พิษคดีข้าวจีทูจี! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ฟัน ‘ภูมิ’ รวยผิดปกติ 19.9 ล้าน

พิษคดีข้าวจีทูจี! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ฟัน ‘ภูมิ’ รวยผิดปกติ 19.9 ล้าน

เบื้องหลัง ป.ป.ช.ฟัน ‘ภูมิ สาระผล’ รวยผิดปกติ 19.9 ล้านบาท ที่แท้เซ่นพิษคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี เปิดชื่อ ‘บิ๊กเนมการเมือง-บิ๊ก ขรก.’ อยู่ระหว่างถูกสอบ

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สส.วาระปี 2554 และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ มูลค่ารวม 19,947,750 บาท ซึ่งอยู่ในการถือครองของนางอรอนงค์ สาระผล คู่สมรส นางสาวภณิดา สาระผล และนายภพพล สาระผล บุตร พร้อมกันนี้ได้ส่งอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งยึด ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

ล่าสุด รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.แจ้งว่า สาเหตุที่นายภูมิ ถูก ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกในครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อครั้งยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าว และโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหา และชี้มูลความผิด แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 

1.กลุ่มนักการเมือง ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ กรณีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี 

2.กลุ่มข้าราชการ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ

3.กลุ่มเอกชน เช่น บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาต จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” เป็นต้น

ทั้งนี้ในกลุ่มนักการเมือง และกลุ่มข้าราชการนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้สั่งการให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกด้วย เพื่อเช็คเส้นทางการเงินว่า มีส่วนไหนมาจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว หรือระบายข้าวจีทูจีหรือไม่

สำหรับนายภูมิ ถือเป็นรายแรกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดข้อหาร่ำรวยผิดปกติจากเหตุดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ หรือนายอัฐฐิติพงศ์ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าวหรือผู้อำนวยการกองบริหารการค้าข้าว สังกัดกรมการค้าต่างประเทศ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป มาแล้ว