A49 แจง แค่ออกแบบ Thailand Pavilion ไม่มีส่วนได้เสีย ถือหุ้น RMA 110

A49 แจง แค่ออกแบบ Thailand Pavilion ไม่มีส่วนได้เสีย ถือหุ้น RMA 110

บริษัท A49 แจงข้อเท็จจริง เป็นผู้ออกแบบ Thailand Pavilion เท่านั้น ไม่มีส่วนได้เสีย-ไม่เคยถือหุ้น กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ ที่ชนะประมูลงานเอ็กซ์โป สบส.

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นการจัดทำอาคารนิทรรศการไทย หรือไทยแลนด์พาวิลเลียน (Thailand Pavilion) ในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น วงเงินกว่า 867 ล้านบาท โดยทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมายืนยันชี้แจงข้อเท็จจริงถึงความโปร่งใสในการประมูลแล้วหลายครั้ง

ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอเรื่อง “2 พิรุธประมูลเวิลด์เอ็กซ์โป เสี่ยงเข้าข่ายเอื้อประโยชน์” โดยระบุถึง 2 เงื่อนปมพิรุธร้องเรียน คือ 1. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เชิญผู้แทนบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด(ภายหลังเป็นหนึ่งในกิจการร่วมค้าอาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ) ร่วมเสนอธีมงานต่อมาTOR ใช้เนื้อหา/รายละเอียด แนวคิดการออกแบบตามการนำเสนอบริษัท ไร้ท์แมน

2.กรม สบส.มีการแต่งตั้งตัวแทนจากสภาสถาปนิก และสมาคมสถาปนิกฯ เป็นคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาโครงการ เพื่อพัฒนารายละเอียดการจัดประกวดแบบก่อสร้างโดยนายกสภาฯ และสมาคมฯ เป็นผู้บริหารบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด(A49) ซึ่งในการประกวดราคา ครั้งที่ 2 นั้น บริษัท A49 เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ร่วมในกิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบที่เป็นผู้ชนะ แต่การประมูล ครั้งที่ 2 ถูกยกเลิกไปเนื่องจากมีการอุทธรณ์และเลยระยะเวลา 90 วันของการยืนราคาของผู้ชนะ

โดย 2 เงื่อนปมพิรุธที่ร้องเรียนนั้น ปรากฏว่าเป็นประเด็นเดียวกับที่ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด(มหาชน) ได้ยื่นอุทธรณ์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)ได้ส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง และได้มีคำพิจารณาออกมาตั้งแต่เมื่อ 20 กันยายน 2566 ใน 3 ประเด็นว่าไม่รับพิจารณาคำอุทธรณ์ และคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น และให้กรม สบส.สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนต่อไปได้ นำมาสู่การจัดซื้อจัดจ้าง ครั้งที่ 3 แบบเฉพาะเจาะจง

ทั้งนี้ ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค(กอร) 04.05.5/33309 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 20 กันยายน 2566  เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด(มหาชน) ลงนามโดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน ส่งถึงอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อ้างถึงหนังสือที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจ้งว่าบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด(มหาชน) ขออุทธรณ์ผลการประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ในงานจ้างผู้ดำ เนินการจัดนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น (ดำเนินการครั้งที่ 2) โดยวิธีคัดเลือกนั้น

ในประเด็นที่กรมได้มีการเชิญบริษัท ไร้ท์แมน จำกัดเข้าร่วมประชุมและเสนอรายละเอียดโครงการนั้น ซึ่งการที่กรมได้จัดให้มีการประชุมนั้นเป็นการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพไม่เคยดำเนินการจัดจ้างผู้ดำเนินการจัดนิทรรศการในงาน World Expo มาก่อน ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมิได้นำเนื้อหา แนวคิดการออกแบบและรายละเอียดนิทรรศการจากการประชุมหารือดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินการแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นในกรณีแต่งตั้งสภาสถาปนิก และสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาโครงการ พัฒนารายละเอียดการจัดประกวดแบบก่อสร้างอาคารนิทรรศการไทย เพื่อประกอบการกำหนดรายละเอียดขอบเขตการจัดจ้างนั้น  เป็นการระดมความคิด ความเห็นในเชิงวิชาชีพด้านสถาปนิก และวิศวกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เนื่องจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพไม่เคยดำเนินการจัดจ้างผู้ดำเนินการจัดนิทรรศการในงาน World Expo มาก่อน

ส่วนตามเอกสารยื่นข้อเสนอของกิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบในสัญญาการเข้าร่วมค้า จัดทำขึ้นระหว่างบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และบริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด เพียง 2 บริษัทเท่านั้น ในส่วนของบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด มิได้มีการเข้าร่วมค้าในกิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ “ฟังไม่ขึ้น”

ล่าสุด บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (Architects 49 Limited) ส่งเอกสารมาถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้

โดยยืนยันว่า บริษัทฯ มิได้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นของกิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ และบริษัท กิจการร่วมค้า อาร์เอ็มเอหนึ่งร้อยสิบ จำกัด และมิได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการร่วมค้าฯ และบริษัท กิจการร่วมค้าฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งในอดีต และในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ เป็นเพียงผู้รับจ้างออกแบบ Thai Pavilion เท่านั้น

โดยการชี้แจงของบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ สบส. ชี้แจง และเอกชนที่เกี่ยวข้องชี้แจงทั้งหมด