'ประยุทธ์'ให้นโยบายงบปี59เน้นด้านเศรษฐกิจ
นายกฯมอบนโยบายงบปี59 จำนวน 2.7 ล้านล้านบาท แผนงาน 19 เรื่องให้ความสำคัญเศรษฐกิจ สั่งทุกกระทรวงบูรณาการทำงาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จัดโดยสำนักงบประมาณ โดยมีคณะรัฐมนตรี และผู้บริหารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเข้าร่วม
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดทำงบประมาณเพื่อให้เกิดการบูรณาการและความพร้อมในการบริหารใช้จ่ายให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล วันนี้การจัดทำงบประมาณจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยทุกคนต้องทราบว่าประเทศต้องการอะไร ในวันนี้เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อประเทศในทุกมิติ เพื่อเข้าสู่วิสัยทัศน์มั่นคง และยั่งยืน ในช่วงปี 2015-2020 ทุกกระทรวงต้องนำไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นและตีความว่าหน่วยงานของตนเองจะต้องดำเนินการอย่างไรตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งที่ผ่านมาเราขาดความเข้มแข็งพื้นฐานทางเศรษฐกิจขยายตัวจำกัด ไม่มีความต่อเนื่อง มั่นคง จึงต้องปรับปรุงสิ่งที่เป็นอุปสรรค โดยต้องสร้างระบบเศรษฐกิจของเราที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เราต้องสร้างระบบที่ดี โดยข้าราชการที่เข้าต้องทำตามระบบ เพราะมีทั้งคนดีไม่ดี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วงเงินงบประมาณปี 59 ได้กำหนดไว้แล้ว โดยจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบงบประมาณปี 58 โดยมีคตร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบ ไม่ได้ต้องการจับผิด เพียงแต่จะขับเคลื่อนให้ทำงานให้ดีที่สุด เพราะต้องเร่งรัดให้ทันเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศภายใน 1 ปี เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับการจัดทำงบประมาณทุกหน่วยงานได้เน้นย้ำว่าจะต้องปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก โดยการพัฒนาประเทศมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ซึ่งภายนอกคือสิ่งที่ประชาคมโลกสนใจ อาทิ ความเชื่อมโยง สาธารณูปโภคพื้นฐาน ความขัดแย้งของมหาอำนาจต่าง ๆ โรคระบาด การก่อการร้าย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่บ้านเราไม่มีปัญหาดังกล่าว ซึ่งหลายเรื่องได้มีการเตรียมการไว้แล้ว อย่ากังวลตรงนั้นว่าจะทำให้กระทบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม เจตนารมย์ของรัฐบาลต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต้องตีความให้ออกว่ามันคืออะไร การลงทุนและทำงานต้องมีความรู้คคู่คุณธรรม สิ่งที่เราทำวันนี้มี 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนได้ทำไปแล้วในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คู่ขนานไปกับการทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะกลางคือการออกกฎหมาย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)รวมถึงความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทุกคนทำงานคู่ขนานเพื่อให้ประเทศเกิดความยั่งยืนในอนาคต ส่วนระยะที่ 3 คือการส่งต่อให้รัฐบาลถัดไป ทั้งนี้ต้องมีฐานรากที่เข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งซ้ำรอยในวันหน้า
ทั้งนี้สิ่งที่เป็นโครงสร้างใหญ่ ๆ ยังไม่สามารถปรับปรุงได้ชัดเจน เช่น การปรับโครงสร้างกระทรวง ปรับระบบการศึกษา ปรับโครงสร้างตำรวจ หรือหน่วยงานต่าง ๆ นั้นยังทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะเวลามีแค่นี้ ฉะนั้นสิ่งที่ทำในวันนี้คือบริหารงานในขณะที่โครงสร้างเหล่านี้ยังมีอยู่ แต่อาจจะต้องมีการปรับแก้ภายในโดยผู้บังคับบัญชาต้องสั่งการว่าจะมีหน้าที่ใดเพิ่มเติม หน่วยงานใดงานน้อยต้องปรับเพิ่ม
สำหรับโครงสร้างพลังงานเราแก้ได้แต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับราคาตลาด เราไม่ได้พูดว่าจะปรับกระทรวงพลังงาน ปตท.อย่างไร เป็นคนละเรื่อง อย่านำเรื่องดี ๆ มาตีให้ไม่ดีและพังไปทั้งหมด วันนี้เราต้องทำอย่างไรที่จะเดินหน้าประเทศ สร้างความไว้ใจให้กับประชาชน คนทั่วไปมาห่วงว่ามีกลุ่มอำนาจ มันไม่มีทั้งนั้น มีไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าวันนี้ วันไหนก็มีไม่ได้ มีแต่เพียงอำนาจในการบริหารราชการ ปกครองบังคับบัญชาในหน่วยงานแค่นั้น การแสวงผลประโยชน์จะต้องไม่มีเด็ดขาด คนในประเทศต้องเข้าใจว่าเราพูดทำไม เราบอกได้เพียงว่าเราไม่ต้องการผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น สลึงเดียวก็ไม่ต้องการ และอยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและการทำงานในช่วงที่ 2 ทุกหน่วยงานต้องทำให้ดีที่สุดและช่วยอธิบายสร้างเข้าใจแทนตนเองด้วย ซึ่งคณะทำงานต่าง ๆ ที่ตั้งมานั้นตั้งขึ้นเพื่อทำงานไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 -3 ของปร 58 คาดว่าสิ่งที่เราได้ทำทั้งการปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดระเบียบประมง การตรวจสอบการทุจริตนั้นทั้งหมดจะเห็นผลงานออกมา
นายกรัฐมนตรี กล่าววันนี้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้นแล้วในไตรมาสที่ 4 เมื่อปี 57 หลายคนกังวลว่ารัฐบาลเข้ามาแบบนี้แล้วจะไม่มีคนมาเที่ยวเพราะมีกฎหมายพิเศษ แต่ตนไม่เห็นว่าเขาจะตื่นเต้นอะไร ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณกองทุนในการแก้ปัญหากรณีมีอุบัติเหตุเราก็ชดเชยให้เขา บริษัทไม่ประกันก็ไม่เป็นไร เราต้องดูแลคนต่างชาติให้เหมือนเป็นคนของเราเอง โดยวันนี้ถือว่านักท่องเที่ยวเข้าประเทศเป็นไปตามเป้าหมายถึงแม้จะตั้งไว้ 25 ล้านคน แต่เข้ามา 23 ล้านคนก็ตาม เพราะช่วง 6 เดือนแรกคนไทยยังมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน วันนี้เศรษฐกิจโลกมีการผันผวน การส่งออกทำได้ไม่เต็มที่ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ให้มีการส่งออกเต็มที่ต้องเริ่มจากสร้างความเข้มแข็ง ด้านการตลาด กำหนดอุปสงค์ อุปทาน คือสิ่งที่ต้องเอามาคิด วันนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้มากนัก ที่ผ่านมาภาคเอกชนสามารถเดินได้ตลอดถึงแม้จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็อยู่ได้ แต่เราต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากถ้ายังเดินอย่างนั้นจะยังเข้มแข็งไม่พอ รัฐบาลต้องเป็นส่วนเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่เสียประโยชน์ของชาติ แต่อย่าเอากฎกติกามาทำให้ติดขัดทางธุรกิจ จ้องทำโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ให้เกิดผลกระทบในการทุจริต ซึ่งสนช.ก็พร้อมแก้กฎหมายให้เกิดประโยชน์การติดต่อราชการต้องเป็นวันสตอปเซอร์วิสและได้คำถามตามระยะตามกำหนด ถ้ามีการรายงานมาก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งตนได้สั่งการไว้หมดแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 58 ยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะงบลงทุน อาจจะเป็นเพราะเหตุผลบางประการต้องดูว่าทำอย่างไร บางครั้งทำแต่หัวข้อหลักๆ แต่ไม่มีรายละเอียด ซึ่งต้องจัดลำดับให้ได้ เชื่อว่าในปี 59 นี้จะดีขึ้น โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งจะต้องเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้เกิดการสร้างงานต่อไปเพราะเราไม่สามารถนำเงินไปอุดหนุนให้ทุกกลุ่ม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐคือสิ่งที่รัฐบาลและคสช.ให้ความสำคัญต่อ โดยที่ผ่านมามีการตรวจสอบแต่ยังไม่มีอะไรที่เสียหายร้ายแรง ยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นเด็ดขาด หากเกิดขึ้นก็จะต้องลงโทษ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามามีการปรัลลดราคากลางได้ถึงร้อยละ 20-30 คิดเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท จึงขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาว่าจะสามารถปรับลดราคากลางแต่ละโครงการได้อย่างไร และบางคดีอย่าให้ค้างอยู่ที่ศาล วานนี้ตนหงุดหงิดกับสื่อมาถามตนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเรือท้องแบนของกองทัพ ตนจะรู้ไหม ตระกูลเขาไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร นักข่าวมายั่วอารมณ์แบบนี้ทุกวัน แล้วมาบอกว่านายกฯ ต้องอารมณ์ดี ลองมาเป็นท่านบ้างแล้วกัน อย่ามาถามเรื่องแบบนี้กับตน ให้ไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้ตอบว่าให้ไปแจ้งความ เขาบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของสื่อที่จะร้องเรียนแล้วหน้าที่มันคืออะไร พูดกวนอารมณ์หรืออย่างไร มันไม่ใช่ เรื่องดีๆ ไม่เคยพูดไม่เคยถาม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินปีงบประมาณ 59 ได้กำหนดไว้แล้วที่ 2.7 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 58 ร้อยละ 5.6 ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล เพราะต้องตั้งให้ขาดทุนไว้ไม่เช่นนั้นจะไม่มีงบลงทุน โดยจะควบคุมการขาดดุลในงบประมาณที่อยู่ในกรอบของความยั่งยืน และตั้งเป้าไว้ประมาณร้อยละ 2.9 ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้แม้งบประมาณปี 59 จะเพิ่มขึ้นแต่รัฐบาลพยามยามจะควบคุมรายจ่ายประจำ ไม่เช่นนั้นจะมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน เงินช่วยเหลือ โดยต้องลดความซ้ำซ้อนของงานให้รายจ่ายประจำคงที่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะไปอยู่ในการปฏิรูป ส่วนการลงทุนต้องพิจาณาว่าจะปรับลดรายจ่ายประจำได้อย่างไร เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลจะปรับส่วนใดได้บ้างซึ่งน่าจะทำได้ ทั้งนี้งบประมาณปี 59 มีการตั้งแผนงาน 19 เรื่องที่ครอบคลุมนโยบายสำคัญของรัฐบาล อยากให้ทุกกระทรวงไปดูว่างานของตนเกี่ยวข้องกับอะไร ไม่ใช่กระทรวงของใครของมันใช้งบประมาณของตัวเองทำให้ผลออกมาไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อนและไม่ทั่วถึง วันนี้จึงต้องรับทำร่วมมือบูรณาการให้ทุกส่วนได้รับประโยชน์เป็นการทำงานจากบนลงล่าง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 59 ได้ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ คือประเทศเรามีเกษตรกรเป็นหลักทำอย่างไรให้มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะต้องพัฒนาในด้านการตลาดและเทคโนโลยีในการเพาะปลูกมากขึ้นและสร้างเสถียรภาพของผลผลิตทางการเกษตร ไม่ก่อให้เกิดภาระของประเทศและไม่ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง ต้องเข้าไปดูเรื่องต้นทุนการพัฒนา อย่างเช่น ข้าวที่ต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะไปแข่งขันได้อย่างไร เพราะคุณภาพก็พอ ๆ กัน จึงต้องไปปรับปรุงคุณภาพด้วย
ส่วนราคายางพาราจะทำให้ราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท ได้อย่างไรในเมื่อทั้งโลกเปลี่ยนแปลงเราต้องปรับตัวทั้งคู่ รัฐต้องดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านประชาชนก็ต้องเตรียมตัวไม่ใช่อะไรก็ไม่ได้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ บอกแบบนี้ เราพยายามทำให้เต็มที่ไม่ได้ไปเปิดศึกกับใคร สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเราต้องสร้างให้ได้ เพราะถ้าไม่สร้างเราจะเสียโอกาสในการเป็นประเทศศูนย์กลางการเชื่อมต่อ เราต้องชิงความได้เปรียบในปีนี้ ถ้าไม่ทำก็ไปตามก้นประเทศอื่นในอาเซียน