'กมธ.เศรษฐกิจ' เรียก 'หอการค้า' ประเมินผลกระทบ ส่งกลับ อุยกูร์

'กมธ.เศรษฐกิจ' เรียก 'หอการค้า' ประเมินผลกระทบ ส่งกลับ อุยกูร์

“กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ” เชิญ “หอการค้า-พณ.-กต.” แจงผลกระทบส่งกลับ “อุยกูร์” จี้ รัฐบาลทำความเข้าใจสหภาพยุโรป ด้าน “ตัวแทนหอการค้า” ยันไร้ผลกระทบ

ที่รัฐสภา  มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานกมธ.  ได้พิจารณาวาระติดตามผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจ กรณีที่สหภาพยุโรปลงมติประนามประเทศไทยกรณีส่งผู้ลี้ภัยยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน

โดยที่ประชุมได้เชิญ ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  หอการค้าและสมาพันธ์เอสเอ็มอี  

ทั้งนี้นายสิทธิพล ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวจะมีผลกกระทบต่อไทย รวมถึงกระบวนการของไทยที่จะเข้าเป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  รวมถึงประเด็นการค้าระหว่างไทยกับประเทศมุสลิม และการค้าระหว่างไทยกับประเทศมุสลิมต่างๆจะมีผลกระทบอย่างไร 

"ที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาในวันนี้ ก็จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น และมองเห็นว่าปัจจุบันถึงขั้นตอนไหนแล้ว ส่วน OECD ไทยอาจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ยาก เพราะติดในเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และทางประเทศกลุ่มยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพต่างๆก็คงต้องหารือกันว่า กลุ่มประเทศ OECD มองว่าการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนมีผลกระทบกับด้านสวัสดิภาพเขามากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้ทั่วโลกมั่นใจว่าไม่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของชาวอุยกูร์" นายสิทธิพล กล่าว

นายสิทธิพล กล่าวด้วยว่าตนขอเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างจริงจังทั้งในมิติของสงครามการค้าและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หาก FTA ไทย-สหภาพยุโรป ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในปีนี้ตามที่รัฐบาลคาดหวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศในห้องประชุม ตัวแทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวลและสัญญาณที่เกิดขึ้น ว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกลุ่มเอกชน ตั้งแต่มีปัญหาเรื่อง IUU เทียร์ 3 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ในประเด็นที่เกิดขึ้นหน่วยงานเอกชนต่างๆของต่างประเทศไม่มีข้อห่วงกังวล  

“หลักการหอการค้าเรื่องอุยกูร์ ทำตามยูเอ็นแนะนำ ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกประเทศ ก็มีสิทธิในการส่งชาวต่างด้าวกับประเทศเป็นปกติ ไม่ว่าที่อเมริกาหรือยุโรป เพราะในอเมริกาในวันนี้ก็มีหลายเคส ปัจจุบันทางยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส เป็นประเทศต้นแบบของสิทธิมนุษยชนก็มีปัญหากับประเทศอัลจีเรีย” ตัวแทนหอการค้ากล่าว

ตัวแทนหอการค้า ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยได้เดินตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ในการปกป้องมนุษยชน ส่วนตัวมองว่าไม่ควรนำประเด็นนี้มาอยู่ในกรอบของข้อตกลงเสรีทางการค้า FTA เพราะยุโรปและไทย มีความต้องการในฐานเดียวกันใน ข้อตกลงเสรีทางการค้า 2 ฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน และสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเมื่อคืนนี้ เพิ่งมีการประกาศภาษี 25%  ทำให้กระทบหนักมาก โดยเฉพาะเยอรมนี.