รธน.ใหม่รับรอง'เพศสภาพ'เท่าเทียม
(รายงาน) รธน.ใหม่รับรอง"เพศสภาพ"เท่าเทียม จำกัดเสรีภาพการพูดป้องกันแตกแยก
การประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่าง) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตามข้อเสนอของคณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราแห่งรัฐธรรมนูญ วันที่ 3 วานนี้ (14 ม.ค.) เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ในร่างมาตรา (1/2/2) 14 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นของตนโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"
และในวรรคสองระบุว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนาหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน"
ทั้งนี้ อนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ ได้ชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อให้การจำกัดสิทธิของประชาชนในการพูด เขียน พิมพ์ โฆษณาไม่สามารถกระทำได้ ยกเว้นเป็นการกระทำที่เข้าข่าย คือ การก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความไม่สงบ ดังนั้นการใช้เสรีภาพดังกล่าวอาจจะถูกจำกัดได้ด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย
นอกจากนั้น กมธ.ยกร่างฯ ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า บทบัญญัตินั้นเขียนเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปสร้างความเกลียดชังหรือคำนิยามที่เรียกว่า hate speech (ถ้อยคำรุนแรง ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) โดยมีข้อเสนอให้เขียนคำจำกัดความลักษณะของการกระทำความผิดหรือการกระทำที่เข้าข่ายที่ทำให้เกิดความเกลียดชังไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ดี ทางอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ แสดงความเห็นโต้แย้งและชี้แจงว่า หลักการที่จะรับรองให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ต้องเขียนเป็นถ้อยคำที่ไม่จำกัดดุลยพินิจและวิจารณญาณของผู้ที่พิจารณาหรือถ้อยคำในกฎหมาย ดังนั้นการเขียนถ้อยคำที่ว่าเพื่อไม่ให้ใช้เสรีภาพกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม ถือเป็นกรอบที่จะใช้ในการเขียนกฎหมายอย่างละเอียดต่อไป
หลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯได้มีการอภิปรายกันพอสมควรแล้ว จึงมีมติให้ผ่านมาตราดังกล่าว โดยให้คงถ้อยคำตามข้อเสนอของอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างมาตรา (1/2/2) 15 โดยอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ ได้เสนอบทบัญญัติที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยได้มีการอภิปรายความเห็นเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่ทางอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯนำเสนอ
โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดมาตรการป้องกันรัฐใช้สิทธิการเวนคืนที่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวมถึงการกำหนดกรอบระยะเวลาและวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดเป็นประเด็นการฟ้องร้องในชั้นศาล และการเวนคืนอันเป็นการกระทบสิทธิในที่อยู่ของประชาชน โดยรัฐจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นก่อน ทั้งนี้ที่ประชุมและอนุกมธ.ได้สรุปความเห็นให้มีการปรับถ้อยคำตามข้อเสนอก่อนที่จะผ่านการพิจารณามาตราดังกล่าว
สำหรับบทบัญญัติในมาตรา (1/2/2) 15 ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มีบทบัญญัติวรรคแรกว่า "สิทธิในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" วรรคสองระบุว่า "การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ"
ส่วนวรรคสาม ระบุว่า "การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกิจการของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น โดยต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ไว้ให้ชัดแจ้ง และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มาสภาพและที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน และถ้ามิได้ใช้เพื่อการนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องคืนให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น จุดเด่นของหมวดสิทธิเสรีภาพของบุคคลมีการแยกเป็น 3 ส่วน คือ บททั่วไป สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง โดยมีคำใหม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ บัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยมีการเพิ่มคำว่า "เพศสภาพ" เข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองเสรีภาพของคนกลุ่มนี้ แต่ยังไม่ถึงขั้นรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยเห็นว่าในส่วนนี้น่าจะไปอยู่ในกฎหมายลำดับรองมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ คือ การจำกัดเสรีภาพเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งเป็นการบัญญัติตามสภาพปัญหาในปัจจุบัน ที่มีการใช้คำพูดยั่วยุหรือที่เรียกว่า hate speech โดยประเด็นนี้จะเกี่ยวพันถึงการใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนทุกแขนง รวมถึงในโลกออนไลน์ด้วย โดยอาจต้องมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มฐานความผิดและการกำหนดโทษเพิ่มเติม
ที่สำคัญหลังจากนี้น่าจะมีการต่อยอดเพื่อทำให้เกิดนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับ "ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง" ว่ามีความหมายอย่างไร