‘พาณิชย์’ จุดอ่อนทีมรัฐบาล จุดเปลี่ยน เร่งเกมปรับครม.

‘พาณิชย์’ จุดอ่อนทีมรัฐบาล จุดเปลี่ยน เร่งเกมปรับครม.

กระทรวงการค้าแห่งนี้ จึงอาจเป็นตัวเร่งให้นายกฯแพทองธาร ต้องปรับครม.เร็วกว่ากำหนด เพื่อหารัฐมนตรีที่มือถึงมาแก้ปัญหา“ภาษีทรัมป์”

KEY

POINTS

  • แม้ในหลายวงสนทนา “นายกฯแพทองธาร" จะให้คำมั่นกับรัฐมนตรีจากพรรคเ

แม้ในหลายวงสนทนา “นายกฯแพทองธาร" จะให้คำมั่นกับรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยว่าจะไม่รีบเร่งปรับคณะรัฐมนตรี เพราะต้องการให้เวลาทำงาน เพื่อพิสูจน์ฝีมือ โดยไม่อิงกรอบเวลา 6 เดือน เหมือนยุค “บิดานายกฯ”

โดยคาดการณ์กันว่า ใกล้ครบ 1 ปี ครม.แพทองธาร 1 จึงจะเข้าสู่ช่วงประเมินผลงานของรัฐมนตรีค่ายสีแดง ใครผลงานดีเข้าตากรรมการ โอกาสได้ไปต่อมีสูง หากใครผลงานต่ำกว่าเกณฑ์ ต้องทำใจหลุดเก้าอี้ เปิดทางให้แคนดิเดตคนใหม่เข้ามาแทน

ทว่า ผลจากการขึ้นภาษีนำเข้าของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ถึง 36% เป็นแรงเหวี่ยงกระทบโดยตรงต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมี "พิชัย นริพทะพันธุ์" เป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งเลี่ยงไม่พ้นความรับผิดชอบ 

โดยเฉพาะการเผชิญคำถามอย่างหนักหน่วง ถึงการเตรียมแผนตั้งรับและรุกกลับสงครามการค้า ทั้งที่ “ทรัมป์” ประกาศจะขึ้นภาษีตั้งแต่ช่วงหาเสียงชิงประธานาธิบดี

ท่ามกลาง สถานการณ์ทั้งโลกได้เห็นแอ็กชั่นของหลายประเทศ ที่เดินเกมต่อรองกับสหรัฐอเมริกา เพื่อล็อบบี้ และเตรียมมาตรการรับมืออย่างเป็นระบบ หวังลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด 

แต่ตรงกันข้ามกับ“ทีมไทยแลนด์” การติดต่อประสานงานค่อนข้างล่าช้า แม้นายกฯแพทองธารจะส่งสัญญาณเจรจา แต่แอ็กชั่นของเบอร์หนึ่งกระทรวงการค้า แทบไม่มีให้เห็น ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนเสียเครดิต

หลายฝ่ายประเมินข้อผิดพลาดของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องรับมือภาษีทรัมป์ แบ่งได้เป็น 3 ข้อ ดังนี้ 

1.การให้ข้อมูลกับนายกฯ เรื่อง “มาตรการทางภาษี” ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินมาตลอดว่า นโยบายของทรัมป์ไม่กระทบไทยมาก โดยคาดว่า ไทยจะโดนภาษีนำเข้า 10-20% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

แต่เมื่อประกาศมาจริง กลับโดนมากถึง 36% ทำให้รัฐบาลไปไม่เป็น เพราะนอกจากการประเมินสถานการณ์พลาดแต่ต้น อีกทั้งยังไม่เคยเตรียมมาตรการเชิงรับและเชิงรุกออกมาก่อนหน้านี้ จึงไม่สามารถรับมือ ผลกระทบจากกำแพงภาษีครั้งนี้ได้ทันที

2.การให้ข้อมูลเรื่อง “เจรจาการค้า” ก่อนหน้านี้ เจ้ากระทรวงพาณิชย์ บอกกับนายกฯ เพียงว่า มีช่องทาง กลไกในการติดต่อเจรจา เช่น สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) สามารถเจรจาโน้มน้าวสหรัฐฯ ไม่ให้ขึ้นภาษีไทยได้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ไทยก็ถูกขึ้นภาษีนำเข้าถึง 36% แสดงว่าช่องทางในการติดต่อเจรจาที่ว่าไม่เป็นผล

หรือความจริงแล้ว อาจยังไม่ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเจรจากับสหรัฐฯ แต่อย่างไร เพียงแต่หมายความว่า มีช่องทางในการติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อรักษาตำแหน่งในครม.เอาไว้หรือไม่

3."การสื่อสารสับสน" ส่งผลให้เป็นภาพลักษณ์ ที่เป็นลบกับรัฐบาล เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีการค้าไทย 36% สื่อมวลชนไปถามเจ้ากระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความชัดเจนกระบวนการพูกคุย ก็ได้คำตอบว่า "โทรศัพท์ไปหาสหรัฐฯ แล้ว แต่ไม่ยังไม่รับสาย" จึงทำให้ถูกสังคม เทียบเคียงกับความคืบหน้าของเวียดนาม ที่ผู้นำประเทศ โทรคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์ จึงทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลไทยกลายเป็นรองเวียดนามในเรื่องการเจรจา

นอกจากนั้น การสื่อสารที่ระบุว่า รมว.พาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะเจรจาเอง หรือตั้งทูตไทยประจำวอชิงตัน ให้เป็นคณะเจรจา ก็เป็นความสับสนอีกประเด็น เพราะล่าสุดปรากฎว่า นายกฯ ได้ตั้ง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานในการเจรจา 

อย่างไรก็ดี หากย้อนไปก่อนหน้านี้ บรรดา“สส.เพื่อไทย”เคยแสดงความไม่พอใจการทำงานของ รมว.พาณิชย์ “พิชัย นริพทะพันธุ์” กลางที่ประชุมพรรค กรณีปัญหาสินค้าเกษตร ทั้งข้าว และมันสำปะหลัง ราคาตกต่ำ จนเกษตรกรต้องออกมาชุมนุมย่อยในหลายจังหวัด เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีมาตรการรองรับ และไม่ได้รายงานสถานการณ์ให้ “นายกฯ-ครม.” รับทราบ

หลายครั้งที่ “สส.เพื่อไทย” เปลี่ยนเวทีประชุมพรรค เป็นเวทีซักฟอก แต่ รมต.พิชัยกลับไม่ค่อยอยู่ร่วมการประชุม โดยส่ง "เจียง” คุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ อดีตสส.สุรินทร์ มารับหน้าแทน

แม้ "ที่ปรึกษาเจียง” จะชักแม่น้ำทั้งห้า มาอธิบายการทำงานของรัฐมนตรี เพื่อทำความเข้าใจกับ สส. แต่ส่วนใหญ่แทบไม่มี สส.คนใดรับฟังเหตุผลคนมาชี้แจงแทน เพราะต้องการฟังความและซักถามข้อมูลจากเจ้ากระทรวงมากกว่า

ชั่วโมงนี้ หากจะหา“จุดอ่อน"ของรัฐบาลแพทองธาร กระทรวงพาณิชย์จึงอยู่ในลำดับต้นๆ ที่ถูกประเมินทั้งภายในพรรคและนอกพรรค ว่ามีปัญหาในการบริหารจัดการเชิงนโยบาย ที่สำคัญผลงานกระทรวงเกรดเอแห่งนี้ ยังเป็นคุณเป็นโทษต่อนโยบายรัฐบาล รวมถึงส่งผลกระทบถึงฐานเสียงระดับประชาชน 

กระทรวงการค้าแห่งนี้ จึงอาจเป็นตัวเร่งให้นายกฯแพทองธาร ต้องปรับครม.เร็วกว่ากำหนดประเมิน 1 ปี เพื่อหารัฐมนตรีที่มือถึงมาแก้ปัญหา“ภาษีทรัมป์” ที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้