‘เยอรมนี’ จากโฟล์คสวาเกนปิดโรงงาน สู่ ‘ยักษ์ร่วงโรย’ แห่งยุโรป?

‘เยอรมนี’ จากโฟล์คสวาเกนปิดโรงงาน สู่ ‘ยักษ์ร่วงโรย’ แห่งยุโรป?

‘เยอรมนี’ กำลังเผชิญพายุเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่คุกคามฐานรากอุตสาหกรรมประเทศ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง ‘โฟล์คสวาเกน’ ถึงขั้นปิดโรงงานและปลดพนักงานนับหมื่นคน สาเหตุหลักมาจากต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูง ปัญหาประชากรสูงอายุ และการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน

KEY

POINTS

  • “ยานยนต์” ถือเป็นอุตสาหกรรมหัวใจของเยอรมนี เพราะคิดเป็นสัดส่วน 5% ของจีดีพี อีกทั้งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ
  • “เยอรมนี” พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียอย่างมาก โดยคิดเป็นกว่า 55% ของปริมาณก๊าซนำเข้าทั้งหมดในปี 2021
  • IMF เตือนว่า หากเยอรมนีไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้เพียง 0.7% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึงครึ่งหนึ่ง

หรือยุคทองทางเศรษฐกิจ “เยอรมนี” จะสิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าล่าสุดรอดจากเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างหวุดหวิด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.2% ในช่วงไตรมาสสาม แต่เหตุการณ์ที่ “โฟล์คสวาเกน” (Volkswagen) ยักษ์ใหญ่รถชื่อดังของเยอรมนีประกาศปิดโรงงานไม่ต่ำกว่า 3 แห่งในประเทศ ซึ่งเป็น “ครั้งแรก” ในรอบ 87 ปี และจ่อปลดคนงานนับหมื่นคน ก็ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีนับจากนี้จะเข้าสู่ “ช่วงขาลง” หรือไม่  

เหตุผลเพราะ “ยานยนต์” ถือเป็นอุตสาหกรรมหัวใจของเยอรมนี เพราะคิดเป็นสัดส่วน 5% ของจีดีพี และได้จ้างงานเกือบ 800,000 คน ซึ่งประมาณ 37% ทำงานให้กับโฟล์คสวาเกน อีกทั้งสิ่งที่ประเทศนี้ส่งออกต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ยานยนต์นั่นเอง ที่มูลค่าราว 149,000 ล้านดอลลาร์

คำถามต่อมาคือ อะไรคือ “ปัจจัยหลัก” ที่กดดันเศรษฐกิจพี่ใหญ่สุดของยุโรปให้เข้าสู่ภาวะยากลำบากเช่นนี้

ราคาพลังงานพุ่งสูงบีบเยอรมนี

ในบรรดาประเทศในยุโรป โดยเฉพาะ “เยอรมนี” พึ่งพาก๊าซจากรัสเซียอย่างมาก โดยคิดเป็นกว่า 55% ของปริมาณก๊าซนำเข้าทั้งหมดในปี 2021 แต่ด้วยการเผชิญหน้ากับรัสเซียจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เยอรมนีจึงพยายามลดการนำเข้าก๊าซรัสเซียลงเรื่อย ๆ แต่นั่นก็เป็นตัวเร่งให้ค่าครองชีพของประเทศพุ่งทะยาน และยังทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมสูงขึ้น จนยากที่จะแข่งขันกับต่างชาติ

สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากของเยอรมนี เช่น เคมี โลหะ และกระดาษ ซึ่งแม้จะครองสัดส่วนการผลิตเพียง 16% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่กลับใช้พลังงานอุตสาหกรรมเกือบ 80% ด้วยต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ ในภาคส่วนนี้จำเป็นต้อง “หยุดการผลิตชั่วคราว” เพื่อรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทบการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ

จีนไล่กวดเยอรมนีในตลาดรถยนต์โลก

อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันเศรษฐกิจเยอรมนี คือ “จีน” โดยการเติบโตของเศรษฐกิจของเยอรมนีผูกกับจีนไม่น้อยโดยเฉพาะด้านยานยนต์ ดังจะเห็นจากเยอรมนีเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ “คัดค้าน” การเก็บภาษีอีวีจีนในอัตราสูง เพราะกังวลว่ารถเยอรมันที่ขายในตลาดจีน จะโดนตอบโต้ด้านภาษีจากจีนเช่นกัน จนอาจทำให้อุตสาหกรรมส่งออกหลักนี้ย่ำแย่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเยอรมนีและจีน ในอดีต ทั้งสองประเทศมีการเติบโตแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยเยอรมนีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์และเครื่องจักรไปยังจีน ขณะที่จีนส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมา 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนมีความสามารถในการผลิตสินค้าเหล่านี้เองได้มากขึ้น และยังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก โดยเฉพาะ “ตลาดรถยนต์” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของเยอรมนี นั่นจึงทำให้แต่เดิม ค่ายรถยุโรปจากที่เคยครองตลาดโลก ถูกอีวีจีนเข้ากลืนกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบีบให้โฟล์คสวาเกนปิดโรงงานลง

“จีนกลายเป็นคู่แข่ง (ของเยอรมนี) แล้ว” คาร์สเทน เบรซสกี (Carsten Brzeski) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคระดับโลกของธนาคาร ING กล่าว
 

‘เยอรมนี’ จากโฟล์คสวาเกนปิดโรงงาน สู่ ‘ยักษ์ร่วงโรย’ แห่งยุโรป?

- รถโฟล์คสวาเกน (เครดิต: Volkswagen) -

ประชากรสูงวัย ผู้อพยพลดลง ฉุดเศรษฐกิจ

ในปัจจุบัน เยอรมนีกำลังเผชิญกับ “ปัญหาประชากรสูงอายุ” และ “การขาดแคลนแรงงาน” ที่รุนแรงขึ้น โดยเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชากรสูงอายุของประเทศได้รับการชดเชยด้วยผู้อพยพเข้าประเทศจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีผู้อพยพเข้ามาน้อยลง ทำให้บริษัทขาดแคลนแรงงาน

โดยรวมแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ประชากรวัยทำงานของเยอรมนีจะหดตัวลงปีละ 0.5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

อนาคตเยอรมนีจะไปทิศทางไหน

อย่างแรก คือ “ยานยนต์” ที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนจีดีพีประเทศอาจเริ่มไปไม่รอด แล้ว ซึ่งถ้าเยอรมนีไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ ก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จีดีพีประเทศจะหดตัวลง โดย IMF ออกคำเตือนว่า หากเยอรมนีไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้เพียง 0.7% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึงครึ่งหนึ่ง โดยแม้ว่าการเพิ่มการลงทุนภาครัฐจะเป็นทางออกหนึ่ง แต่เยอรมนีกำลังเผชิญกับข้อจำกัดทางการคลังที่เข้มงวด จนทำให้การลงทุนด้านสาธารณะลดลงอย่างมาก

“ความได้เปรียบที่ประเทศได้สร้างขึ้นมาหลายทศวรรษในด้านเทคโนโลยีการสันดาปของรถ กำลังลดความสำคัญลง และโมเดลการส่งออกของเยอรมนีกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การคุ้มครองทางการค้าทั่วโลก และจุดอ่อนด้านสถานที่ตั้ง” รายงานร่วมกันโดยสถาบันเศรษฐกิจเยอรมันและ Boston Consulting Group ระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น เยอรมนียังเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งภาษี ค่าแรง และพลังงาน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือเนื่องจากประชากรสูงอายุ
งานวิจัยของสหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมันระบุว่า เศรษฐกิจเยอรมันต้องการ “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลังสงคราม” ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนมหาศาลประมาณ 1.4 ล้านล้านยูโร หรือราว 50 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมนวัตกรรม ยกระดับการศึกษา และผลักดันเทคโนโลยีสีเขียวภายในปี 2030

“เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการป้องกันประเทศ เป็นภาคธุรกิจที่กำลังเติบโตในเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมใหม่” สุธา เดวิด-วิลพ์ (Sudha David-Wilp) ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัย The German Marshall Fund กล่าว

สุธาเสริมต่อว่า “ไม่ใช่ความมืดมนทั้งหมด ยังมีหนทางสำหรับการเติบโตอยู่ข้างหน้า บางครั้งสิ่งต่าง ๆ ต้องแย่ลงก่อนจะดีขึ้น และ ‘เซนส์ของการสร้างสรรค์นวัตกรรม’ จำเป็นต้องถูกจุดประกายขึ้นอีกครั้ง”

อ้างอิง: destatisoececonomistcnndwreuterseuro