สองเสาหลักค้ำยุโรปสั่นคลอน เปิดสาเหตุ ‘เยอรมนี-ฝรั่งเศส’ สู่ยุคตกต่ำ รัฐบาลล่ม
เสาหลักของยุโรปกำลังสั่นคลอน วิกฤติการเมืองเศรษฐกิจใน ‘เยอรมนี’ และ ‘ฝรั่งเศส’ กระทบเสถียรภาพของทั้งอียู เมื่อสองประเทศนี้เผชิญปัญหาพลังงานแพง อุตสาหกรรมซบเซา และหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น
KEY
POINTS
- เศรษฐกิจของเยอรมนีกับฝรั่งเศส คิดเป็น 41% ของจีดีพีทั้งหมดของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ เรียกได้ว่าเป็น “สองเสาหลัก” ที่คอยค้ำจุนอียูไว้
- Thyssenkrupp AG ผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และเป็นหนึ่งในแรงเบื้องหลังของอุตสาหกรรมเยอรมนี ประกาศลดแรงงานในหน่วยธุรกิจเหล็กลง 40% ใน 10 ปีนี้
- การขาดดุลงบประมาณภาครัฐในฝรั่งเศสมีแนวโน้มเกินกว่า 6.1% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์จำกัดของยูโรโซนถึงสองเท่า อีกทั้งหนี้สาธารณะอยู่ที่ 110% ของจีดีพี และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) ฟื้นตัวได้ไม่นาน ก็เกิด “มรสุมใหญ่” ขึ้นอีกครั้ง เมื่อผู้นำของ “เยอรมนี” และ “ฝรั่งเศส” หลุดจากตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนีพ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจจนต้องยุบสภา ขณะที่ฝรั่งเศส ก็เผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เมื่อนายกรัฐมนตรีมิเชล บาร์นิเยร์ถูกสภาขับออกจากตำแหน่ง
เมื่อการเมืองทั้งสองประเทศสั่นคลอนเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งยุโรปสั่นไหวตามไปด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีกับฝรั่งเศส คิดเป็น 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมดของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ เรียกได้ว่าเป็น “สองเสาหลัก” ที่คอยค้ำจุนอียูไว้
ฌัก ชีรัก อดีตประธานาธิบดีและรัฐบุรุษของฝรั่งเศส เคยกล่าวในการประชุมระหว่างสองประเทศสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดของอียูเมื่อเกือบ 25 ปีก่อนว่า “เมื่อฝรั่งเศสและเยอรมนีก้าวหน้า ยุโรปทั้งทวีปก็ก้าวหน้าตาม แต่เมื่อทั้งสองประเทศหยุดชะงัก ยุโรปทั้งทวีปก็หยุดชะงักตามไปด้วย”
หากย้อนไปแต่ก่อน ช่วงเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะกรีซ มีพี่ใหญ่สุดของยุโรปอย่างเยอรมนีที่คอยพยุงทั้งยุโรปไว้ ไม่ให้ล้มตามกรีซ จนผ่านพ้นวิกฤติไปได้ แต่ในปัจจุบันกลับไม่ใช่อีกต่อไป เมื่อพี่ใหญ่ป่วยเรื้อรัง อีกทั้งพี่รองอย่างฝรั่งเศสก็ไม่สบายตามไปด้วย นำไปสู่ภาวะการเมืองอันไร้เสถียรภาพ และรัฐบาลล่มขึ้นมา
- แผนที่ EU (เครดิต: european-union) -
เมื่อเครื่องยนต์เดิมของเยอรมนีไปต่อไม่ได้?
เริ่มจากพี่ใหญ่สุดของอียู “เยอรมนี” เผชิญเศรษฐกิจซบเซาจนสุ่มเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งมีที่มาจากปัญญาราคาพลังงาน โดยในยุคที่อังเกลา แมร์เคิล ครองอำนาจนายกรัฐมนตรี เยอรมนีกับรัสเซียยังคงมีความสัมพันธ์อันดี เยอรมนียังคงใช้แหล่งพลังงานราคาถูกจากรัสเซียได้
แต่หลังจากรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ เยอรมนีลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลงเรื่อย ๆ ตามมาตรการคว่ำบาตร และหันไปซื้อพลังงานจากสหรัฐที่มีราคาสูงกว่าแทน นั่นจึงทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศสูงขึ้น และเร่งให้ค่าครองชีพของประเทศพุ่งทะยาน
อีกปัจจัยสำคัญ คือ อุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนประเทศอย่าง “ยานยนต์” ดูเหมือนอาจไปต่อไม่ได้แล้ว จากกรณี “โฟล์คสวาเกน” (Volkswagen) ยักษ์ใหญ่รถชื่อดังของเยอรมนีประกาศปิดโรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แห่งในประเทศ ซึ่งเป็น “ครั้งแรก” ในรอบ 87 ปี และจ่อปลดคนงานนับหมื่นคน เนื่องจากแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จาก “จีน” ไม่ได้ และอีวีจีนได้เข้ายึดส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยปัญหาพลังงานแพง และยานยนต์ที่เริ่มแข่งขันกับต่างชาติลำบาก กลายเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ โดยหลังจากเศรษฐกิจหยุดชะงักมา 5 ปี เศรษฐกิจของเยอรมนีในขณะนี้มีขนาดเล็กลง 5% เมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโตก่อนเกิดโรคระบาด และนี่ได้ทำให้โอลาฟ ชอลซ์แพ้การลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. จนหลุดจากตำแหน่ง
“แบบจำลองทางเศรษฐกิจปัจจุบันของเยอรมนี ซึ่งมีการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูก และการผลิตเครื่องยนต์สันดาปเป็นแกนหลัก ดูเหมือนจะล้าสมัยแล้ว แต่บรรดาผู้นำการเมืองแทบจะไม่กล้าพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย” ไค อาร์ไซเมอร์ นักวิทยาศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัย Mainz กล่าว
ด้านเอมี เว็บบ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Future Today Institute ซึ่งให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์แก่บริษัทเยอรมันให้ความเห็นว่า “เยอรมนีไม่ได้ล่มสลายอย่างฉับพลัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้สถานการณ์นี้ช่างน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง นี่เป็นการถดถอยที่ช้ามาก และยืดเยื้อมาก ไม่ใช่ของบริษัท ไม่ใช่ของเมือง แต่ของทั้งประเทศ และทั้งยุโรปก็ถูกฉุดรั้งลงไปด้วย”
ยิ่งไปกว่านั้น ไม่นานมานี้ “ธิซเซ่นครุปป์ เอจี” (Thyssenkrupp AG) ผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นหนึ่งในแรงเบื้องหลังของอุตสาหกรรมเยอรมนี ประกาศลดแรงงานในหน่วยธุรกิจเหล็กลง 40% ใน 10 ปีนี้ และปิดเตาหลอมเหล็กสองแห่ง จนจุดกระแสการประท้วงขึ้นในประเทศ
“นี่ได้ทำลายหัวใจของผม! คุณไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้คนแบบนี้ได้ เราทำงานหนักเพื่อ Thyssenkrupp อย่างมาก” เฮลมุท เรนค์ ประธานสภาแรงงานอายุ 62 ปีที่นำการประท้วงนี้กล่าว
เครดิตฝรั่งเศสน่าเชื่อถือน้อยกว่ากรีซ
สำหรับเศรษฐกิจของพี่รองยุโรปหรือ “ฝรั่งเศส” ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน ในปีนี้ การขาดดุลงบประมาณของภาครัฐในฝรั่งเศสมีแนวโน้มเกินกว่า 6.1% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์จำกัดของยูโรโซนถึงสองเท่า อีกทั้งหนี้สาธารณะอยู่ที่ 110% ของจีดีพี และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่ “ตลาดพันธบัตร” ในเดือนนี้ประเมินว่า ความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของฝรั่งเศสนั้นต่ำกว่ากรีซเล็กน้อย ซึ่งอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินความน่าเชื่อถือของประเทศในการบริหารหนี้สินระยะยาว ถือเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดว่า จะเห็นกรีซ ซึ่งเคยเป็นคนป่วยของอียู มีเครดิตน่าเชื่อถือกว่าฝรั่งเศสในปัจจุบัน
เดนิส เฟอร์รานด์ หัวหน้าสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Rexecode ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส มองว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสอ่อนแอลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“บริษัทฝรั่งเศสและยุโรปมีความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับบริษัทจีน เนื่องจากต้นทุนการผลิตของเราเพิ่มขึ้น 25% นับตั้งแต่ปี 2019 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในช่วงเวลาเดียวกัน” เฟอร์รานด์กล่าว
เฟอร์รานด์อธิบายอีกว่า สาเหตุนั้นเกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นเวลานาน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งเขากล่าวว่า ได้นำไปสู่ “ความระมัดระวังอย่างมาก” ในการบริโภค
นอกจากนี้ ในมุมมองของฮาเวียร์ ดิอาซ-กิมเมเนซ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก IESE Business School ของสเปนกล่าวว่า “สำหรับนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ในฝรั่งเศสดู 'แย่มาก' ”
“หากไม่มีงบประมาณ พวกเขาอาจผิดนัดชำระหนี้ได้จริง ๆ ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหนี้ แต่เพราะพวกเขาจะไม่จ่ายหากไม่มีงบประมาณ หน่วยงานจัดอันดับเครดิตออกคำเตือนแล้ว พันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสอายุ 10 ปี กลับมีค่าพรีเมี่ยมสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลกรีก ซึ่งเป็นเรื่องบ้าอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ” ฮาเวียร์กล่าว โดยกรีซเคยสูญเสียสถานะเครดิตระดับลงทุนชั่วคราวในช่วงวิกฤติหนี้ยูโรโซน ซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของประเทศ
จะเห็นได้ว่า สหภาพยุโรปเปรียบเสมือน “บ้านหลังใหญ่” ที่เยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นเสาหลักสำคัญ เมื่อเสาหลักทั้งสองเริ่มสั่นคลอน บ้านก็มีความเสี่ยงเสียสมดุลตาม วิกฤติในทั้งสองประเทศกำลังคุกคามเสถียรภาพของเศรษฐกิจยุโรปทั้งระบบ และหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้ผลกระทบของปัญหานี้ลุกลามไปทั่วโลกได้
อ้างอิง: guardian, bloomberg, dw, กรุงเทพธุรกิจ, dww, cnbc, reuters