ศาลฎีกายกคำร้อง'เสวก'คดียักยอกเพชรซาอุฯ

ศาลฎีกายกคำร้อง'เสวก'คดียักยอกเพชรซาอุฯ

ศาลฎีกายืนยกคำร้อง "จ.ส.ต.เสวก" ลูกน้อง "ชลอ เกิดเทศ" คดียักยอกเพชรซาอุฯ ชี้ศาลอุทธรณ์สั่งถอนถูกต้องแล้ว

ห้องพิจารณา 713 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ จ.ส.ต.เสวก หรือส่วย กันทะมา อดีตตำรวจสังกัด ผ.5 กก.2 ป. จำเลยที่ 7 ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ได้เพิกถอนใบสำคัญสิ้นสุด คดียักยอกเพชรซาอุฯ หมายเลขดำ ด.4903/2536 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ( ปัจจุบันถูกถอดยศ-ตำแหน่งแล้ว ) , พ.ต.อ.ประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ ผู้กำกับการตำรวจม้า กองบังคับการตำรวจสายตรวจ ,

พ.ต.ต.ธานี สีดอกบวบ สารวัตร กก.กาฬสินธุ์ (หลบหนีการดำเนินคดี) ,ร.ต.อ.ฤทธิศาสตร์ แก้วเดช รอง สว.สส.สภ.อ.บ้านตาก จ.ตาก ,ด.ต.เท่ง ติ๊บปะละวงศ์ ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน จ.ลำปาง ,จ.ส.ต.สนิท กาวิชา ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน , จ.ส.ต.เสวก หรือส่วย กันทะมา สังกัด ผ.5 กก.2 ป. (จำเลยทั้งหมดยศขณะฟ้อง) และนายสุรจิต หรือแดงหงอก ชัยศิริ (เสียชีวิตเมื่อปี 2547) เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ,ร่วมกันเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนเองโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 147 , 149 และความผิดอื่นๆ หลายข้อหา

โดยคดียักยอกเพชรดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 พ.ค.49 ยกฟ้องจำเลยที่ 7 ซึ่งจำเลยที่ 7 ไม่ได้อุทธรณ์ จึงได้ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 50 ให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด จากนั้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.50 ศาลชั้นต้นได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุดให้กับจำเลยที่ 7 แต่ปรากฏว่าระหว่างนั้นอัยการยื่นอุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.55 พิพากษากลับจำคุกจำเลยที่ 7 เป็นเวลา 7 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด จำเลยจึงได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าว

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คำสั่งที่ศาลอุทธรณ์เพิกถอนใบสำคัญคดีถึงที่สุด ซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกตามประมวลวิธีพิจารณาความ แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 วรรคสาม เนื่องจากโจทก์ได้อุทธรณ์คดีจึงถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับจำคุก7 ปีจำเลยที่ 7 การที่ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญนั้นจึงเป็นการหลงผิด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือสั่งแก้ไขตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลวิธีความแพ่ง ฯ มาตรา 27 ประกอบประมวลวิธีความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลพิจารณายกโทษที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 7 ปีด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยต้องใช้สิทธิฎีกาในคดีหลัก ซึ่งไม่ใช่ฎีกาในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้

ภายหลังรับทราบคำสั่งแล้ว จ.ส.ต.เสวก จำเลย ได้สอบถามต่อหน้าศาลว่า ในคดีหลักตนได้ยื่นฎีกา แต่ได้ถอนฎีกาแล้ว ดังนั้นจะสามารถยื่นคำร้องขอใบสำคัญคดีถึงที่สุดใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งศาลได้ชี้แจงว่าหากจำเลยมั่นใจว่าอัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกาก็สามารถยื่นคำร้องขอใบสำคัญคดีถึงที่สุดได้

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาแล้ว จ.ส.ต.เสวก จำเลยที่ 7 กล่าวว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง ตนจึงได้ขอให้ศาลออกใบสำคัญคดีถึงที่สิ้นสุดและนำใบดังกล่าวไปยื่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) เพื่อขอคืนเงินและยศตำแหน่ง ซึ่งเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ขณะที่เมื่ออัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ตนก็ยังไม่ทราบเรื่องทันที แต่ขณะนั้นตนได้รับใบสำคัญคดีถึงที่สิ้นสุดจากศาลแล้วในปี 2550 ซึ่งตนทราบเรื่องอุทธรณ์เมื่อได้รับใบแจ้งอุทธรณ์วันที่ 29 ส.ค. 54 จึงได้ให้ทนายความแก้อุทธรณ์สู้คดีไป แต่คดีหลักยักยอกเพชรซาอุ ฯ ตนไม่ได้ยื่นฎีกาแล้ว โดยจะยอมรับสภาพคุมขังในเรือนจำ โดยขณะนี้ตนได้พิจารณาให้เป็นนักโทษชั้นดี ซึ่งรอวันคืนสู่อิสรภาพ

ด้านนายบุญเกียรติ อุดมแสวงโชค อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 กล่าวว่า กรณีการยื่นอุทธรณ์คดีนั้น อาจจะยื่นอุทธรณ์ไม่ทัน กำหนด 30 วัน ซึ่งตามกฎหมายอัยการขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ได้ โดยช่วงรอยต่อดังกล่าว หากจำเลยยื่นขอคดีถึงที่สุด ก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่ศาลที่รับคำร้องขณะนั้นเข้าใจผิดได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวสุดท้ายแล้วต้องยึดคำพิพากษาของศาลเป็นหลัก แม้กรณีนี้จำเลยที่ 7 จะร้องขอเงินเดือนและยศคืนจาก สตช.แล้วจากการยื่นใบสิ้นสุดคดีก็เกิดจากความบริสุทธิ์ใจของจำเลยที่เข้าใจว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครเจตนากลั่นแกล้งใคร อย่างไรก็ดีจำเลย ต้องยอมรับสภาพว่าเงินที่ได้รับคืนไปแล้วจาก สตช. จะเป็นลาภมิควรได้ซึ่งรัฐสามารถเรียกคืนได้บางส่วน หรือทั้งหมดได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้หลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุกจำเลยที่ 7 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 7 ได้ยื่นฎีกาสู้คดี แต่ต่อมาจำเลยที่ 7 กลับยื่นถอนฎีกาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 ขณะที่อัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกาเช่นกันในส่วนของจำเลยที่ 2, 5, 6-7 ดังนั้น ขณะนี้คดีจึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาฎีกา สำหรับ จ.ส.ต.เสวก จำเลยที่ 7 ปัจจุบันถูกคุมขังมาเป็นแล้ว 2 ปี 6 เดือนแล้วภายหลังที่ศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 7 ปี

ส่วนนายชลอ เกิดเทศ จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกถอดยศไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 เมื่ออัยการไมได้ยื่นฎีกาทำให้คดีในส่วนของนายชลอ ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำคุก 20 ปี ขณะที่นายชลอ ได้รับการพักโทษ โดยราชทัณฑ์ได้ปล่อยตัวจากเรือนจำแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค.56 ภายหลังที่นายชลอ รับโทษจำคุกมานานกว่า 19 ปีจากที่ตกโทษประหารชีวิต คดีอุ้มฆ่าแม่-ลูกศรีธนะขันธ์ ภรรยาและลูกของนายสันติ เจ้าของร้านเพชรที่นายชลอ นำตัวไปเพราะเข้าใจว่ามีข้อมูลเพชรซาอุ ฯ ที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ได้ขโมยไปจากวังเจ้าชายไฟซาล ประเทศซาอุดิอาระเบีย และคดียักยอกเพชร ฯ ดังกล่าว