จับตา!!วันเลือกตั้ง2ก.พ.ซ้ำรอย2เม.ย.2549
จับตาวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557นี้ ผลการเลือกตั้งจะซ้ำร้อยโมฆะ เหมือนการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549
ภายหลังรัฐบาลใส่เกียร์เดินหน้า ลุยเลือกตั้ง 2 ก.พ. ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่เสมือนอยู่ในภาวะสงคราม รัฐบาลไม่หวั่นเสียงต้านจากกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. ที่ประกาศกร้าวชัทดาวน์กรุงเทพฯ บีบนายกฯและรัฐบาลรักษาการ พ้นคณะ ตั้งแต่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา
ระเบิดลูกใหญ่จึงย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ แกนนำกปปส. ต้องแก้เกมหนัก เพราะหลายฝ่ายต่างจับจ้องมองว่า 2 ก.พ.นี้ บรรดาแกนนำข้างถนน ที่ล้วนแล้วแต่เคยเป็นอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น จะเดินเข้าคูหาไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่?
หลังมีกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์คว่าแกนนำกปปส. ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อรักษาสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไป
ดังนั้น หากบุคคลเหล่านี้ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คงไม่ต้องฝันหวานว่าจะหวนกลับไปในเส้นทางประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภาอีกต่อไป
แต่ทั้งนี้ ตามมาตรา 24 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ยังคงเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งเหตุอันสมควรที่ไม่ไปใช้สิทธิ ต่อผู้อำนวยการเขตได้ภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
กระนั้นก็ตาม ถึงแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้มีการแจ้งเหตุอันที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่กฎหมายก็ระบุว่า การแจ้งเหตุนั้นต้องเป็นเหตุอันสมควร ตามระเบียบกกต. เช่น มีธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกล เจ็บป่วย พิการ หรือสูงอายุ เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือมีเหตุสุดวิสัยอื่นที่กกต.กำหนด
ขณะเดียวกัน ถ้าแกนนำกปปส. ไม่แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ ต้องเสียสิทธิ 3 ประการ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. มาตรา 26 ที่ระบุว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ได้ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นส.ส. ส.ว. สภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ด้วย
ทั้งนี้ สิทธิทั้ง 3 ประการจะกลับมาได้ทันที เมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ตามมาตรา 27 ของพ.ร.บ.เดียวกัน
ทว่า อีกนัยหนึ่ง อาจมองได้ว่า หมากเกมนี้ แกนนำกปปส. อาจส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ หากเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมออกมาใช้สิทธิ โดยการ “โหวตโน” ให้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันในการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญก็เป็นได้
หากย้อนไปดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 9/2549 เมื่อครั้งการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ที่ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ บางส่วนของคำวินิจฉัยที่ศาล ระบุว่า “การใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนั้น มีข้อมูลปรากฏว่าบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนและบัตรเสีย มีจำนวนเกินครึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่เป็นบัตรดี ส่งผลให้การปกครองในระบบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปปกครองประเทศนั้น ไม่อาจเป็นไปดังเจตนารมณ์ของรับธรรมนูญ”
ต้องจับตาวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ ว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะซ้ำร้อยโมฆะ เหมือนการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 หรือไม่
หากนับดูปฏิทินการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จ่อคิวเปิดคูหา ให้แกนนำกปปส. กาบัตรลงคะแนน พบว่า ส.ว.จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าน่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ในเดือนเมษายนนี้
เห็นอย่างนี้แล้ว แกนนำกปปส. คงไม่ต้องยี่หระ เพื่อให้เสียฐานมวลชนที่สนับสนุนมาแรมเดือน ถึงแม้ ไม่ไปใช้สิทธิและไม่ประสงค์ที่จะแจ้งเหตุในการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ครั้งนี้ ก็ยังมีการเลือกตั้งส.ว.หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ให้รักษาสิทธิการลงสมัครรับการเลือกตั้งได้อยู่ดี