‘ไชน่าเรลเวย์’ ยึดงานรัฐ ‘หมื่นล้าน’ คว้างาน กฟน.-กปน.-กทม.เพิ่ม

‘ไชน่าเรลเวย์’ยึดงานรัฐ‘หมื่นล้าน’ รวมเครือข่ายคว้า '27 สัญญารัฐ' พบโครงการ'กฟน.-กปน.-กทม.'เพิ่ม เปิดข้อมูลใหม่ร่วม "บจ.รวมนที" ในชื่อ “กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี”
KEY
POINTS
- "ไชน่าเรลเวย์" ยึดงานรัฐ "หมื่นล้าน"
- รวมเครือข่ายคว้า "27 สัญญารัฐ" พบโครงการ "กฟน.-กปน.-กทม." เพิ่ม
- เปิดข้อมูลใหม่ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10" ร่วม "บจ.รวมนที" ในชื่อ “กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี”
ยังเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณี “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” บริษัทเครือข่าย “รัฐวิสาหกิจจีน” ที่เข้ามาเป็นคู่สัญญา “กิจการร่วมค้า” กับเอกชนยักษ์ใหญ่ของไทยหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือการร่วมกับ “อิตาเลียนไทยฯ” ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ วงเงินกว่า 2.1 พันล้านบาท ทว่าไม่ทันสร้างเสร็จ อาคารแห่งนี้ได้ถล่มลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้คนงานนับร้อยต้องติดภายใต้ซากปรักหักพัง มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้สูญหายจำนวนมาก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ปัจจุบันเรื่องนี้กำลังถูกตรวจสอบจาก คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้น รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบฯ ของกระทรวงมหาดไทยที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แต่งตั้ง โดยขีดเส้นดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ซึ่งหมายความว่า จะทราบผลไม่เกินสัปดาห์หน้า
"กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอไปแล้วว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ใช้โมเดลธุรกิจในลักษณะเป็น “กิจการร่วมค้า” กับเอกชนรายอื่น ๆ โดยเริ่มจากเข้าไป “ซื้อซอง” เอกสารการประมูลงานรัฐ และไม่เข้าร่วม“ยื่นซอง” หรือ“ยื่นเสนอราคา” แต่กลับไปดีลกับเอกชนไทยที่“ทุนหนา” เพื่อเข้าร่วมเป็น “กิจการร่วมค้า” ดำเนินการ“ยื่นซอง” ประมูลแทน
นับตั้งแต่ปี 2561 ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา พบว่า “กิจการร่วมค้า” ที่มี “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” เริ่มจากประมูลงานรัฐขนาดกลาง วงเงินราว 100 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงงานขนาดใหญ่หลัก 300-500 ล้านบาท จนมาถึงงานระดับสัมปทานรัฐหลัก 1,000 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้นร้อยล้านอยู่"แฟลต-บ้านเช่า"
ข้อมูล “คนไทย” อย่างน้อย 3 ราย เข้าไปถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้คือ โสภณ มีชัย มานัส ศรีอนันท์ และ ประจวบ ศิริเขตร ทั้งหมดแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่ามีอาชีพ “นักธุรกิจ” แต่สวนทางกับวิถีชีวิตส่วนตัว ที่บางคนพักอาศัยอยู่แฟลต บางคนอยู่บ้านเช่า ทั้งที่ถือหุ้นในบริษัทระดับร้อยล้านบาท ที่น่าสงสัยคือบางคนไม่สามารถติดต่อได้ ภายหลังเกิดเหตุตึก สตง.ถล่มลงมา
"กรุงเทพธุรกิจ" ขยายผลจากที่ตำรวจ เข้าตรวจค้น บ้านเลขที่ 582/300 ถ.รัชดาภิเษก ซ.รัชดาภิเษก 3 แยก 3 (ซ.อยู่เจริญ) แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม. เนื่องจากปรากฏข้อมูลจากการสืบสวน น่าเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอีกแห่งของ “ไชน่า เรลเวย์” โดยบ้านดังกล่าว มีลักษณะที่พักกึ่งออฟฟิศ ไม่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เบื้องต้น จากการตรวจสอบพบ คนไทย 8 ราย หญิงชาวจีน 1 ราย และบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพศชาย 1 ราย ขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่ถูกต้อง ในส่วนของหญิงชาวจีนที่พักอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว พบว่ามีการเช่าบ้านหลังดังกล่าวเดือนละ 85,000 บาท เช่าแบบปีต่อปี และเช่ามาแล้วถึง 3 ปี ตรวจสอบแล้ว ไม่พบการแจ้งที่พักคนต่างด้าวตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับเจ้าบ้าน หรือผู้ครอบครองเคหะสถานดังกล่าว
รับสมัคร“วิศวกรไฟฟ้า ระดับภาคี”
ล่าสุด "กรุงเทพธุรกิจ"ตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม พบว่า ที่ตั้งเลขที่ 582/300-301 ถ.รัชดาภิเษก ซ.รัชดาภิเษก 3 แยก 3 (ซ.อยู่เจริญ) แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม.ดังกล่าว มีการลงข้อมูลในเว็บไซต์รับสมัครงานหลายแห่ง โดยเปิดรับสมัครตำแหน่ง “วิศวกรไฟฟ้า ระดับภาคี” ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับแนบลิงค์ข้อมูลเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาจีน seetao.com เขียนโดย Sang Xiaomei บรรณาธิการคอลัมน์ Belt and Road
เว็บไซต์ Seetao ดังกล่าว อ้างอิงข้อมูลเมื่อปี 2562 โดยอ้างข้อมูลว่า กลุ่มบริษัท China Railway 10th Bureau Group Co., Ltd. Asia Pacific ได้จัดตั้งพันธมิตรกับ “บริษัท รวมนที จำกัด” ที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน (งานประปา งานระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น) ได้เข้าประมูลโครงการฝังสายเคเบิลใต้ดินใน กทม. และเป็นผู้ชนะการเสนอราคาด้วยวงเงิน 1,258 ล้านบาท (คิดเป็น 293 ล้านหยวน) โดยเสนอราคาโดดเด่นกว่าคู่แข่งอีก 12 ราย
เว็บไซต์แห่งนี้ อ้างอีกว่า การชนะการประมูลดังกล่าว ถือเป็นโครงการแรกของ China Railway ในไทย โดยตั้งแต่ ค.ศ. 2019 China Railway 10th Bureau ประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดในไทย และชนะการประมูลโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัยมากกว่า 10 โครงการ มีมูลค่าสัญญาเกือบ 2,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 9,392,350,000 บาท
ข้อมูลใหม่ผนึก"รวมนที"ในชื่อ"อาร์แอลจี"
ล่าสุด "กรุงเทพธุรกิจ"ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบข้อมูลใหม่ว่า “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” ส่อเข้าข่ายเป็นกิจการร่วมค้ากับ “บริษัท รวมนที จำกัด” ในชื่อ "กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี" ซึ่งเข้าประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โครงการถนนอรุณอัมรินทร์-บรมราชชนนี-พรานนก ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 1,258 ล้านบาท ดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทำสัญญาเมื่อ 7 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา
โดยในเอกสารขอบเขตงาน หรือทีโออาร์ พบว่า โครงการนี้ กฟน.ได้รับวงเงินงบประมาณจัดสรร 2,137,603,200 บาท เพื่อก่อสร้างงานด้านการโยธา จัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์และสายไฟฟ้าใต้ดิน สำหรับการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยเมื่อ 7 พ.ค. 2563 ได้เคาะราคากลางเป็นเงิน 1,553,697,780 บาท
หลังจากนั้นได้เปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) โดยมีผู้ซื้อซอง 30 ราย ซึ่งปรากฏชื่อของบริษัท รวมนที จำกัด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และกิจการร่วมค้า อาร์แอลจี เป็นต้น
ได้งานสายไฟใต้ดิน กฟน.1,257 ล้าน
ต่อมาได้มีเอกชนยื่นเสนอราคา (ยื่นซอง) จำนวน 12 ราย ในจำนวนนี้รวมถึงกิจการร่วมค้า อาร์แอลจี รวมอยู่ด้วย กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่า กฟน. ได้ประกาศรายชื่อเอกชนผู้ชนะการประกวดราคาโครงการนี้ คือ กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,257,999,000 บาท (ต่ำกว่าราคากลาง 295,698,780 บาท)
น่าสังเกตว่า ข้อเท็จจริงในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเป็นทางการ ตรงกันกับข้อมูลในเว็บไซต์ Seetao ที่ระบุว่า “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” เข้าไปร่วมประมูลโครงการดังกล่าวในฐานะ “กิจการร่วมค้า” ทั้งกรณีการประมูลชนะคู่แข่งคนอื่น ๆ จำนวน 12 ราย และการคว้างานไปด้วยวงเงินราว 1,258 ล้านบาท (คิดเป็น 293 ล้านหยวน)
คู่สัญญากทม.-ประปานครหลวง
นอกจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินข้างต้นแล้ว ยังพบอีกว่า “กิจการร่วมค้า อาร์แอลจี” เป็นคู่สัญญากับ กทม. ในโครงการ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมริมคลองแสนแสบช่วงถนนวิทยุ-คลองตันเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 541.9 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อ 1 ต.ค. 2567
และทำสัญญากับการประปานครหลวง (กปน.) ในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างวางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา PIT-902 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 347,716,000 บาท ทำสัญญาเมื่อ 21 เม.ย.2566 อีกด้วย
สำหรับ ข้อมูลบริษัท รวมนที จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2527 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 62 ซอยสุจริต 1 ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ รับเหมาก่อสร้าง มีกรรมการ 3 คนคือ นายวิลาศ วานิชกุล นางจินตนา เตชะชัยอนันต์ นางสาววโรชา วานิชกุล
นำส่งผู้ถือหุ้นล่าสุด เมื่อ 29 เม.ย. 2567 นายวิลาศ วานิชกุล ถือหุ้นใหญ่สุด 48.3% นางสาววโรชา วานิชกุล ถือ 30.1% นาง จินตนา เตชะชัยอนันต์ ถือ 17.05% นางสาววนารัตน์ วานิชกุล ถือ 4.35% นางสาววัสสิกา วานิชกุล ถือ 0.1% นางสาววาทินี เตชะชัยอนันต์ ถือ 0.05% นางบุญธนา วานิชกุล ถือ 0.05% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 353,296,816 บาท หนี้สินรวม 167,657,868 บาท รายได้รวม 158,442,588 บาท รายจ่ายรวม 136,554,927 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 6,836,104 บาท เสียภาษีเงินได้ 2,156,620 บาท กำไรสุทธิ 12,894,936 บาท
ชนะประมูลโครงการรัฐกว่าหมื่นล้าน
หากนับรวมโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินข้างต้น วงเงิน 1,258 ล้านบาท เท่ากับว่า “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” ในฐานะกิจการร่วมค้ากับเอกชนรายอื่น ๆ เป็นผู้ชนะประมูลโครงการของรัฐในไทยอย่างน้อย 18 สัญญา รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 10,162,379,777 บาท หรือราว 1 หมื่นล้านบาท
แต่หากนับรวม “บริษัทเครือข่าย” ที่ปรากฏชื่อ “3 คนไทย” เข้าไปถือหุ้นด้วย คือ บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นคู่สัญญากับภาครัฐกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อย่างน้อย 3 สัญญา วงเงินรวม 69,259,388 บาท และบริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด เป็นคู่สัญญารัฐกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ของทางราชการ อย่างน้อย 6 สัญญา รวมวงเงิน 341,489 บาท เท่ากับว่า “ไชน่า เรลเวย์-เครือข่าย” คว้างานประมูลรัฐไปแล้วอย่างน้อย 27 สัญญา รวมวงเงิน 10,231,980,654 บาท
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากโครงการสร้างตึก สตง. วงเงิน 2,136 ล้านบาท และโครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ จ.นราธิวาส วงเงิน 639.89 ล้านบาท ที่เกิดปัญหานั้น อีก 14 โครงการที่เหลือ ยังไม่มีการร้องเรียนถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแต่อย่างใด