เบื้องหลัง! จับสด 'สุธี' มือจ่ายแคชเชียร์เช็ค 599 ล.คดีข้าวจีทูจี

เบื้องหลัง! ปฏิบัติการ ป.ป.ช. บุกจับสด 'สุธี' ลูกน้อง 'เสี่ยเปี๋ยง' คนเปิดบัญชี-เบิกจ่ายแคชเชียร์เช็ค 599 ล้านบาท คดีข้าวจีทูจี หนีคุก 10 ปี โทษ 32 ปี
กรณีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 ภายใต้การอำนวยการของนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นางสาวชฎารัตน์ อนรรฆอร รองเลขาธิการฯ ภาค 1, นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการฯ ภาค 4, นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ นำโดยนายธนิต สุวรรณากาศ นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 1 นายฉัตรชัย ดวงสุวรรณ หัวหน้างานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 และนายธีรเดช พวงเงิน หัวหน้างานสืบสวนคดีทุจริตภาค 1 พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 1 พนักงานเจ้าหน้าที่งานสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และภาค 4
ประสานเจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 จับกุมนายสุธี เชื่อมไธสง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ 20/2562 ลงวันที่ 28 พ.ค. 2562 ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 32 ปี และร่วมชดใช้เงินรวม 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ย ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อีกทั้งนายสุธี เชื่อมไธสง ยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 20/2565 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 192 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้สืบสวนติดตามตัวนายสุธี เชื่อมไธสง มาตั้งแต่ปี 2558 รวมระยะเวลา 10 ปี จนกระทั่งสืบสวนได้ว่านายสุธี หลบหนีมาอยู่กับภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านหนองกรุงศรี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจขอหมายค้นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 เพื่อค้นบ้านภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายสุธี ภายในหมู่ที่ 7 บ้านหนองกรุงศรี ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
ในการปฏิบัติการค้น พบตัวนายสุธี เชื่อมไธสง หลบซ่อนตัวอยู่ที่บริเวณดงกล้วยหลังบ้านตามหมายค้น จึงได้เข้าจับและควบคุมตัวไว้ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายสุธี เชื่อมไธสง จัดทำบันทึกจับกุม และดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง และส่งตัวให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจำคุกผู้ต้องหาตามคำพิพากษาต่อไป
สำหรับ "สุธี เชื่อมไธสง" คือหนึ่งในจำเลยสำคัญ ที่ผ่านมามีบทบาทเป็นลูกน้องของ "เสี่ยเปี๋ยง" นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ที่เคยถูกคำพิพากษาให้จำคุกในคดีระบายข้าวจีทูจีมาแล้วเช่นกัน
โดยในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ 28 พ.ค. 2562 ระบุพฤติการณ์ไว้สรุปได้ว่า นายสุธี เป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (จำเลยที่ 10) เช่นเดียวกับนายนิมล รักดี หรือโจ (จำเลยที่ 15) และได้ความจากผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาซอยโชคชัย 4 ว่า บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เปิดบัญชีธนาคาร 2 บัญชี มีการทำธุรกรรมจำนวนมาก ทำให้นายพุทธพรรู้จักผู้บริหารและพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัดหลายคน โดยมี น.ส.สุทธิดา ผลดี หรือจันทะเอ กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (จำเลยที่ 13) ซึ่งมีชื่อเล่นว่าโอ๋ เป็นผู้ดูแลจัดการบัญชีของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ในการทำธุรกรรมของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และจะมีพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด รวมถึงนายสุธี เป็นผู้รับมอบอำนาจมาทำธุรกรรมแทนเป็นประจำ
โดยบัญชีเงินฝากของนายสุธี มีการมอบอำนาจให้นายสมคิด เอื้อนสุภา (จำเลยที่ 7) ซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายกรมการค้าต่างประเทศ โดยระบุว่า ซื้อด้วยเงินสด นายพุทธพร ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า เป็นการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายสุธี
ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนอีกว่า สัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีทั้ง 4 สัญญา มีการชำระค่าข้าวโดยแคชเชียร์เช็คของธนาคารภายในประเทศหลายธนาคาร รวม 2,473 ฉบับ เฉพาะแคชเชียร์เช็คที่มาจากการเบิกถอนเงินในบัญชีของนายสุธี คือธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวน มาถึง 62 ฉบับ เป็นเงิน 599,473,582 บาท
นอกจากนี้ได้ความจากนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท เจียเม้ง จำกัด (จำเลยที่ 28) อีกว่า นางประพิศ ติดต่อซ้อขายจากนายนิมล หรือโจ (จำเลยที่ 15) โดยตกลงเกี่ยวกับประเภทข้าว ราคา และสถานที่รับมอบข้าว ส่วนนายสุธี เป็นบุคคลที่นายนิมล หรือโจ แจ้งนางประพิศให้โอนเงินค่าข้าวที่ได้ตกลงกันไว้เข้าบัญชีของนายสุธีโดยตรง บริษัทของนางประพิศสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้แก่นายสุธี เพื่อบริษัทจะได้เบิกข้าวออกจากคลังสินค้าในปีการผลิต 2555/2556 เมื่อแคชเชียร์เช็คเข้าบัญชีของนายสุธีแล้ว วันรุ่งขึ้นทางบริษัทก็จะให้พนักงานไปติดต่อขอรับใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) แล้วนำไปเบิกรับข้าวทันที
เท่าที่สอบถามจากพนักงานได้ความว่า การไปรับมอบใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ก็เพียงสอบถามเจ้าหน้าที่คลังสินค้าที่บริษัทต้องการจะเบิกข้าวได้ทำการออกใบส่งสินค้า/ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีหรือยัง หากออกแล้ว ก็สามารถรับใบดังกล่าวไปเบิกข้าวได้ทันที และจากหนังสือธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า มีการทำธุรกรรมระหว่างต้นทางนายนิมล บัญชีธนาคารกับปลายทางบัญชีธนาคารของนายสุธี หลายครั้ง ครั้งละหลายล้านบาท
สอดรับกับคำเบิกความของนางประพิศว่า หลังจากนางประพิศไปเจรจาซื้อข้าวกับนายนิมลจนได้ข้อยุติแล้ว นายนิมลบอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของนายสุธี ในทางไต่สวนไม่ปรากฏหลักฐานว่านายสุธี ได้ติดต่อให้มีการซื้อขายข้าวกรณีอื่นนอกจากข้าวของรัฐที่มีปัญหาพิพาทตามฟ้องแม้แต่รายเดียว แต่กลับปรากฏว่านายสุธี เปิดบัญชีออมทรัพย์หลายธนาคารซึ่งเป็นธนาคารสาขาเดียวกับบัญชีของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เปิดไว้ใช้ในกิจการ และรายการธุรกรรมทางการเงินของนายสุธี มีวงเงินหลายพันล้านบาท และมีความเชื่อมโยงกับบัญชีของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่านอกจากเป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด แล้ว นายสุธี มีรายได้จากการประกอบการงานใดอีกที่ต้องทำธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวนมากเช่นนั้น และขัดแย้งกับข้อมูลรายได้ของนายสุธี ในการยื่นแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2546-2556 นายสุธียื่นแสดงรายการเสียภาษีเงินได้เฉพาะปี 2554 มีเงินได้พึงประเมินเพียง 865,831 บาท เท่านั้น
จากการข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ข้างต้นมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า นายสุธี เป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เปิดบัญชีเงินฝากตามธนาคารต่าง ๆ ดังกล่าวเพื่อสำหรับการรับเงินจากการขายข้าวและเบิกถอนเงินเพื่อซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้แก่กรมการค้าต่างประเทศเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวนำไปเป็นหลักฐานในการรับข้าวจากโกดังต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของ อคส. และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) โดยเฉพาะ จากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ดังวินิจฉัยข้างต้นก็เพื่อประโยชน์ของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
เมื่อพิเคราะห์ถึงช่วงระยะเวลาที่นายสุธี เปิดบัญชีธนาคารเป็นเวลาหลังมีการทำสัญญาข้าวจีทูจี 4 สัญญาดังกล่าว หลังจากนั้นมีการใช้บัญชีที่เปิด 3 แห่ง ทำธุรกรรมชำระเงินค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คจำนวนมากถึง 62 ฉบับ เป็นเงินหลายพันล้านบาท จนเป็นที่รับรู้ในวงการผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าวว่า หากต้องการซื้อข้าวของรัฐต้องติดต่อซื้อจากนายสมคิด เอื้อนสุภา โดยไม่ต้องมีการประมูล และมีนายสุธี เป็นผู้ชำระราคาข้าวให้แก่รัฐ
พฤติการณ์ของนายสุธี แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและร่วมอยู่ในขบวนการตั้งแต่ต้นในการนำบริษัท กว่างตงฯ และบริษัท ห่ายหนานฯ มาทำสัญญาซื้อข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศแบบจีทูจี โดยอ้างว่า ได้รับมอบหมายจากประเทศจีน ซึ่งไม่เป็นความจริง แล้วนำข้าวดังกล่าวออกขายให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศเพื่อทำกำไร อันเป็นการสนับสนุนนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กับพวก กระทำความผิดตามฟ้อง
การกระทำของนายสุธี จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 10 มาตรา 12 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมแยกตามรายสัญญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 4 กระทง กระทงละ 8 ปี รวมจำคุก 32 ปี