แนวคิดตั้ง'ตำรวจศาล'

แนวคิดตั้ง'ตำรวจศาล'

ปธ.ศาลปกครอง ปิ๊งตั้ง "ตำรวจศาล" แก้คุกคามตุลาการ

ระหว่างการแถลงข่าวผลการดำเนินงานครบรอบ 13 ปีของศาลปกครอง และการจัดตั้งแผนกคดีบริหารงานบุคคล ที่อาคารศาลปกครอง เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวตอนหนึ่งถึงแนวคิดการจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยให้กับหน่วยงานในองค์กรตุลาการ หรือ "หน่วยตำรวจศาล" เหมือนในต่างประเทศ

"ระยะหลังมีเหตุคุกคามตุลาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลอบปาระเบิดและการคุกคามตัวบุคคลคนที่เป็นตุลาการ ไม่เคยมียุคสมัยใดที่จะมีการคุกคามองค์กรตุลาการมากเท่าปัจจุบันนี้ ที่ผ่านมาเราไม่มีหน่วยให้ความปลอดภัยกับตัวบุคลากรหรือตุลาการเลย จากเหตุการณ์เหล่านี้ผมคิดว่าสมควรมีการจัดตั้งหน่วยงานความปลอดภัย หรือตำรวจศาลแบบในต่างประเทศ โดยเป็นการจัดตั้งของศาลเอง เป็นหน่วยงานภายใน ไม่ต้องมีการจัดตั้งจากหน่วยงานภายนอก" นายหัสวุฒิ กล่าว

เขาอธิบายว่า ศาลไม่มีหน่วยงานคุ้มครองตัวเองโดยตรง เวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็จะมีการส่งกำลังจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาดูแลเป็นครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ หากยังเกิดการคุกคามอยู่แบบนี้ จะส่งผลต่อการตัดสินและการพิจารณาคดีความต่างๆ เนื่องจากตุลาการไม่มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับองค์กรศาลของต่างประเทศ เพราะมีหน่วยงานตำรวจศาลให้การดูแลอย่างดี

"ตอนนี้มีการคุกคามอย่างมาก เพราะเราไม่มีการคุ้มครองตัวตุลาการ ทำให้มีการคุกคามถึงตัวเลย มีการบุกล้อมบ้านตุลาการ ซึ่งหากหนักมากๆ อาจส่งผลต่อการพิจารณาคดีให้ไม่เป็นธรรมได้ สามารถจะเบี่ยงเบนไปได้ ฉะนั้นหากมีการจัดตั้งตำรวจศาลขึ้น เราก็จะสามารถพิจารณาคดีต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรม มีความเที่ยงตรง มีความยุติธรรม และดำรงไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี"

ผู้สื่อข่าวถามว่า การคุกคามศาลเป็นการคุกคามรูปแบบไหน นายหัสวุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีตามที่มีการนำเสนอข่าวสารออกไป การกระทำเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น และแนวคิดนี้ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งหน่วยตำรวจศาลเฉพาะของศาลปกครองเท่านั้น แต่จะต้องทำให้องค์กรตุลาการทั้งหมด เพราะจะได้สร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรในองค์กรศาล และไม่ควรเป็นการจัดตั้งหน่วยความปลอดภัยจากภายนอก ต้องเป็นขององค์กรตุลาการโดยตรง

"ไม่ต้องจำเป็นว่าตำรวจศาลจะต้องมีอำนาจในการตรวจค้น ตรวจจับ แต่มีอำนาจในการดูแลความปลอดภัยกับบุคลากรทั้งหมดในศาลอย่างชัดเจน เช่น หากมีการข่มขู่คุกคามตุลาการ ก็สามารถให้หน่วยตำรวจศาลไปคุ้มครองได้โดยตรง เพราะทุกวันนี้ไม่มีการคุ้มครองใดๆ เลย เวลามีเหตุก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่เพียงพอ หากจัดตั้งสำเร็จก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจในการทำงานของบุคลากรในองค์กรตุลาการมากยิ่งขึ้น"

นายหัสวุฒิ บอกด้วยว่า ในอดีตเขาเองก็เคยถูกขู่ฆ่า และมีบุคคลที่รู้จักกันเสนอตัวจะนำหน่วยงานภายนอกมาให้การคุ้มครองตุลาการ แต่ก็ยังมีความกังวลใจ

"เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนขู่ฆ่า หากใช้คนจากข้างนอก ก็ไม่รู้ว่าคนที่มานั่งอยู่ใกล้ตัวเรา เข้ามาดูแล จะเป็นคนของฝ่ายตรงข้ามเสียเองหรือไม่ ตุลาการก็อาจจะถูกฆ่าได้ง่ายๆ ฉะนั้นต้องมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องดูว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ต้องดูเรื่องงบประมาณที่จะดำเนินการ และอยู่ที่ฝ่ายบริหารว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดและจัดสรรงบประมาณให้หรือเปล่า" นายหัสวุฒิ ระบุ