นายกฯยันเดินหน้าสัมปทานปิโตเลียม

นายกฯยันเดินหน้าสัมปทานปิโตเลียม

"นายกฯ" ยันเดินหน้าสัมปทานปิโตเลียม ลั่นห้ามเดินขบวนต้าน ถามกลับหากปท.มีปัญหาร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณี ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช.เสียงข้างมาก ให้เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า ตามกฎหมายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแลในการจัดหาแหล่งพลังงาน ซึ่งไม่ต้องขอตนด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการมีภารกิจดังกล่าว เมื่อมีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ที่ประชุมก็ได้รับทราบ ซึ่งตนได้บอกว่า ให้ไปหารือในการชี้แจงทำความเข้าใจ เมื่อสปช.ไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปดูข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ว่ามีวิธีการใดบ้าง ซึ่งกระทรวงพลังงานก็เดินหน้าไปตามอำนาจที่มีอยู่

“กระทรวงพลังงานเดินหน้าอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะมีการเปิดสัปทานในเดือนก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก ไปหาเรื่องชี้แจง อย่าหาเรื่องออกมาเดินขบวนกันอีก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่าในส่วนของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานมีการพิจารณาในขั้นตอนการดำเนินการแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาพิจารณามาแล้วในขั้นตอนแรก รับทราบแล้วว่าจะไปเปิดสัมปทาน ได้มีการพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสีย และผลประโยชน์ เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบ และเมื่อตนเห็นว่าหากมีปัญหามากนัก ก็ให้นำเข้าที่ประชุมสปช. ซึ่งจะมีเรื่องโครงสร้างพลังงาน ที่จะต้องปรับว่าในอนาคตจะทำอย่างไร เป็นการปรับให้เหมาะสม ตามสถานการณ์ข้อมูลข้อเท็จจริง และวันนี้ที่มีการพูดกันได้เอาข้อเท็จจริงมาพูดกันทั้งหมดแล้วหรือยัง จึงทำให้ไม่เข้าใจ

นายกฯ กล่าวว่า ความมั่นคงพลังงาน มีการเตรียมการสำรองหาพลังงานไว้ล่วงหน้า ซึ่งในการสำรวจต้องดูว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ โดยกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่าหากมีการสำรวจแล้วเจอแหล่งพลังงาน รัฐบาลจะสามารถแก้ไข ปรับปรุงกฎระเบียบในเรื่องของค่าตอบแทน ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่วันนี้หากบอกว่างดการให้สัมปทาน แล้วใครจะสามารถตอบคำถามได้ว่ามีแหล่งพลังงานจริงหรือไม่ ซึ่งวันนี้มีแหล่งพลังงานอยู่ก็จริง แต่มีหลายบริษัทที่ทำอยู่ แต่ 29 แห่ง ตรงนี้กำลังจะหมดไปอีก 6 ปีข้างหน้า ดังนั้นต้องเตรียมการสำรอง

“เราตอบไม่ได้ว่าตอนนี้แหล่งพลังงานมีเยอะหรือน้อย แต่ทางธรณีวิทยา เขารู้หมดว่าข้างล่างเป็นอย่างไร เพราะเขาสำรวจด้วยดาวเทียม ว่าข้างล่างมีชั้นดินแบบไหนบ้าง ประเทศไทยเป็นคนละอย่างกับต่างประเทศ จำเป็นต้องดูให้ลึกซึ้ง จะฟังข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ และอย่าไปขัดแย้ง ต้องหาช่องทางในการพูดคุยที่เหมาะสม อย่าไปปลุกระดม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรก็มีกลุ่มที่เคยออกมาร้องเรียนก่อนหน้านี้ นายกฯ กล่าวว่า ทุกกลุ่ม รวมถึงไม่ให้มีการจัดเวทีระดมความเห็นด้วย ไม่เอา ไปทำอย่างอื่น เรื่องนี้จบก็จบ หากไม่เห็นด้วยเมื่อมีการเสนอมา เราก็รับทราบ แต่กฎหมายเขียนว่าอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปตามนั้น วันหน้าหากมีปัญหามา ไอ้พวกนี้ได้เข้ามารับผิดชอบด้วยหรือเปล่า ถ้ามาก็เขียนชื่อมา สมมุติว่าทำสัมปทานนี้ไม่ได้ อีก 6 ปีข้างหน้า มันไม่มีน้ำมันขึ้นมา ไอ้คนพวกนี้รับผิดชอบไหม ถ้ามาก็มาเลยมาเซ็นต์สัญญากันไว้ และขออย่าไปขยายความขัดแย้ง แล้วรู้หรือไม่ว่าความมั่นคงทางพลังงานคืออะไร 1.ถ้าเขาปิดท่อแก๊สทั้งหมดรอบบ้านเราจะเอาแก๊สจากไหนทั้งหมดมาใช้ ถ้าอย่างนั้น ก็ไปเจาะในบ้านเอง 2.ถ้าเขาปิดสายไฟฟ้าจากต่างประเทศที่ซื้อมากี่เปอร์เซ็นต์จะทำอย่างไร บางคนบอกว่าไม่เห็นจำเป็น มีสตางค์ซะอย่าง ราคาน้ำมันก็ลดแล้วไปซื้อก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่ขายจะทำอย่างไร อย่างเช่นวันนี้ที่ไม่มีการขายน้ำมันระหว่างประเทศใหญ่กับประเทศเล็กจึงทำให้เราได้อานิสงส์ตรงนี้ นั่นคือวิกฤติที่เขามีและเป็นโอกาสของเรา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราต้องทำ โดยมองว่าทำอย่างไรถึงจะมีรายได้เข้ารัฐมากขึ้น ซึ่งในรัฐบาลนี้ ไม่มีการขึ้นภาษี มีแต่ลดแล้วจะเอาเงินจากส่วนไหนมาพัฒนาประเทศ เพราะภาษีก็ไม่สามารถเก็บได้ตามเป้า เพราะเราสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ต้องทำให้คนรู้ว่าหากอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องมีส่วนร่วม และรัฐบาลได้พยายามทำอย่างโปร่งใส ซึ่งขณะนี้มีหลายๆอย่างที่กำลังหมกในอยู่ โดยเรากำลังจะรื้อฟื้นขึ้นมา