือข่ายพรรคภูมิใจไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 15 จังหวัด ก็คาดหวัง 7 จังหวัด

กฤษฏ์ เพ็ญสุภา ทายาทเจ้าของตลาดสี่มุมเมือง รังสิต กลุ่มบ้านสีเขียว  

“นายกแตน” อรพิน จิระพันธุ์วาณิช อดีตนายก อบจ.ลพบุรี กลุ่มรักลพบุรี สะใภ้ตระกูลจิระพันธุ์วาณิช 

ภูษิต เล็กอุดากร อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ กลุ่มฅนบุรีรัมย์ และหลานชายเนวิน

แว่นฟ้า ทองศรี อดีตนายก อบจ.บึงกาฬ และภรรยา ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย

พนัส พันธุ์วรรณ อดีตรองนายก อบจ.อำนาจเจริญ และคนสนิท “เจ๊รวย” สุขสมรวย วันทนียกุล สส.อำนาจเจริญ พรรคภูมิใจไทย

“โกหงวน” สมศักดิ์ กิตติธรกุล อดีตนายก อบจ.กระบี่ 5 สมัย กลุ่มรักกระบี่ สายตรงเนวิน ชิดชอบ 

“โกเตี๋ยน” สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ อดีตนายก อบจ.สตูล 3 สมัย และน้องชาย “โกเกียรติ” สมเกียรติ เลียงประสิทธิ์

ต้องยอมรับว่า เมื่อนายใหญ่เพื่อไทยลุยสนามท้องถิ่นเต็มตัว ทำให้บ้านใหญ่สีน้ำเงินสายอีสาน เจอศึกหนักกว่าทุกครั้ง 

อย่างเช่น “นายกส้มเกลี้ยง” วิชิต ไตรสรณกุล อดีตนายก อบจ.ศรีสะเกษ ที่ยึดหลักไม่มีพรรค มีแต่พวก ต้องมาแข่งกับกระแสทักษิณ โอกาสแพ้ชนะ 50-50

ทำนองเดียวกัน สนามมหาสารคาม คมคาย อุดรพิมพ์ สายสีน้ำเงินยังมีโอกาสพลิกชนะเพื่อไทยได้เหมือนกัน

โอกาสแจ้งเกิด อบจ.สีส้ม

สำหรับค่ายส้ม พรรคประชาชน แม้จะมีกระแสปรามาสว่า ยากที่จะได้ชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ.หนนี้แม้แต่จังหวัดเดียว โดยเปรียบสถานการณ์ ปี 2563 ที่คณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครนายก อบจ.42 จังหวัด แต่พ่ายแพ้ทุกสนาม

ทว่า ครั้งนี้พรรคประชาชนก็ฮึดสู้อย่างหนัก โดยที่ผ่านมาได้ส่งแกนนำทั้งใหม่และเก่าลงพื้นที่ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงทั้ง 17 สมรภูมิที่พรรคส่งผู้สมัคร โดยใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน นำทีมขึ้นภาคเหนือ ส่วน “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ล่องใต้ “เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตระเวนช่วยหาเสียงในภาคกลาง และภาคตะวันออก

จุดอ่อนเดียวที่ค่ายส้มกังวลคือ การเลือกตั้งในวันเสาร์ เพราะหากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย โอกาสที่ผู้สมัครค่ายสีส้มจะชนะก็เลือนราง

สำหรับผู้สมัครนายก อบจ.ภาคตะวันออก 7 จังหวัด พรรคประชาชน คาดหวังที่จะคว้าชัยใน จ.ตราด และ จ.นครนายก

ชุดาภัค วสุเนตรกุล ผู้สมัครนายก อบจ.ชลบุรี “ดร.ถัง” ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้สมัครนายก อบจ.ระยอง มานะ ชนะสิทธิ์ ผู้สมัครนายก อบจ.จันทบุรี และจำรูญ สวยดี ผู้สมัครนายก อบจ.ปราจีนบุรี เจอโจทย์หิน เมื่อต้องเอาชนะตัวแทน “บ้านใหญ่” ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลรวมใจกันหนุน

ชลธี นุ่มหนู ผู้สมัครนายก อบจ.ตราด น้องชาย ศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคประชาชน มีโอกาสคว่ำแชมป์ 7 สมัย วิเชียร ทรัพย์เจริญ แต่โค้งสุดท้าย อดีต กปปส.และคนเสื้อเหลือง อาจเปลี่ยนใจหนุนกลุ่มลูกเมืองตราด

จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ ผู้สมัครนายก อบจ.นครนายก ซึ่งเป็นตัวเต็งค่ายสีส้ม กำลังเจอค่ายสีแดง และค่ายสีน้ำเงินรุมกินโต๊ะ

ส่วนผู้สมัครนายก อบจ.ในภาคกลาง 4 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มี สส.สีส้มทั้งจังหวัด นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม เชาวริน ชาญสายชล ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสาคร และ “หมอเอ๊กซ์” นพดล สมยานนทนากุล ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ ก็ต้องเผชิญด่านการเมืองเก่า

ในสมรภูมิ อบจ. 3 สมุทร นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรสงคราม น่าจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ส่วน เลิศมงคล วราเวณุชย์ ผู้สมัครนายก อบจ.นนทบุรี หวังขี่กระแส สส.ส้มยกจังหวัด ก็เจอสายแข็งอย่าง พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ กลุ่มผึ้งหลวง เพราะอดีตผู้สมัคร สส.นนทบุรี เพื่อไทย ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ หนุนนายกฯเก่า

ภาคเหนือ พรรคประชาชน ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 2 จังหวัด โดยตั้งเป้าที่จะได้เก้าอี้นายก อบจ.ทั้ง 2 สนาม

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ไม่ได้แข่งกับพิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ เท่านั้น หากแต่ต้องสู้กับทักษิณ ชินวัตร พ่วงด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เช่นเดียวกับ “โกเฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน ทายาท “โกเก๊า” ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน ก็ไม่ได้แข่งกับอนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน

ภาคใต้ ส่ง 4 จังหวัด โดยหวังผลที่สนามภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี  นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล ผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต ที่พรรคประชาชนเปิดตัวเป็นคนแรก เพราะมั่นใจใน สส.ส้มทั้งภูเก็ต แต่พลังอนุรักษ์ทั่วทั้งเกาะ อาจเทใจไปให้ เรวัต อารีรอบ แชมป์เก่า

ที่มาแรงเวลานี้คือ “หมอมุดสัง” นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ ผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ธานี โดยหัวคะแนนธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พลังอนุรักษ์เมืองร้อยเกาะ ทั้ง ปชป. และ รทสช. คงไม่ยอมให้พรรคสีส้มยึด อบจ.สุราษฎร์ ส่วน สุทธิโชค ทองชุมนุม ผู้สมัครนายก อบจ.พังงา และนิรันดร์ จินดานาค ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา เจอโจทย์หินในการเอาชนะตัวแทน “บ้านใหญ่”

ส่วนภาคอีสาน หลังจากพรรคประชาชน พ่ายจากสนามนายก อบจ.อุดรธานี และอุบลราชธานี ก็แทบไม่มีใครพูดถึงสนามนายก อบจ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นสนามเดียว ที่พรรคส้มส่งผู้สมัครในภาคอีสาน

“ทนายเล็ก” สุพจน์ สุอริยพงษ์ ผู้สมัครนายก อบจ.มุกดาหาร คนโคราช แต่มาเติบโตในบ้านใหญ่ตระกูล “ทองผา” เล่นการเมืองท้องถิ่นมานาน สมัยที่แล้ว ทนายเล็กลงสนาม อบจ.ในนามคณะก้าวหน้า ก็แพ้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย 

ครั้งนี้ อบจ.มุกดาหาร ถูกมองว่า เป็นการชิงดำระหว่าง วีระพงษ์ ทองผา ตัวแทนบ้านใหญ่ทองผา และบุญฐิณ ประทุมลี อดีต สส.มุกดาหาร เพื่อไทย

27 บ้านใหญ่ ถ่วงดุล‘แดง-น้ำเงิน’

แม้แนวรบ อบจ.ในทุกภาค บรรดาพรรคการเมืองจะได้เปรียบเรื่องกระแส แต่เหนืออื่นใด นักการเมืองท้องถิ่น “บ้านใหญ่” ที่ไม่สวมเสื้อค่ายอีก 27 จังหวัด ก็จะโอกาสชนะได้ไม่ยาก

บ้านใหญ่ 27 จังหวัดเหล่านี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ระบอบอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังยืนยง หรือ “กระสุน” ยังเหนือกว่า “กระแส” หรือไม่

นครปฐม : “นายกหนึ่ง” จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ อดีตนายก อบจ.นครปฐมบารมีไม่แพ้รุ่นพ่อ-ไชยา สะสมทรัพย์  

ฉะเชิงเทรา : “นายกก้อย” กลยุทธ ฉายแสง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ทีมรวมใจพัฒนา หรือ 8 ตระกูลบ้านใหญ่รวมใจคือ ฉายแสงตันเจริญอัศวชัยโสภณจารุสมบัติเป้าเปี่ยมทรัพย์ศิริลัทธยากร และนพเกตุ

ชลบุรี : “นายกป๊อก” วิทยา คุณปลื้ม อดีตนายก อบจ.ชลบุรี 4 สมัย กลุ่มเรารักชลบุรี 

ระยอง : ปิยะ ปิตุเตชะ อดีตนายก อบจ.ระยอง 4 สมัย ทีมรวมพลคนพลังช้าง มีฐานเครือข่าย สจ.แน่น 

จันทบุรี : “นายกโจ้” ธนภณ กิจกาญจน์ อดีตนายก อบจ.จันทบุรี 5 สมัยมีหลายพรรคหนุน 

ตราด : วิเชียร ทรัพย์เจริญ อดีตนายก อบจ.ตราด 6 สมัย กลุ่มลูกเมืองตราด

สมุทรสาคร : “ปลัดแต” อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาคร ทีมฅนทำงาน ลูกชาย “เฮียม้อ” 

สมุทรสงคราม : “สจ.กอล์ฟ” เจษฎา ญาณประภาศิริ อดีตประธานสภา อบจ.สมุทรสาคร รวบรวม สจ.เก่าไว้ได้ 16 คน 

สมุทรปราการ : สุนทร ปานแสงทอง บ้านใหญ่บางโฉลง ตัวแทนเจ้าพ่อปากน้ำ-วัฒนา อัศวเหม

สุพรรณบุรี : อุดม โปร่งฟ้า ใจถึงพึ่งได้ของแท้ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา 

สิงห์บุรี : ศุภวัฒน์ เทียนถาวร อดีตนายก อบจ.สิงห์บุรี และแนวร่วมบ้านใหญ่ร้านทองแม่กิมลี้ ตระกูล “ธนาคมานุสรณ์” 

สระบุรี : “นายกจ้อน” สัญญา บุญ-หลง อดีตนายก อบจ.สระบุรี มี 2 สส.สระบุรี เป็นกองหนุน 

นครนายก : “สจ.ปาล์ม” นิดา ขนายงาม อดีตรองประธานสภา อบจ.นครนายก

นนทบุรี : พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ อดีตนายก อบจ.นนทบุรี 4 สมัย กลุ่มผึ้งหลวง ไม่ใช่บ้านใหญ่ แต่คุยกับบ้านใหญ่ได้ทุกสีทุกขั้ว

ประจวบคีรีขันธ์ : “นายกไล้” สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ อดีตนายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ 

ตรัง : “โกเล้ง” บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ อดีตนายก อบจ.ตรัง พี่ชาย “โกหนอ” สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต สส.ตรัง 

สุราษฏร์ธานี : “ป้าโส” โสภา กาญจนะ บ้านใหญ่เวียงสระ ได้ 5 สส.รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย เป็นกองหนุน

พัทลุง : “นายกพร” วิสุทธิ์ ธรรมเพชร อดีตนายก อบจ.พัทลุง 2 สมัย กลุ่มพลังพัทลุง 

สงขลา : สุพิศ พิทักษ์ธรรม อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ทีมสงขลาพลังใหม่ นิพนธ์ บุญญามณี และเดชอิศม์ ขาวทอง หนุน 

พังงา : “โก้หลี่” บำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายก อบจ.พังงา 3 สมัย 

ภูเก็ต : เรวัต อารีรอบ อดีตนายก อบจ.ภูเก็ต กลุ่มภูเก็ตหยัดได้

ปัตตานี : เศรษฐ์ อัลยุฟรี อดีตนายก อบจ.ปัตตานี 3 สมัย 

 

ยะลา : มุขตาร์ มะทา อดีตนายก อบจ.ยะลา 5 สมัย น้องชายวันมูหะมัดนอร์ มะทา บ้านใหญ่ศรียะลา 

นราธิวาส : กูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ.นราธิวาส 5 สมัย

หนองบัวลำภู : “ดร.บุ๋ม” วุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ อดีตนายก อบจ.หนองบัวลำภู กลุ่มเพื่อฅนหนองบัว 

มุกดาหาร : วีระพงษ์ ทองผา พี่ชาย วิริยะ ทองผา สส.มุกดาหาร ค่าย พปชร. ในนาม “บ้านใหญ่ทองผา”

แม่ฮ่องสอน : อัครเดช วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน 3 สมัย ลูกชายสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์

เดิมพัน 47 อบจ. 3 ค่ายรบเดือด ค่ายแดงตั้งเป้าล้มสีน้ำเงิน ส้มลุ้นแจ้งเกิด

3 พรรคหลัก-บ้านใหญ่แข่งเดือด

เมื่อตัวเล่นในกระดานมี 3 พรรคหลัก และบ้านใหญ่ สมรภูมิที่แข่งกันอย่างดุเดือด ได้ลุ้นคะแนนจนนาทีสุดท้าย ดังนี้   

เชียงราย : สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อไทย VS อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ เครือข่ายภูมิใจไทย

เชียงใหม่ : พิชัย พงศ์เลิศอดิศร พรรคเพื่อไทย VS พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ พรรคประชาชน

พิจิตร : พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ (เพื่อไทย ปชป. สนับสนุน) VS กฤษฏ์ เพ็ญสุภา พรรคภูมิใจไทย VS สายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์

นครพนม : อนุชิต หงษาดี พรรคเพื่อไทย (มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม) VS ศุภพานี โพธิ์สุ เครือข่ายภูมิใจไทย (ศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาฯ)

ศรีสะเกษ : วิวัฒน์ โหตระไวศยะ พรรคเพื่อไทย (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม) VS วิชิต ไตรสรณกุล เครือข่ายภูมิใจไทย

นครนายก : จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ พรรคประชาชน VS นิดา ขนายงาม (สัญญา บุญ-หลง เพื่อไทย ภูมิใจไทย สนับสนุน)

ตราด : ชลธี นุ่มหนู พรรคประชาชน VS วิเชียร ทรัพย์เจริญ (เพื่อไทย พลังเฮ้ง ปชป. สนับสนุน)

สมุทรปราการ : นพดล สมยานนทกุล พรรคประชาชน VS สุนทร ปานแสงทอง (บ้านใหญ่ม้าทองคำ พรรคพลังประชารัฐ)

สมุทรสงคราม : นันทยา ลิขิตอำนวยชัย พรรคประชาชน VS กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ (บ้านใหญ่ตระกูลธนิกุล) VS เจษฎา ญาณประภาศิริ (พรรคกล้าธรรม) 

สุพรรณบุรี : อุดม โปร่งฟ้า พรรคชาติไทยพัฒนา VS บุญชู จันทร์สุวรรณ (จองชัย เที่ยงธรรม ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สนับสนุน) 

สุราษฎร์ธานี : พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว พรรคกล้าธรรม VS โสภา กาญจนะ พรรครวมไทยสร้างชาติ เครือข่ายภูมิใจไทย VS นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ พรรคประชาชน

นราธิวาส : กูเซ็ง ยาวอหะซัน พรรคประชาชาติ VS อับดุลลักษณ์ สะอิ (พรรคกล้าธรรม พรรคภูมิใจไทย สนับสนุน)

เมื่อสนามท้องถิ่น นายก อบจ.ถูกดึงขึ้นมาผูกกับการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะ “นายใหญ่เพื่อไทย” ประกาศจุดยืนจะใช้เป็นกลไกเชื่อมโยงกับรัฐบาลใหญ่ จึงพยายามทุกทางในการยึดฐานเสียงนี้มาให้ได้ จึงทำให้พรรคใหญ่คู่แข่ง ทั้งประชาชน และภูมิใจไทย ไม่ยอมให้เพื่อไทยยึดสนามนี้ไปครองได้ง่ายๆ