ประเมิน'ประยุทธ์'4ปีบนเก้าอี้ผบ.ทบ.

ประเมิน'ประยุทธ์'4ปีบนเก้าอี้ผบ.ทบ.

งานเด่น-ลูกน้องรัก-ถ่วงดุลอำนาจการเมือง.. ประเมิน"ประยุทธ์"4ปีบนเก้าอี้ผบ.ทบ.

"ตัดสินใจเฉียบขาด รักชาติ รักประชาชน รักสถาบัน มีคุณธรรม แค่นี้ก็น่าจะชี้ว่าเป็นผู้นำกองทัพที่ผู้ใต้บังคับบัญชาภาคภูมิใจได้แล้วนะ"

เป็นคำกล่าวของนายทหารระดับปฏิบัติการยศ "พันเอก" ที่เคยร่วมทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งปัจจุบันนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ควบหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ก็กำลังจะเกษียณจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในวันนี้ (30 ก.ย.)

พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 1 ต.ค.53 มีอายุราชการถึง 4 ปี และแทบไม่มีใครเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถรักษาเนื้อรักษาตัวอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้จนเกษียณอายุ โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองเป็นอย่างที่ผ่านมา หนำซ้ำพรรคเพื่อไทยยังเข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาลตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 54 ด้วย

นายทหารยศพันเอกรายนี้ บอกว่า ใครที่ได้ร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ จะรักท่านทุกคน เพราะท่านเป็นกันเอง แม้การพูดการจาและการสั่งงานจะดูโผงผาง เสียงดัง แต่ก็เป็นสไตล์ทหาร และลูกน้องเข้าใจดีว่าท่าน "ปากร้ายแต่ใจดี"

"สำหรับกำลังพลทั่วไปก็ชื่นชอบท่าน เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดูแลเรื่องสวัสดิการดีมาก" นายทหารยศพันเอก กล่าว ส่วนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกค่อนแคะว่าตั้งเฉพาะพรรคพวกของตนเองนั้น เขาเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ว่าจะใครขึ้นมาเป็นผู้นำเหล่าทัพ ก็ต้องเอาพวกตัวเองไว้ก่อน คิดว่าทหารส่วนใหญ่ในกองทัพเข้าใจได้

"ในยุคที่ต้องทำงานใหญ่ หากไม่ได้ลูกน้องที่มั่นใจ เชื่อใจ ไม่มีทางทำสำเร็จหรอก" นายทหารผู้นี้บอก และว่าเมื่อได้ลูกน้องที่รู้มือเข้ามาทำงาน ทำให้การบริหารงานกองทัพเป็นไปอย่างราบรื่น สั่งงานอะไรไปก็ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดี มีมุมมองของนายทหารที่อยู่นอกกองทัพบกเห็นต่างออกไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ.นานเกินไป จนมีการสร้างเครือข่าย "ทหารเสือราชินี" หรือนายทหารที่เติบโตมาจากกองพันทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) และสาย "บูรพาพยัคฆ์" ซึ่งเติบโตมาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2รอ.) เข้าไปคุมตำแหน่งสำคัญๆ เป็นจำนวนมาก บางตำแหน่งก็เหมือนไปรุกพื้นที่ของหน่วยอื่นด้วย ทำให้ทหารสายอื่นที่จะขึ้นตามไลน์ของตนเอง ไม่สามารถขึ้นได้

กรณีกองทัพภาคที่ 4 คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด พล.ท.กิตติ อินทสร รองแม่ทัพภาคที่ 4 อาวุโสอันดับต้นๆ และเป็นลูกหม้อของทัพ 4 ไม่ได้ขึ้นเป็นแม่ทัพ แต่ถูกโยกไปเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว เมื่อ ก.ย.56 พอเดือน เม.ย. 57 แม่ทัพภาค 4 ก็เปลี่ยนจาก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล (ปัจจุบันครองยศพลเอก) เป็น พล.ท.วลิต โรจนภักดี นายทหารบูรพาพยัคฆ์ ตามสัญญาใจที่ให้ไว้ว่าจะให้ขึ้นแม่ทัพภาคใดภาคหนึ่ง

ปรากฏว่าล่าสุด พล.ท.กิตติ อ้อมกลับมาทัพ4 อีกครั้ง ในตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 4 (แต่ยังไม่ได้ขึ้นแม่ทัพ) ซึ่งกองทัพน้อยที่ 4 ตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับผิดชอบปัญหาภาคใต้ จะเริ่มงานวันที่ 1 ต.ค.นี้ ขณะที่แม่ทัพภาค 4 คนใหม่กลายเป็น พล.ต.ปราการ ชลยุทธ ซึ่งเติบโตมาจากทัพภาค 3 แต่ต้องมาขึ้นเป็นแม่ทัพภาค 4 เพื่อเปิดทางให้ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นแม่ทัพภาค 3 นี่คือตัวอย่างง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าโครงการต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดทำขึ้นในช่วงเป็น ผบ.ทบ. ก็ประสบผลสำเร็จดี เช่น การฝึก "หน่วยทหารทรหด" ที่ให้หน่วยในระดับกองพลจัดชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก แล้วตั้งโจทย์ให้ไปแก้ไขปัญหา และมีการแข่งขันกันด้วย โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการรบเท่านั้น โครงการนี้ทำให้กำลังพลมีความตื่นตัว และสอดรับกับการเตรียมการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่

ขณะเดียวกันยังได้จัดทำ "คู่มือปฏิบัติการทางยุทธวิธี" รวบรวมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติทางทหารใน 10 สาขาวิชาที่สำคัญ เป็นตำราแบบพกพาสำหรับกำลังพล เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน

ด้านความเห็นของเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) อย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ผบ.ทบ. กล่าวว่า ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 54 ที่ได้จัดกำลังทหารออกให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง

ส่วนผลงานอื่นๆ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก็คือ ทำให้กองทัพได้รับการพัฒนาเร็วมาก ปัญหาต่างๆ ที่มองว่าแก้ไม่ได้ หรืออดีตผู้บังคับบัญชาละเลย ไม่ใส่ใจ ก็ได้รับการแก้ไขเกือบทั้งหมดในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิกำลังพล บ้านพัก สวัสดิการ รวมทั้งเรื่องการฝึกอบรมต่างๆ

"อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือ ข้อพิพาทเส้นเขตแดนปราสาทพระวิหาร เพราะศักยภาพของกองทัพบกสามารถลดบทบาทของกัมพูชาที่จะก่อปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ และวันนี้มีแนวโน้มว่าไทยกับกัมพูชาจะคุยกันได้ง่ายขึ้น" พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว

ขณะที่การแก้ไขปัญหาภาคใต้ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้พยายามสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้น แม้ช่วงเป็น ผบ.ทบ.ตำแหน่งเดียวทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ แต่เมื่อเป็นหัวหน้า คสช.ก็ทำทันที โดยเฉพาะการผสานแผนงานและงบประมาณที่กระจายอยู่ใน 52 หน่วยงานให้มีเอกภาพในทิศทางเดียวกัน

เช่นเดียวกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยคัดค้าน เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เห็นด้วยกับวิธีการ จึงออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และเมื่อได้รับผิดชอบปัญหาเต็มมือ ก็สานต่อการพูดคุย และปรับวิธีการที่เหมาะสม

สำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.อกนิษฐ์ บอกว่า ไม่มีเรื่องเสื่อมเสียหรือร้องเรียนอะไรเลย ความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นบ้างก็ไม่ได้เกิดในสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวว่า ความสำเร็จมี 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.การพยายามประนีประนอมระหว่างอำนาจของรัฐบาลชุดเก่ากับกองทัพ ไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดความรุนแรงทางการเมือง 2.ปัญหาภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประนีประนอมระหว่างอำนาจของรัฐบาลกับอำนาจของทหาร 3.ในฐานะผู้นำเหล่าทัพ สามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ตามที่ตัวเองต้องการเกือบ 90%

ส่วนจุดอ่อน คือ ผลจากข้อ 2 ในเรื่องปัญหาภาคใต้ การประนีประนอมกับรัฐบาลมากเกินไป ทำให้กองทัพทำงานไม่ได้ งบประมาณที่ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงไปในพื้นที่ มีหลายจุดที่กองทัพไม่อยากให้ลงไป แต่ด้วยท่าทีประนีประนอม ทำให้เกิดปัญหา กระทั่งมาแก้ไขได้ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าควบคุมอำนาจการปกครองแล้ว กระทั่งกล้าประกาศว่าจะแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ภายใน 1 ปี

"จังหวะในการทำงานของบิ๊กตู่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการชุมนุม ทำได้อย่างมีจังหวะและสวยงาม ตอนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็ได้ใจเยอะ แต่ทั้งหมดนี้เป็นความสำเร็จในหน้าที่ ผบ.ทบ.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผลงานเฉพาะตอนเป็นทหาร ซึ่งอยู่ในขอบเขตจำกัด ไม่กระทบกับเอกชนภายนอก แต่การทำหน้าที่นายกฯ จะส่งผลต่อภาคเอกชน ภาคประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศ"

และนั่นคือข้อห่วงใย กับความท้าทายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำหน้าที่นายกฯได้ดีเหมือนสมัยที่ทำหน้าที่ ผบ.ทบ.หรือไม่