ปชช.ส่วนใหญ่ชี้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูป
กรุงเทพโพลล์ เผย ผลสำรวจความคิดเห็น ระบุ ประชาชนส่วนใหญ่ชี้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูป หวังกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาด
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนครอบคลุม 75 จังหวัดจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 631 คน ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับการปฏิรูป" พบว่า ประชาชน 79.3% เห็นว่าในเวลานี้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปด้านต่างๆ ขณะที่ 20.7% เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องปฏิรูป เมื่อถามต่อว่าหากจำเป็นต้องปฏิรูป การปฏิรูปต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังในด้านใดก่อน 41.0% เห็นว่าควรปฏิรูปด้านการเมือง/การปกครองก่อน รองลงมา 22.8% เห็นว่าควรปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ และ 20.6% เห็นว่าควรปฏิรูปด้านกฎหมาย
สำหรับเรื่องที่ประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปมากที่สุดคือ เรื่องความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของกฎหมาย 75.4% รองลงมาเป็นเรื่องการซื้อเสียงเลือกตั้ง 67.4% และเรื่องคดีคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ 67.0% ส่วนประเด็นการปฏิรูปวงการตำรวจมีประชาชน 32.0% ที่ต้องการให้มีการปฏิรูป เช่นเดียวกับประเด็นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งที่ประชาชน 31.9% ที่ต้องการให้มีการปฏิรูป
สุดท้ายเมื่อถามว่า ภาคส่วนใดคือกลไกสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป 39.6% บอกว่า ภาคประชาชน รองลงมา 24.1% คือ ผู้นำประเทศ และ17.6% คือ ภาคนักการเมือง ขณะที่ กองทัพ ภาคนักวิชาการ และภาคธุรกิจมีประชาชนเพียง 7.0% 6.0% และ 3.0% ตามลำดับที่เห็นว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป
1. เวลานี้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปด้านต่างๆ หรือไม่ 79.3% เห็นว่า "จำเป็นต้องปฏิรูป" 20.7% เห็นว่า "ไม่จำเป็นต้องปฏิรูป"
2. หากต้องปฏิรูป การปฏิรูปต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังในด้านใดมากที่สุดก่อน 41.0% การเมือง/การปกครอง 22.8% เศรษฐกิจ 20.6% กฎหมาย 13.5% สังคม 2.1% อื่นๆ คือ การศึกษา ศีลธรรม จิตสำนึก
3. หากต้องปฏิรูป อยากให้มีการปฏิรูปเรื่องใดมากที่สุด 3 ลำดับแรก 75.4% ความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของกฎหมาย 67.4% การซื้อเสียงเลือกตั้ง 67.0% คดีคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ 32.0% ปฏิรูปวงการตำรวจ 31.9% ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง , 16.6% ปฏิรูปสื่อมวลชน , 2.9% อื่นๆ เช่น วินัยของคนไทย ความคิด การศึกษา คุณธรรม
4. ภาคส่วนใดคือกลไกสำคัญที่สุดในการกำหนดความสำเร็จของการปฏิรูป , 39.6% ภาคประชาชน , 24.1% ผู้นำประเทศ , 17.6% ภาคนักการเมือง , 7.0% กองทัพ , 6.0% ภาคนักวิชาการ , 3.0% ภาคธุรกิจ , 2.7% อื่นๆ ข้าราชการ ทุกภาคส่วน