วัดใจ ศาลรธน.‘ชี้ขาด-ตีตก’ นิยาม‘จริยธรรม’ สกัดรมต.สีเทา?

วัดใจศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติรับคำร้องของ "คณะรัฐมนตรี" หรือไม่ กรณีที่ขอสอบถามความเห็นถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรี เกี่ยวกับนิยาม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ปรระจักษ์
KEY
POINTS
- รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เดินหน้าสู่เดือนที่ 6 ปฏิทินต่อไปหลังจบศึกซักฟอก คงถึงคิวปรับ ครม.
- มติ ครม.ประชุมลับเมื่อ 25 ก.พ. 2568 ให้สอบถามความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนิยามคุณสมบัติรัฐมนตรี "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์"
- "พิชิต ชื่นบาน" ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีนายกฯ เศรษฐา พ้นตำแหน่งด้วยข้อหา "จริยธรรมร้ายแรง" มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับตีความนิยามดังกล่าว เพราะไม่ใช่ขอบเขตอ
วงรอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เดินเข้ามาสู่เดือนที่ 6 หลังรับไม้ต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาปมคุุณสมบัติ ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จากการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ไทม์ไลน์การเมืองหลังจบศึกซักฟอกนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ น่าจะถึงคิวกำหนดวันเวลาที่เหมาะสมเพื่อเตรียมปรับคณะรัฐมนตรีในเวลาอันใกล้
ธรรมเนียมของ ครม.ชินวัตร มักจะประเมินผลงานรัฐมนตรีและปรับ ครม.ในทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
เพียงแต่จังหวะการเมืองห้วงก่อนหน้านี้ ยังคงอยู่ในโหมดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องปะทะทางความเห็นต่างทางการเมืองในหมู่คน 3 ก๊ก
รวมทั้งมีการงัดข้อกันผ่าน คดีฮั้วเลือก สว. จนกระทั่งมาถึงคิวร้อนฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอกนายกฯ
แน่นอนว่า รัฐมนตรีที่เข้าข่ายจะถูกปรับพ้นตำแหน่ง คงมีอยู่ในใจนายกฯ รวมถึงผู้ที่อยู่หลังฉากนายกฯ แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า
เมื่อเข้าสู่โหมดการปรับ ครม. ฉะนั้น การจะนำผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาเป็นรัฐมนตรีอีกรอบ อาจต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 คือ ต้องมีความซื่อสัตย์สุุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดล่อแหลม หรือจุดเสี่ยงที่อาจซ้ำรอยนายกฯ เศรษฐา ได้
ต้องยอมรับว่า จุดเพลี่ยงพล้ำอันทำให้รัฐบาลเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งก่อนเวลาอันควร เป็นเพราะมี กลุ่ม สว.40 สายบ้านป่าเดินเรื่องชงศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี
การยื่นตีความครั้งนั้น แม้ข้อกฎหมายจะมองว่า สว.ชุดก่อนหน้านี้ไร้อำนาจ เพราะเป็น สว.ที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอ สว.ชุดใหม่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การยื่นตีความของรัฐบาล เพื่อขอสอบถามความเห็นโดยทั่วไปกับ ศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการมองต่างมุมโดยเห็นว่า การยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอสอบถามความเห็นอาจทำไม่ได้
ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568 มีการประชุมลับ และมีมติให้สอบถามถึงคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นการสอบถามโดยอ้างเหตุตามมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้ “พิชิต ชื่นบาน”อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นระบุผ่านรายการ “คมชัดลึก” ของเนชั่นทีวี เห็นแย้งกับการส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะปลายทางเขาเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงตีตกข้อหารือของรัฐบาล ด้วยเหตุที่ข้อเท็จจริงยังไม่เกิดขึ้น
“ผมเห็นต่างกับทางคณะรัฐมนตรี ด้วยความเคารพ ยังเห็นต่างในข้อกฎหมาย เพราะว่าอำนาจการจะปรับ ครม. หรือแต่งตั้ง ครม.ไม่ใช่หน้าที่ของ ครม.”
“พิชิต” ซึ่งตกเป็นจำเลยทางการเมืองเรื่องคุณสมบัติ ด้วยคดีอาญา กรณีพัวพันข้อกล่าวหาถุงขนมในคดีที่ดินรัชดาเมื่อปี 2551 จนเป็นเหตุให้ “เศรษฐา”ต้องพ้นนายกฯ ให้ความเห็นว่า
“คำนิยามคำว่าซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นชอบ เห็นต่างกับ ครม.”
“ผมไม่เคยเห็น มติ ครม.ในทำนองนี้ ผมจึงเห็นว่าการที่ ครม.มีมติไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ ถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี ในประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ผมว่า คงไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากศาล”
ขณะที่ “นายกฯ แพทองธาร” ต้องการส่งเรื่องให้ศาลตีความให้เกิดความชัดเจนถึงนิยามและขอบเขตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
"ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเราก็ไม่อยากจะโดนเรื่องจริยธรรม” แพทองธาร ระบุ
อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ เห็นว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 ใช้คำว่า “พิจารณาวินิจฉัย” ดังนั้น ถ้อยคำชัดเจนพิจารณาวินิจฉัย เมื่อต้องวินิจฉัยต้องมีสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นการจะปรับ ครม. ไม่ใช่ข้อขัดข้องในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะมาหารือศาล อีกทั้งศาลก็ไม่เคยตอบข้อหารือดังกล่าว
“มีเรื่องเดียวที่ผมได้สอบถามพรรคพวก เรื่องกรมศุลกากรเกี่ยวกับสัญญา ศาลรัฐธรรมนูญเคยให้ความเห็น แต่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้น” พิชิต ระบุ
“พิชิต” ซึ่งนั่งรัฐมนตรีเพียงไม่กี่เดือนก็ต้องลาออก เพื่อแสดงสปิริตไม่ให้นายกฯ เศรษฐาต้องพ้นตำแหน่ง
เขาบอกถึงประเด็นจริยธรรมเป็นเรื่องนามธรรมว่า “คนที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องไม่ผิดพลาดในชีวิตเลยตั้งแต่เกิด จนมาถึงช่วงเวลาที่มารับตำแหน่ง ช่วงเรียน โรงเรียน มหาวิทยาลัย เพราะเรื่องของผมเกิดมา 16 ปีแล้ว ช่วงเวลาไม่มี อีกทั้งศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางกาเมือง ได้วางหลัก หลักในการพิพากษาไว้แล้วว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง”
“ตั้งแต่เรามีนายกฯ มากรอบการบริหารราชการแผ่นดินแนวทางที่นายกฯ จะแต่งตั้งบุคคลใด เขามีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะรวบรวมความเห็น ข้อมูลทุกฝ่ายทั้งกฤษฎีกา ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่สำคัญ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจะต้องให้ข้อมูลให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์มที่ตัวเองจะต้องรับรอง คุณสมบัติ”
ทว่า ประเด็นการยื่นสอบถามความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ “พิชิต” มองว่า คงไปถามคำนิยามไม่ได้ เพราะจะต้องเอาปัญหาชองบุคคลที่เคยเกิดขึ้นจริงนำมาพิจารณาด้วย ดังนั้นการตีความต้องอยู่ที่ตัวบุคคลเป็นหลัก ซึ่งจะต้องดูเป็นกรณีและกรณีไป
เมื่อถ้อยคำ “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” เป็นเรื่องนามธรรมในการตีความทางกฎหมาย กฎหมายที่ดีคือกฎหมายที่ผู้บังคับใช้กฎหมายใช้ดุลพินิจในการตีความได้น้อยที่สุด เมื่อการตีความไปกระทบสิทธิบุคคลใด การตีความทางกฎหมายจะต้องตีความอย่างแคบ
มองมุมหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อรัฐบาลต้องการขอคำตอบให้ชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญไว้ก่อนเข้าสู่โหมดปรับ ครม.
ยิ่งหากศาลเกิดไม่รับตีความขึ้นมา จะได้เป็นเครื่องยืนยันการันตี ปิดช่องทางและสกัดไม่ให้ผู้มีคุณสมบัติที่ไม่ชัดเจนเข้ามานั่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม.รอบหน้า