'วิชา'วอนคนไทยช่วยปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น

'วิชา'วอนคนไทยช่วยปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น

"วิชา" วอน คนไทย เลิกเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ต้องช่วยป.ป.ช.ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ปฏิรูปประเทศ

สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา เรื่องการกำจัดคอร์รับชั่น ก้าวแรกของการปฏิรูป โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย และนพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด

โดยนายวิชา กล่าวว่า ทุกคนมีหน้าที่ผนึกกำลัง ระดมสมองเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เพราะบ้านเมืองเรามีแต่คนดีๆ แต่มีคนไทยบางคนอยู่ด้วยจึงเป็นปัญหา เพราะคนไทยมีลักษณะของการพลิกแพลงได้ดีมาก ลัทธิคอมมิวนิสต์มาถึงเมืองไทยก็พังพินาศไปหมด อะไรดีๆพอมาถึงเมืองไทยก็พังไปหมด ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะช่วยกันแก้ไขพื้นฐานที่ดีของคนไทยกลับคืนมาให้ได้ ทำอย่างไรให้ชาติไทยอยู่รอดได้อย่างสง่างาม ในขณะที่ประเทศต่างๆกำลังจ้องเราตาเป็นมัน หากเขาฮุบประเทศไทยได้เขาก็จะได้รับประโยชน์มหาศาล ดังนั้นเราต้องไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนั้น

“ขอขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ การทำงานในตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นงานที่ยากที่สุด ถึงแม้ว่าจะผ่านกระบวนการและสามารถถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งได้ แต่ไม่ง่ายว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้บ้านเมืองเราเป็นไปได้รอดหรือไม่ หน้าที่ของป.ป.ช.มีหน้าที่อยู่มากที่ต้องดำเนินการขณะที่คนของเราน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนทัศนะคติของคน ไม่ใช่ว่าคุณมีหน้าที่คุณทำไป แล้วดิฉันจะนั่งดู จะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมแรง ร่วมมือ ร่วมใจกัน ฉะนั้นจะมาเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นต้องแก้แบบถอนรากถอนโคน ไม่ใช่แก้แบบขอไปที ให้ยาแบบประครองโรคต่อไปไม่ได้” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวว่า ประเทศไทยมีทุกรูปแบบ หากใครจะมาดูงานได้ ไม่ว่าเรื่องการอุปถัมภ์ค้ำชู การช่วยเหลือพรรคพวก การขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตน ผลประโยชน์ส่วนรวม คอร์รัปชั่นขนาดเล็ก ถึงขนาดใหญ่สุด เวลาที่ตนไปทำข้อตกลง หรือดูงานต่างประเทศทั่วโลก ประเทศเหล่านั้นบอกเราว่าไม่ต้องดูของเขาหรอก เพราะเขาจะต้องดูของเรา ซึ่งตรงนี้ไม่รู้ว่าเป็นคำชมหรือคำด่า แต่ถือว่าประเทศเราเป็นต้นแบบของการทุจริตได้เช่นกัน ทั้งที่ความจริงการทุจริตนั้นมีต้นแบบมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ

นายวิชา กล่าวว่า ความเป็นมาเรื่องการทุจริตในประเทศไทย เกิดขึ้นมาจากความที่ไม่สามารถทนทานต่อความดีงามของผู้อื่นได้ คนดีทำงานในหน้าที่นานๆไปก็มักถูกทำลาย ทำให้เกิดการทำลายชนชั้นผู้ปกครองประเทศ โดยมีการทุจริตคอร์รัปชันเป็น แสวงหาอำนาจ ทุจริตในหน้าที่ เป็นพื้นฐาน ดังนั้นการจะไม่ให้มีคอร์รัปชั่น เราก็ต้องเปลี่ยนทัศนะคติ คือ ต้องตั้งโปรแกรมใหม่สำหรับตัวเราเอง คือในสมองต้องบอกว่าเราจะไม่ยอมจำนน ไม่งอมืองอเท้าปล่อยให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นวิถีชีวิตของเรา จนในที่สุดทำให้สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน เพราะต้องขายตัวเองให้ต่างชาติ เพราะแม้แต่พลังงานที่มีในอ่าวไทยต่างชาติก็ฮุบไปหมดเพราะการคอร์รัปชั่น แล้วเราจะปล่อยให้เป็นปัญหาท้าทายต่อไปหรือ

นายวิชา กล่าวว่า ตนเอาสหรัฐเป็นตัวตั้งเพราะในอดีตสหรัฐ มีรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์มาตลอด ประธานาธิบดีหลายคนของสหรัฐมาจากระบบอุปถัมภ์โดยแท้ ตั้งมาเฟียมาอยู่ในทำเนียบ ซื้อได้ทุกระดับชั่น กระบวนการยุติธรรมเขาซื้อหมด ตั้งแต่ผู้พิพากษา อัยการ บัดนี้สหรัฐแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร จนกระทั่งภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น ก็คือ การต่อต้านการใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นวิถีชีวิตในการปกครองประเทศ มีกฎหมายขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวมนั้นเข้มงวดที่สุด ถือเป็นความผิดอาญาและไม่ปล่อยเด็ดขาด หากใครมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการตัดสินใจเขาจะลงโทษขั้นเด็ดขาด จำคุกไม่มีปล่อย เพราะถือเป็นต้นตอของการทุจริต ดังนั้นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำอันดับแรกคือทำลายระบบอุปถัมภ์ให้ได้ การตัดสินใจใดๆต้องไม่เป็นไปเพื่อพวกพ้องน้องพี่ ต้องเริ่มต้นที่ระบบคุณธรรมจริยธรรม การดำรงชีวิตต้องใช้หลักเหตุผล หลักวิทยาศาสตร์

นายวิชา กล่าวว่า งานวิจัยเป็นตัวที่ต้องพึ่งพาให้มากที่สุด อย่างป.ป.ช.ที่เคลื่อนไหวที่ผ่านมานั้นได้พึ่งพางานวิจัยของทีดีอาร์ไอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเอางานวิจัยมาลงโทษคน แต่เอามาลงลึกซึ้งว่าเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะอะไร ตัวเลขที่เป็นฐานจริงคืออะไร ไม่ใช่พูดเลื่อนลอย เพราะทุกตัวเลขเก็บข้อมูลมาโดยละเอียด เช่น ตัวเลขจากโรงสีข้าว ที่กว่าทีดีอาร์ไอจะได้งานวิจัยมานั้นมีการตรวจสอบอยู่หลายครั้งอย่างเอาจริงเอาจังมาก

นายวิชา กล่าวว่า นอกจากนี้คือการที่เราจะให้ผู้กระทำผิด ผู้มีส่วนร่วม กลับตัวกลับใจ ดังนั้นจึงมีกฎหมายป.ป.ช.เรื่องการคุ้มครองพยาน กันตัวไว้เป็นพยานได้ เช่นในกรณีที่ป.ป.ช.ไต่สวนกรณีทุจริตสอบโรงเรียนนายอำเภอ เพราะเขาพร้อมที่จะมาให้ข้อมูลต่อป.ป.ช. และขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยปกป้องไม่ให้ถูกเล่นงาน ให้เขาสามารถยืนหยัดต่อไปได้ ให้โอกาสในหน้าที่การงาน ดังนั้นในกรณีไต่สวนเรื่องจำนำข้าวก็เช่นกัน หากบริษัทที่ประมูลข้าวที่มาทำสัญญากับรัฐ แต่ถูกบีบให้จ่ายใต้โต๊ะให้ใครต่อใครนั้น เขาก็มาให้ถ้อยคำต่อป.ป.ช.ทั้งหมด เพราะเรามีกฎหมายกันเป็นพยาน ทำให้เขาเดินมาหาเราบอกว่ายินดีที่ให้ถ้อยคำ เพราะเขาสบายใจที่เห็นป.ป.ช.เอาจริงจังว่าทำผิดเป็นผิดถูกเป็นถูก ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ป.ป.ช.จะต้องดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรี

นายวิชา กล่าวว่า เพราะโครงการนี้ดำเนินต่อไปได้ ทั้งที่ผู้บริหารสูงสุดรู้แล้วกลับไม่ยับยั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง และทีแรกบริษัทเหล่านั้นไม่คิดว่าป.ป.ช.จะดำเนินคดีกับผู้บริหารสูงสุดได้ เพราะเขาบอกเลยว่าเขาเสี่ยงมาที่จะมาให้ถ้อยคำ เขาเสี่ยงมากเพราะระบบมันจะกลับมาเหมือนเดิมเวลาเลือกตั้งใหม่ เขาก็จะถูกขึ้นแบ็คลิสต์ บ้านเมืองเรามันเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ ดังนั้นป.ป.ช.ยืนยันไปว่า อย่างนั้นไม่ใช่วิสัยของป.ป.ช. เราทำงานเอาจริง เด็ดขาด เขาจึงเดินมาหาเราและให้ถ้อยคำ ป.ป.ช.จึงได้ข้อมูลทุกรูปแบบ สามารถประกาศได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการจำนำข้าว มีจุดไหนบ้าง เพราะเราได้ข้อมูลจริงจากบริษัทค้าข้าว

นายวิชา กล่าวว่า ยังมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมกฎหมายกันไว้เป็นพยานนี้ ที่เป็นกฎหมายป.ป.ช.ทำไมถึงผ่านมาได้ในสมัยพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงข้างมากในสภา ไม่มีคนท้วงหรือคัดค้าน ซึ่งตนเรียนว่าเราอาศัยความจริงใจ สุจริตใจ และสอดคล้องกับอนุสัญญาที่ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติด้วย เป็นเรื่องของสากลไปแล้ว โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในกระบวนการถอดถอน ที่จะต้องมาดูว่าต้องให้ปรากฎเป็นจริง ก็ขอฝากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ว่าจะแก้ไขอย่างไรว่าจะถอดถอนคนต่อไปได้หรือไม่อย่างไร

“ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ยอมรับ “โกงเงินแผ่นดิน” เลวร้ายสุด “สตง.” ควรเป็นตัวกลางตรวจสอบทุจริต “ภาครัฐ”

ด้านนายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การทุจริตคอรัปชั่นที่กระทำต่อเงินแผ่นดิน ถือว่าเลวร้ายที่สุดเพราะถือเป็นการโกงเงินประเทศ แต่การตรวจสอบการทุจริตเงินแผ่นดินนั้น เราไม่สามารถล่อซื้อได้เหมือนการทุจริตอื่นๆ หรือยัดเยียดข้อหาให้ผู้ต้องสงสัยได้ เพราะทุกอย่างมีเพียงหลักฐานทางการเงินซึ่งเรามีขีดความสามารถในการตรวจสอบหลักฐานดังกล่าว ซึ่งการตรวจสอบเงินแผ่นดินนั้นเมื่อไม่นานมานี้หลายคนคงได้ยินคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการคำนิยามคำว่าเงินแผ่นดินซึ่งในความหมายนั้นไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้อง กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มากนักเพราะการตรวจเงินแผ่นดินที่เราทำนั้นอาจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่อยู่ในนิยามคำว่าเงินแผ่นดิน

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์ความขัดแย้งกัน ระหว่างสตง.กับกระทรวงการคลังเรื่องการคืนท่อแก็สที่มีประเด็นว่า ก่อนที่จะมีการวินิจฉัยของศาลปกครองนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติว่าให้ทั้งสองหน่วยงานไปตกลงกัน เกี่ยวกับตัวเลขที่จะต้องเรียกคืนท่อแก็สกลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง ซึ่งมติครม.บอกว่าให้รับฟังการรับรอตัวเลขประกอบการพิจารณาจากสตง. ซึ่งทางสตง.ก็ทำหน้าที่ในการตรวจสอบในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชี จึงมีการไปรวบรวมตัวเลขข้อเท็จจริงต่างๆ ก่อนที่จะเป็นบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) และนำมาสู่การวิเคราะห์ว่าท่อแก็สทั้งหมดควรจะเป็นเท่าไร

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทวงคืนเม็ดเงินเพียงแต่เราทวงคืนตัวเลขทางบัญชี ที่รัฐวิสาหกิจแห่งนั้นจะกลายเป็นองค์กรมหาชน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่ดิน โดยอาศัยอำนาจรัฐหรือการใช้เงินในฐานะสำนักงานปิโตเลียม ที่เป็นหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อที่ดินหรือการชดเชยความเสียหาย ให้กับประชาชนที่อาศัยตามแนวท่อแก็ส ซึ่งทั้งหมดเราได้คำนวนตัวเลขออกมา แต่วันนั้นเราทราบว่ากำลังจะมีการตัดสินของศาลปกครอง ให้กระทรวงการคลังและปตท.ไปตกลงกันนำตัวเลขที่เป็นที่พอใจของทั้งของฝ่ายแล้ว แต่ในขณะนั้นสตง.ก็เกิดความไม่สบายใจจึงทำหนังสือถึงทั้งสองฝ่ายคือปตท.และกระทรวงการคลังเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า แต่สุดท้ายทางสตง.ไปยื่นหนังสือดังกล่าวไม่ทัน เนื่องจากได้มีการบัญญัติข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ค้างคาอยู่ จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เห็นว่ายังมีตัวเลขที่ยังเรียกคืนไม่ครบถ้วน ประชาชนยังเสียเปรียบอยู่ คสช.จึงให้สตง.เข้ามาดูแลเรื่องการเรียกเก็บเงินเพิ่มให้กับประชาชน และสตง.ได้รับความปรึกษาจะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภาว่าเราควรจะมีการปฏิรูปกฎหมายที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถตรวจสอบข้อเสียเปรียบได้เปรียบ

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การที่เรามีหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ในการปฏิรูปบ้านเมืองที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิรูปก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ของการบริหารเชิงนโยบายสร้างองค์กรมหาชนขึ้นจำนวนมาก โดยทุกองค์กรมีการลงทุน จึงอาจเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย นี่เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการทุจริตเงินแผ่นดินที่สตง.เข้ามามีบทบาทหน้าที่ขจัดการทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ “คอร์รัปชั่น” เป็น “โรคร้ายของสังคม-เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง” เหมือน “โรคเอชไอวี” ชี้ช่องต้องเขียน “กม.” ให้รอบคอบ

ด้านนายนิพนธ์ กล่าวว่า คอร์รัปชั่นถือเป็นโรคร้ายของสังคม เหมือนโรคเอชไอวีที่แพร่พันธุ์ได้เร็วและฉลาดมาก และคอร์รัปชั่นถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง กรณีทุจริตนโยบายรับจำนำข้าว ไม่ว่าชาวนา หรือเซอร์เวเยอร์ ข้าราชการก็ได้ประโยชน์ แล้วใครจะเป็นเจ้าทุกข์ที่จะมาร้องเรียน และคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นเหมือนเกมส์นักโทษ ที่สังคมส่วนใหญ่หากโกง เราก็ต้องโกงไปด้วย แต่ถ้าหากสังคมส่วนใหญ่ไม่โกง ก็ไม่คุ้มที่เราจะโกง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการทุจริตจำนำข้าวนั้นเกิดตั้งแต่ขั้นต้นไปเรื่อยๆ มีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เล่าให้ฟังว่า ในการจดทะเบียนเมื่อชาวบ้านรายงานเกิน เจ้าหน้าที่ก็จะถามว่ามีเท่าหรือที่ปลูกข้าว ซึ่งชาวบ้านก็จะบอกว่าถ้าอยากได้รับเลือกตั้งก็จดทะเบียนมา ซึ่งนี่คือปัญหาจริงที่เกิดขึ้น และการที่มีคนที่เป็นชาวนาเกี่ยวข้องกับโครงการเป็นล้านคน โรงสีอีกจำนวนมาก ก็ไม่อาจจะไปจับได้และถือเป็นเรื่องซับซ้อน

“ผมเชื่อว่าถ้ามีเลือกตั้งเมื่อไร พรรคการเมืองที่เข้ามาก็คงจะต้องดำเนินนโยบายนี้อีก ต้องป้องกันไรผมก็เชื่อว่า ต้องกำหนดให้พรรคการเมืองที่หาเสียง ต้องชี้แจงภาระรายจ่าย และที่มาของเงิน และต้องกำหนดให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ต้องกำหนดงบประมาณรายจ่ายพิเศษที่หาเสียง สำหรับนโยบายที่หาเสียงต่อรัฐตรงนี้ จะทำให้สมาชิกรัฐสภามีส่วนรู้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร เพราะจำกัดจำนวนเงิน จะใช้เงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่โครงการรับจำนำข้าวไม่ต้องขออนุมัติรัฐสภา ใช้เงินนอกงบประมาณ กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตร(ธกส.) ซึ่ง ส.ส. ก็จะเริ่มเห็นว่านโยบายที่ไปหาเสียงมา 10 นโยบายจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรและรู้ว่าถ้าใช้มากก็จะไม่มีเงินนำไปทำอย่างอื่น จะแย่งชิงกัน และบางครั้งให้จัดทำบัญชีทุกหน่วยงาน” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ต้องแก้ไข เพราะขณะนี้รัฐมนตรีใช้อำนาจ ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อสื่อมวลชนเขียนจดหมายไปขอข้อมูล แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ส่งคำร้องไปยังอนุกรรมการวินิจฉัย ทั้งที่ความจริงแล้วต้องส่งมาที่คณะกรรมการวินิจฉัยเศรษฐกิจ ซึ่งตนอยู่ในชุดนี้ด้วย แต่ก็ไม่เคยส่งมา กลับไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยบางชุดที่เข้ารู้ว่าสั่งได้เมื่อปฏิเสธก็จบ นอกจากนี้ต้องจำกัดบทบาทในการแทรกแซงตลาด และแทรกแซงการประกอบธุรกิจของเอกชน เช่นเรื่องของสินค้าเกษตรเช่นถ้ารัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงตลาดต้องซื้อไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ซื้อไม่จำกัด

“สิ่งที่ผมอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำคือเร่งรัดให้หน่วยงานทำบัญชี ดูให้รอบคอบ และเสนอบัญชีพวกนี้ต่อ สนช. และคณะกรรมการปฏิรูป ทำเป็นเยี่ยงอย่าง ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่อยากให้รัฐบาลทำตัวอย่างของระบบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบที่ดี นอกจากนี้อยากให้ทำโครงการเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ต้องใช้เงินนอกงบประมาณ ปัจจุบันนี้มีโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่าต้องขอความเห็นชอบ ผมอยากให้ทำเป็นตัวอย่าง เพราะหากทำตัวอย่างที่ดีแล้ว ก็จะมาห้ามไม่ได้ สำหรับเรื่องระเบียบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของไทยนั้น เราเน้นแต่เรื่องราคาต่ำ ไม่เคยพูดถึงด้านคุณภาพและอายุการใช้งาน” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ดังนั้นเราจึงต้องมีกฎหมายปรามเป็น พ.ร.บ. การควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการรวมทั้งรัฐวิสาหกิจนอกจากนี้จะต้องมีการประเมิน ระบุการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ ต้องเป็นการประเมินโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ วิธีการประเมินและจัดซื้อจัดจ้าง และตกลงกันว่ากิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่จะทำเพื่อจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด และมีความรับผิดชอบต่อระบบภาษีจะต้องทำตารางเวลาอะไรบ้าง แต่ประเทศไทยกลับไม่ค่อยทำเรื่องนี้ตนคิดว่าข้อมูลเป็นเรื่องใหญ่มาก เวลานี้มีการทำวิจัย และพบว่าแม้กระทั่งมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ก็ไม่มีข้อมูลรายละเอียด