องค์การนิรโทษกรรมสากลห่วงใช้ม.112

องค์การนิรโทษกรรมสากลห่วงใช้ม.112

ปลัดกต.ชี้แจงความกังวลของนานาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย ด้านนิรโทษกรรมสากลห่วงใช้กฎหมายม.112

มีรายงานจากนครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฎิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงตอบข้อซักถามของประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมรับฟังรายงานว่าด้วยการปฎิบัติตามข้อเสนอในการดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษย์ชนที่ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ในระหว่างการประชุมนายสีหศักดิ์ ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังถึงการปฎิบัติตามข้อเสนอแนะเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน ในประเด็นปัญหาสำคัญหลายประการ อาทิ เรื่องการค้ามนุษย์ สิทธิเด็กและสตรี เป็นต้น นอกจากนี้ นายสีหศักดิ์ ยังได้รายงานสถานการณ์ทางการเมืองให้ทีประชุมรับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ว่า สภาพการเมืองไทยก่อนวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบบการเมืองไม่สามารถทำงานได้ และประชาชนมีความขัดแย้งอาจนำไปสู่การเตรียมการเผชิญหน้ากัน ถ้าหากปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนั้นต่อไป สุ่มเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงหรือทำให้รัฐไทยเข้าสู่ภาวะล้มเหลวได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการควบคุมสถานการณ์แล้ว คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ออกโรดแมป 3 ขั้นตอนที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความปรองดองและความเป็นประชาธิปไตย โดยขั้นตอนแรกคือการสร้างความปรองดองแห่งชาติจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ขั้นที่สองจะเริ่มการปฎิรูป มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ การเลือกตั้งเพื่อไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

"อยากจะขอให้มิตรประเทศทั้งหลายให้ความร่วมมือและอยู่กับเราในการสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย ทุกประเทศสามารถแสดงความห่วงกังวลได้ ถ้าหากท่านมีความห่วงกังวล ประเทศไทยจะไม่หายไปจากแผนที่โลกแน่นอน เราเป็นสังคมเปิด เราก็ยังเปิดอยู่และสถานการณ์ปัจจุบันก็กลับคืนสู่ความปกติ" นายสีหศักดิ์ กล่าวต่อที่ประชุม

จากนั้นที่ผู้แทนประเทศต่างๆได้ซักถามและแสดงความคิดเห็น โดยประเทศที่มาจากเอเชียและกลุ่มอาเซียน อาทิเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว สิงคโปร์ และบังคลาเทศ ต่างได้แสดงความเข้าใจในสถานการณ์ของประเทศไทยและหวังว่าแผนการปฎิรูปทางการเมืองของไทยจะดำเนินไปอย่างราบรื่นตามที่ได้กำหนดไว้

ขณะที่ผู้แทนจากประเทศตะวันตกนำโดย สหภาพยุโรป แคนาดา และ ผู้แทนองค์กรเอ็นจีโอหลายแห่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยหลังจากที่มีการรัฐประหารแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว และการดำเนินคดีของศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกนั้น จะกระทบกระเทือนต่อแผนการในการปฎิบัติตามข้อแนะนำเรื่องสิทธิมนุษชนเป็นอย่างมาก

ส่วนผู้แทนขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยอาญากรรมทางคอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น เป็นสิ่งที่น่าวิตก กังวลอย่างยิ่ง อยากจะให้ผู้แทนไทยชี้แจงประเด็นนี้ให้กระจ่าง นอกจากนี้ยังมีคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆเกี่ยวกับการปฎิบัติต่อการใช้เครือข่ายสื่อสังคมหรือโซเซียลมีเดียทั้งหลายด้วย เนื่องจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าของไทยติดตามตรวจสอบการแสดงความเห็นของประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ นายสีหศักดิ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การพิจารณาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นจะต้องพิจารณาภายใต้บริบททางการเมืองของไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็กำลังพิจารณาการปฎิรูปกฎหมายอยู่ด้วย ส่วนการประกาศกฎอัยการศึกนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มาตราการภายใต้กฎหมายกฎอัยการศึกนั้นทางคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินำมาใช้เพียงไม่กี่มาตรการ และผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวนั้นถูกคุมขังไม่เกิน 7 วัน ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวไปหมดแล้ว เหลืออยู่ในเวลานี้น่าจะประมาณ 20 รายเท่านั้น อีกทั้งผู้ที่จะต้องขึ้นศาลทหารนั้นก็ได้รับอนุญาตให้มีการแต่งทนายความแก้ต่างให้ด้วยเหมือนศาลพลเรือน ในเรื่องโซเซียลมีเดียนั้นปัจจุบันมีข่าวลือปรากฎออกมาค่อนข้างมาก แต่ประเทศไทยไม่มีนโยบายในการปิดกั้นการสื่อสารในสังคมออนไลน์

ภายหลังจากการประชุมที่องค์การสหประชาชาติแล้ว นายสีหศักดิ์ ได้ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับคณะทูตและผู้แทนประเทศต่างๆหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงสถานการณ์และทำความเข้าใจในเบื้องลึกเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยด้วย