ย้อนวีรกรรม ‘ซิน เคอ หยวน’ ทุนจีนรุกคืบ วัดใจ ‘รัฐบาล’ รุกฆาต?

ย้อนวีรกรรม ‘ซิน เคอ หยวน’  ทุนจีนรุกคืบ วัดใจ ‘รัฐบาล’ รุกฆาต?

สิ่งที่น่าตกใจกว่าภัยพิบัติ คือ “ขยะ”ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม นั่นคือ ปัญหา“คอร์รัปชัน” การรุกคืบของ “กลุ่มทุนจีน” ในหลายมิติถือเป็นโจทย์หินวัดใจ "รัฐบาลแพทองธาร" 

KEY

POINTS

  • ภัยพิบัติ ย่อมเป็นเรื่องเหนือการควบคุม แต่สิ่งที่น่าตกใจกว่าภัยพิบัติ คือ “ขยะ”ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม นั่นคือปัญหา “คอร์รัปชัน” 
  • “ซิน เคอ หยวน สตีล”กลายเป็นตัวละครสำคัญ ที่ฉายภาพไปถึง  “ทุนจีน” ที่กำลังรุกคืบเข้ามาในไทย 
  • โรงงานดังกล่าวเคยถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบฐานใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐา

ขึ้นชื่อว่าภัยพิบัติ ย่อมเป็นเรื่องเหนือการควบคุม เหมือนดังเช่นเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ทั้งพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 

โดยเฉพาะบรรดาตึกสูง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เวลานี้ต่างฝ่ายต่างเร่งสำรวจความเสียหาย และความพร้อมในการใช้งานเพื่อป้องกันการสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ 

นอกเหนือจากประเด็นภัยพิบัติที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องหันมาฉุกคิด และหามาตรการล้อมคอก จากบทเรียนตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ (สำนักงาน สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมูลค่า 2.1 พันล้านบาทพังถล่ม จนถึงเวลานี้ผ่านไป 6 วัน ทุกฝ่ายยังคงเดินหน้าค้นหาผู้สูญหาย

ทว่า สิ่งที่น่าตกใจกว่าภัยพิบัติ คือ “ขยะ”ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม นั่นคือปัญหา“คอร์รัปชัน” 

ย้อนวีรกรรม ‘ซิน เคอ หยวน’  ทุนจีนรุกคืบ วัดใจ ‘รัฐบาล’ รุกฆาต?

จริงอยู่ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุตึกถล่มส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเบื้องลึกอีกด้าน กำลังถูกตรวจสอบการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะ “เหล็ก” ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างอาคาร 

“ซิน เคอ หยวน สตีล” บริษัท ผู้ค้าเหล็ก ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว กลายเป็นตัวละครสำคัญ ที่ฉายภาพไปถึง  “ทุนจีน” ที่กำลังรุกคืบเข้ามาในไทย 

มีการตั้งข้อสงสัยว่า บริษัทดังกล่าวถูกตรวจสอบ และเอาผิดตามกฎหมาย จากหน่วยงานภาครัฐมาหลายครั้งหลายครา 

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2558 เวลานั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้ยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใหม่ 2 ฉบับ กำหนดมาตรฐาน สำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กเส้นกลม มอก.20-2543 เหล็กข้ออ้อย มอก.20-2548 และอนุญาตให้ใช้เตาอินดักชั่น (Induction Furnace :  เตาหลอมโลหะที่ใช้การเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความร้อนจนโลหะหลอมละลาย) ในการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเพื่อส่งออก

ต่อมา ซิน เคอ หยวน เป็นหนึ่งในทุนจีน ได้ถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(กมอ.) ประเด็นนำเข้าเครื่องจักร และเตาอินดักชั่นเข้ามาใช้ในโรงงานที่ จ.ระยอง กระทั่งมีผลสรุปว่า ประสิทธิภาพ และคุณสมบัติของเตา ไม่เหมาะสม เพราะการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่ ยุครัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็น รมว.อุตสาหกรรม บริษัทดังกล่าวถูกร้องจากเอกชนด้วยกันให้ตรวจสอบประเด็นการ แย่งส่วนแบ่งตลาด และแข่งขันด้วยราคาที่ถูก 

ย้อนวีรกรรม ‘ซิน เคอ หยวน’  ทุนจีนรุกคืบ วัดใจ ‘รัฐบาล’ รุกฆาต?

 

ต่อมา รมว.อุตสาหกรรม ในขณะนั้น ได้ออกประกาศวันที่ 25 พ.ย.2562 ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมีผลอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค.2563

ต่อมาในเดือน มี.ค.2567 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของซิน เคอ หยวนใน จ.ระยอง ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 มีกำหนดจะแล้วเสร็จปี 2569 โดยเป็นการก่อสร้างอาคาร 6 หลัง ในเนื้อที่ 1,000 ไร่ ได้เกิดอุบัติเหตุปั้นจั่นหอสูงกว่า 20 เมตร ถล่มลงมาทับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ด้านล่าง เสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิการจ่ายเงินเยียวยาจากการเสียชีวิตจากบริษัท ตามมา 

ในปีเดียวกันเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 ซิน เคอ หยวน ที่ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม WHA ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เกิดเหตุระเบิดจากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย สาเหตุพบว่ามีการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ถูกปรับ 50,000 บาท

ก่อนที่ต่อมา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ที่ร่วมตรวจสอบสายการผลิต และผลิตภัณฑ์เหล็กของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล พร้อมยึดอายัดเหล็กไว้ จากนั้นการตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2,441 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท และดำเนินคดีตามกฎหมาย จนนำมาสู่การสั่งปิดในปี 2567 ท้ายที่สุด

ย้อนวีรกรรม ‘ซิน เคอ หยวน’  ทุนจีนรุกคืบ วัดใจ ‘รัฐบาล’ รุกฆาต?

ประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามว่า เมื่อโรงงานดังกล่าวเคยถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบฐานใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเคยเกิดอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุใดจึงปล่อยให้ดำเนินกิจการต่อ

“ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ” สส.ระยอง เขต 4 พรรคประชาชน เคยตั้งคำถามว่า โรงเหล็กที่มีปัญหา ทั้งเหตุเครนถล่ม เหตุไฟไหม้ รวมถึงถูกร้องเรื่องสร้างมลพิษ ยิ่งกว่านั้น “รมต.ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธ์ุ รมว.อุตสาหกรรม เคยตอบกระทู้ในสภาฯ ยืนยันว่า ได้สั่งหยุดไปแล้ว และอายัดเหล็กบางส่วน นำไปตรวจสอบ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดโรงงานดังกล่าว จึงมีสภาพยังดำเนินการอยู่ ไม่เหมือนโรงงานหยุดงาน

อีกคนคือ “สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็น “ทุนจีนเทา” ในศึกซักฟอกเมื่อวันที่เดือน 25 มี.ค.ที่เพิ่งผ่านมา เนื้อหาสำคัญอยู่ที่การทำลายเศรษฐกิจไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดน 0 เหรียญ คนงาน 0 เหรียญ ธุรกิจ 0 เหรียญ ชุมชน 0 เหรียญ

โดยเฉพาะพื้นที่ EEC เฉพาะพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี จำนวน 4 โครงการ มีคนจีนรวมทั้งสิ้น 15,000-16,000 คน

ฉะนั้นกรณีตึก สตง.ถล่ม ตอกย้ำการรุกคืบของ "ทุนจีนเทา" ที่กำลังรุกคืบในลักษณะ "ศูนย์เหรียญ"  

แน่นอนว่า “ตัวละคร” ที่กำลังถูกเปิดออกมารายวันในเวลานี้ เป็นการตอกย้ำสารพัด “ขยะ” ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม ถึงที่สุดอาจไม่ได้มีแค่โครงการสร้างตึก สตง.เท่านี้ หากคุ้ยดีๆ อาจมีโครงการรัฐอื่นๆ อีกหลายโครงการที่สุ่มเสี่ยงอยู่ในเวลานี้ 

น่าสนใจว่า การที่ทุนขนาดใหญ่ ที่เคยถูกตรวจสอบมาเป็นระยะ แต่กลับสามารถดำเนินกิจการได้โดยสะดวกโยธิน ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยว่ามี “บุคคล” หรือ“กลุ่มบุคคล” ให้ความช่วยเหลือหรือไม่ 

ขณะนี้เริ่มมีการเปิดข้อมูลตั้งข้อสงสัยประเด็นที่อาจมีเครือข่ายคนมีสีระดับ "นายพล" ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบริษัทร่วมค้าที่ชนะประมูล ซึ่งต้องพ่วงเงื่อนไขเป็นผู้กำหนดในเรื่องการนำเข้าวัสดุทั้งหมดทั้งมวล 

แน่นอนว่า การรุกคืบของ“กลุ่มทุนจีน” ในหลายมิติ จากกรณีคอลเซนเตอร์ ที่มีการฉายภาพ “จีนเทา” และ “ไทยเทา” ไปก่อนหน้านี้ กระทั่งมาถึงกรณีทุนจีนเหล็กเส้น จึงถือเป็นโจทย์หินวัดใจ "รัฐบาลแพทองธาร" ที่ต้องจับตาว่า จะมีแอ็กชัน จัดการประเด็นสีเทาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์