‘โฟล์คสวาเกน’ วิกฤติขั้นปิดโรงงาน สั่นคลอน ‘เยอรมนี‘ ในฐานะผู้นำยานยนต์โลก
‘โฟล์คสวาเกน’ วิกฤติขั้นปิดโรงงาน สั่นคลอน ‘เยอรมนี‘ ในฐานะผู้นำยานยนต์โลกอาจเสียตำแหน่ง สะท้อนเศรษฐกิจ ‘เปราะบาง’ เสียเปรียบการแข่งขัน หวังเยอรมนีเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
KEY
POINTS
- การผลิตรถยนต์มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจเยอรมันถึง 4%
- การพึ่งพาตลาดเอเชียมากเกินไปก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆ หลังจากภาคการผลิตของอุตสาหกรรมเยอรมันแตะจุดสูงสุดในปี 2560
- ความล้มเหลวในการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด การพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียวทำให้เยอรมนีเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การที่บริษัทรถยนต์เบอร์ 1 ของเยอรมนี "โฟล์คสวาเกน" (Volkswagen) กำลังพิจารณาเตรียมปิดโรงงานหลายแห่งในประเทศเยอรมนี เป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปีของประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัท และอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่ชะลอตัวลงทั่วโลกส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัท สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของบริษัทในการลดต้นทุนและปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ลดลง
สถานการณ์นี้ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนถึงการถดถอยของภาคอุตสาหกรรมในประเทศเยอรมนีในฐานะผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ และความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเยอรมัน ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของเศรษฐกิจโลก
อุตสาหกรรมเก่าฉุด 'เศรษฐกิจ'
วิกฤติครั้งนี้ฉายภาพของความเปราะบางของเศรษฐกิจเยอรมันที่เคยแข็งแกร่ง และยิ่งตอกย้ำความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งสร้างความไม่พอใจของประชาชนจากความล้มเหลวในการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด การพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียวทำให้เยอรมนีเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น การปิดโรงงานของ Volkswagen สะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังของระบบเศรษฐกิจเยอรมัน และเป็นสัญญาณเตือนว่าเยอรมนีอาจสูญเสียตำแหน่งผู้นำในยุโรป
สะท้อนเศรษฐกิจเยอรมัน 'เปราะบาง'
คาร์สเทน เบรซกี้ (Carsten Brzeski) จาก ING ได้วิเคราะห์ถึงวิกฤติของ Volkswagen ว่าเป็นผลมาจากการตัดสินใจทางธุรกิจที่ผิดพลาด แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในเศรษฐกิจเยอรมัน เบรซกี้ชี้ว่าเยอรมนีสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาหลายปีแล้ว และวิกฤติของ Volkswagen เป็นเพียงสัญญาณเตือนถึงความเสื่อมของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Volkswagen ในเมืองซวิคเคา ซึ่งเคยผลิตยานยนต์ไฟฟ้ายนต์ไฟฟ้า 100% จำนวน 247,000 คันในปีที่แล้ว พร้อมทั้งรถยนต์ Lamborghini และ Bentley อีก 12,000 คัน ได้ประกาศปิดตัวลง การตัดสินใจครั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคที่ยังไม่สูงเท่าที่คาดการณ์ไว้ และราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังสูง
นอกจากนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ทำให้คนจำนวนมากตกงาน แต่การผลิตรถยนต์มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจถึง 4% และหากรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โลหะและยาง ก็จะคิดเป็นสัดส่วนถึง 8% ของ GDP ตามรายงานของ Bloomberg Economics
มาร์ติน อเดมเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg Economics กล่าวว่า “ความสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมาก”
รถยนต์ถือเป็นส่วนสำคัญของภาพลักษณ์ของประเทศเยอรมนีในยุคใหม่ เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาคนทั่วโลก เช่น Herbie และ Love Bug ตัวละครรถยนต์ที่เป็นที่รักของเด็กๆ ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความน่ารักและมีชีวิตชีวาของรถยนต์เยอรมัน
การที่ Volkswagen สามารถขยายตลาดไปยังจีนและตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 21 หรือในช่วงปี 2001 เป็นต้นมา ถือเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดและประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่การพึ่งพาตลาดเอเชียมากเกินไปก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆ หลังจากภาคการผลิตของอุตสาหกรรมเยอรมันแตะจุดสูงสุดในปี 2560 ก็เริ่มเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
โมนิกา คนนิทเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล เตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าประเทศเยอรมนีจะสูญเสียสถานะผู้นำด้านอุตสาหกรรม
"บริษัทเยอรมันสามารถประสบความสำเร็จต่อไปได้ หากพวกเขาสามารถแข่งขันได้ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดและผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ในขณะที่ควบคุมต้นทุนได้ เนื่องจากเยอรมนียังคงเป็นผู้นำตลาดโลกในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มตลาดเฉพาะทางหรือ niche market"
อ้างอิง Bloomberg