เปิด 'ทีโออาร์' ตึก สตง. 2.1 พันล. ‘เอกชน’ กังขาสเปก ‘เหล็กข้ออ้อย’

เปิด'ทีโออาร์'ตึกสตง.2,100 ล. ‘เอกชน’ ตั้งข้อสงสัยสเปก‘เหล็กข้ออ้อย’-คุณสมบัติผู้ยื่นซอง คุ้ยเส้นทาง17เอกชน"ซื้อซอง" ก่อน“ไอทีดี”ชนะประมูล
KEY
POINTS
- ชำแหละรายละเอียด TOR สร้างตึก สตง.แห่งใหม่ 2.1 พันล้านบาทก่อนพังถล่มหลังแผ่นดินไหว
- แกะรอย “เหล็กข้ออ้อย” ถูกใช้ตรงไหนในงานโครงสร้าง ที่ใช
เป็นประเด็นร้อนที่ค้างคาใจสาธารณชนอย่างมาก กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท ถล่มลงภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคนงานก่อสร้างติดอยู่ภายในซากหลายร้อยคน มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากนี้ ในภารกิจกู้ซากตึกถล่มดังกล่าวจนถึงขณะนี้ ยังมีผู้สูญหายอีกหลายสิบคน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีการใช้ “โครงสร้างเหล็ก” และ "เหล็กข้ออ้อย" ที่อาจไม่มีคุณภาพเพียงพอในการก่อสร้าง จึงเกิดเหตุสลดดังกล่าวขึ้น
“กรุงเทพธุรกิจ” สรุปข้อเท็จจริงกรณีนี้พบว่า
1. โครงการนี้ มีการชงของบประมาณเพื่อขอก่อสร้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 หรือราว 18 ปีก่อน ต่อมามีการขอปรับเปลี่ยนงบประมาณในปี 2563 ออกเป็น 2 แบ่งเป็น งานก่อสร้างอาคารดังกล่าว วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด)
และงานผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 74.6 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด)
2.“เอกชนจีน” ที่มาร่วมเป็นกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ดำเนินการก่อสร้างอาคาร สตง.ดังกล่าวคือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด จากการตรวจสอบพบมีชื่อจีนว่า บริษัท จงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน (China Railway No.10 Engineering Group – CRCC) หนึ่งในบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ สื่อจีนเคยรายงานข่าวเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมาว่า บริษัทแห่งนี้ ดำเนินงานในโครงสร้างหลักของอาคารเสร็จสมบูรณ์แล้ว ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่เพียงความคืบหน้าในระดับกายภาพ แต่ยังถือเป็น โครงการอาคารสูงพิเศษแห่งแรกในต่างประเทศของบริษัท สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมจีนที่กำลังก้าวรุกเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง
3.“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ซากตึกถล่มดังกล่าว และเก็บเก็บตัวอย่างออกมาจากพื้นที่จริง 6 ประเภท พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายเดียวนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะรู้ผลในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีรายงานข่าวแจ้งว่า เหล็กที่ใช้ในการสร้างตึกของ สตง. ตามภาพสื่อที่ออกมาเป็นของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เป็นโรงงานผลิต “เหล็กข้ออ้อย” โดย “ซิน เคอ หยวน สตีล” เคยเกิดเหตุบกพร่องหลายอย่างช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ “ไชน่า เรลเวย์ฯ” ในไทย มี “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี” ซึ่งเป็นเครือรัฐวิสาหกิจสัญชาติจีน ถือหุ้นใหญ่สุด 49% มี “คนไทย” ร่วมถือหุ้น 3 คน คือ โสภณ มีชัย มานัส ศรีอนันท์ และประจวบ ศิริเขตร โดยคนไทยทั้ง 3 คนร่วมกันเป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นบริษัทที่ตั้งเดียวกัน หรือมีผู้ถือหุ้นคนเดียวกันกับ “ไชน่า เรลเวย์ฯ” หลายสิบบริษัท
จากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน Google Earth พบที่ตั้งของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. พบว่า เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาติดกัน สูง 4 ชั้น ป้ายหน้าตึกระบุบ้านเลขที่ “493” ชัดเจน พร้อมกับติดป้ายที่ตั้ง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด พร้อมกับอีก 3 บริษัทอยู่ในอาคารเดียวกัน
ในส่วนของทีโออาร์ (TOR) กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบพบว่า โครงการนี้ดำเนินการเมื่อ 30 มิ.ย. 2563 ได้รับวงเงินงบประมาณจัดสรร 2,560 ล้านบาท กำหนดราคากลาง 2,522,153,000 บาท โดยลักษณะงานสังเขปคือ การสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ประเภทอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีพื้นที่ของสำนักงาน ที่จอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงศูนย์ฝึกอบรม และหอประชุม
ทั้งในแบบสรุปค่าก่อสร้างอาคารนี้ ประมาณราคาเมื่อ 30 มิ.ย. 2563 ค่าใช้จ่ายรวม 2,061,207,058 บาท ในจำนวนนี้เป็นงานโครงสร้าง 570,521,262 บาท (ระบุต้นทุน 490,433,476 บาท) ลงลึกไปในรายละเอียดงบประมาณที่ใช้ เช่น เหล็ก SR 24 dia. 9 มม. จำนวน 22,828 กิโลกรัม มูลค่า 359,084 บาท เหล็ก SD 40 dia. 12 มม. จำนวน 2,440,958 กิโลกรัม มูลค่า 37,346,657 บาท เหล็ก SD 40 dia. 16 มม. จำนวน 1,325,624 กิโลกรัม มูลค่า 20,016,922 บาท
เหล็ก SD 40 dia. 20 มม. จำนวน 812,301 กิโลกรัม มูลค่า 12,265,745 บาท เหล็ก SD 50 dia. 25 มม. จำนวน 1,382,271 กิโลกรัม มูลค่า 20,644,951 บาท เหล็ก SD 50 dia. 28 มม. จำนวน 272,586 กิโลกรัม มูลค่า 4,075,161 บาท เหล็ก SD 50 dia. 32 มม. จำนวน 977,623 กิโลกรัม มูลค่า 14,615,464 บาท มีการใช้ลวดผูกเหล็ก 217,026 กิโลกรัม มูลค่า 5,358,372 บาท เป็นต้น
ในประกาศเชิญชวนเอกชนมาเสนอราคา ระบุคุณสมบัติเอกชนที่จะเข้าร่วมประมูลว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง โดยเป็นผลงานการก่อสร้างอาคารสำนักงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ประเภทอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ โดยมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 23,000 ตร.ม. (ไม่รวมพื้นที่จอดรถ) ในวงเงินสัญญาเดียว ไม่น้อยกว่า 1,250 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี นับจากวันรับมอบงานงวดสุดท้ายถึงวันยื่นเอกสารประกวดราคานี้ และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่สำนักงานเชื่อถือ และต้องเป็นผลงานในไทยด้วย
- เอกชน จี้ถามสเปก“เหล็กข้ออ้อย”
อย่างไรก็ดี ระหว่างการเชิญชวนเอกชนมาเสนอราคา สตง.ได้ชี้แจงข้อสอบถามของกลุ่มเอกชนหลายข้อ มีข้อที่น่าสนใจ เช่น เอกชนบางรายถามว่า “คุณสมบัติเหล็กข้ออ้อยที่ใช้สัญลักษณ์ T ห้อยท้าย สามารถใช้ได้หรือไม่”
ทาง สตง.ตอบว่า “รายการที่ปรากฏอยู่ในแบบก่อสร้าง เป็นงานที่รวมอยู่ในเงื่อนไขและข้อกำหนดตามสัญญานี้ และเป็นความรับผิดชอบในการเสนอราคาของผู้เสนอราคา สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้รับจ้างสามารถดำเนินการเสนอผ่านผู้ควบคุมงานเพื่อเสนอผู้ว่าจ้างพิจารณาได้”
นอกจากนี้ เอกชนบางรายยังเสนอความเห็นว่า รายละเอียดการประกวดราคา เสนอให้เปลี่ยนคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ จากเดิมเคยเป็นคู่สัญญารัฐไม่น้อยกว่า 1,250 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นเคยเป็นคู่สัญญารัฐไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
สตง.ตอบกลับว่า ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแบบแผนการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมทั้งพิจารณาในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ร่างประกาศ และเอกสารประกวดราคาแล้ว
- “17 เอกชน”พบ“ซิโน-ไทย”เคยซื้อซอง
ในขั้นตอนการประกวดราคา มีเอกชนเข้ารับ/ซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) 17 ราย ระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-17 ส.ค. 2563 ได้แก่ 1.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด 2.บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด 3.บริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์ จำกัด 4.บริษัท อาคาร 33 จำกัด
5.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท รวมนครก่อสร้าง(ประเทศไทย) จำกัด 9.บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท เจ ดับบลิว เอส คอนสตรัคชั่น จำกัด 11.บริษัท เบ็ญจมาศ จำกัด 12.บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท วรนิทัศน์ จำกัด 14.บริษัท คอนสตรัคชั่น ไลนส์ จำกัด 15.บริษัท แมกซ์เอนส์ จำกัด 16.บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) 17.กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (กิจการร่วมค้าระหว่าง อิตาเลียนไทยฯ กับ ไชน่า เรลเวย์ฯ)
- ภายหลังเหลือ“ยื่นซอง”แค่ 7 ราย
เข้ายื่นเสนอราคา (ยื่นซอง) 7ราย ได้แก่ 1.บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท อาคาร 33 จำกัด 4.กิจการร่วมค้า วรเรียล 5. .บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 6.กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด และ 7.กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี
ต่อมาในการประมูล พบว่า กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2,136 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเสนอราคาดังนี้ 1.บริษัท อาคาร 33 จำกัด เสนอ 2,194,463,000 บาท 2.กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด เสนอ 2,357,777,777 บาท 3.บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) เสนอ 2,163,800,000 บาท 4.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)เสนอ 2,392,000,000 บาท 5.บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอ 2,368,000,000 บาท และ 6.กิจการร่วมค้า วรเรียล เสนอ 2,320,888,000 บาท
หลังจากนั้น สตง.ประกาศให้ กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (มีอิตาเลียนไทยฯ และไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมกัน) เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามทำสัญญาเมื่อ 23 พ.ย. 2563 สถานะปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวข้องโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ 2.1 พันล้านบาท ก่อนเกิดเหตุการณ์สลด “ตึกถล่ม” หลังแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบัน “นายกฯ” ได้สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับ “มท.1” ลงนามทางการตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้แล้ว โดยระบุว่า 7 วันต้องรู้ผล จึงต้องรอดูบทสรุปกันต่อไป